ประเด็นร้อน
เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับการคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ May 21,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -
คอลัมน์ ที่นี่แนวหน้า : โดย ศิริภูมิ
การคอร์รัปชันนับเป็นมะเร็งร้ายของประเทศไทย ทำให้คนไทยส่วนมากยังไม่พ้นความยากจน ประเทศไทยต้องล้าหลังประเทศอื่น และยังติดกับความเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนมี และคนจนมีมากขึ้น ศีลธรรม ระเบียบ วินัย การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน จิตสาธารณะ (public mind) และจิตอาสา (voluntary mind) หดหายไป
อำนาจบริหาร (รัฐบาล) ขาดเสถียรภาพ รัฐบาลล้มลุกคลุกคลาน มีการซื้อเสียงกันด้วยเงิน และตำแหน่ง มี สส. และพรรคการเมือง น้ำเน่าเข้าสู่สภาจำนวนมาก ซึ่งยังผลให้ประเทศยังไม่ก้าวไปสู่ความเป็นอารยะ การพัฒนาประเทศระยะยาวทำไม่ได้
สาเหตุของมะเร็งร้ายคอร์รัปชัน และรัฐบาลขาดเสถียรภาพ เกิดจากการที่เราปล่อยให้คนกลุ่มเดียว (อำนาจนิติบัญญัติ) มาใช้ อำนาจสองอำนาจ (คือมาใช้อำนาจบริหารด้วย) จึงเกิดผลลบ (negative effect) ขึ้น และยังเกิดการแตกความสามัคคี แบ่งออกเป็นพรรคเป็นเหล่า แบ่งออกเป็นสีต่างๆ จนใกล้สงครามกลางเมือง (civil war) ดังที่พิสูจน์ได้จากเหตุการณ์ในอดีต ของ 86 ปีแห่งประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy)
ทางแก้อย่างฟันธง ก็คือ การแยกอำนาจทั้งสาม (อำนาจ ตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร) ออกจากกันโดยเด็ดขาด ให้มีการวางดุลยอำนาจ การถ่วงอำนาจระหว่างกันที่เหมาะสม มีการควบคุมซึ่งกันและกันที่มีประสิทธิภาพ และเป็นการยิงนกทีเดียว ได้สองตัว คือ ได้ฝ่ายบริหารที่มีคุณภาพ และมีเสถียรภาพ และเป็นการโค่นล้างรากเหง้าของการคอร์รัปชั่น (พรรคการเมืองน้ำเน่า) ออกไปได้ และโดยที่เราเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ก็ต้องมีประตูให้ประชาชนชาวไทย เข้าถึงอำนาจทั้งสาม ได้โดยเท่าเทียมกัน และพิจารณาเปิดช่องให้มี silent super power เข้ามามีบทบาทในการช่วยถ่วงดุลตามสมควร คล้ายๆ กับ ระบบ Presidential Democracy ของสหรัฐ และ Semi presidential Democracy ของฝรั่งเศส
โปรดดูการเข้าสู่อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ดังต่อไปนี้การเข้าสู่อำนาจตุลาการถึงแม้จะไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับผู้พิพากษา หรือคณะกรรมการ ก.ต. ก็ตาม แต่ประชาชนคนไทยที่สนใจจะเข้าไปใช้อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย ก็ย่อมทำได้เท่าเทียมกัน โดยไปสมัครเรียน และจบการศึกษาทางกฎหมายแล้วผ่านการสอบ การตรวจสอบ การกลั่นกรอง และการฝึกอบรมอีกมากมาย จึงจะออกมาเป็นตุลาการได้
และจากการทำงานที่ปราศจากความด่างพร้อย เป็นเวลานาน ก็เข้าข่ายที่จะได้รับเลือกจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) เพื่อเข้าเป็นคณะกรรมการ ก.ต. ได้
จึงจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปโดยประชาชน (General election) มิใช่ความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ ของการเป็นประชาธิปไตย อย่างที่นักการเมืองหลายคน กล่าวอ้าง อำนาจตุลาการ ต้องการนักตุลาการมืออาชีพ จึงต้องมีระบบการสอบคัดเลือก การกลั่นกรอง การฝึกอบรม การตรวจสอบจริยธรรม และความโปร่งใสแตกต่างไปจากการเลือกตั้งทั่วไป
การเข้าสู่อำนาจอธิปไตยเช่นนี้จึงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และยังใช้อยู่จนทุกวันนี้
การเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติไม่ว่าจะเป็นระบบอังกฤษ (Parliamentarian Democracy) หรือระบบอเมริกัน หรือระบบฝรั่งเศส การเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติโดยการเลือกตั้งทั่วไป (General election) เป็นที่ยอมรับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ซึ่งก็มีเหตุผล เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทย จากภูมิหลังต่างๆ กัน อาชีพต่างๆ กัน ที่มีคุณสมบัติพื้นฐาน (basic qualification) ตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น วิธีการเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติในปัจจุบัน จึงเป็นที่ ยอมรับได้ และเมื่อไม่ปล่อยให้เข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ก็คงไม่มีนักธุรกิจ การเมืองทุ่มทุนเข้ามา หรือลงทุนซื้อเสียงเข้ามาเป็น สส. เหมือนในปัจจุบัน
การเข้าสู่อำนาจบริหารอำนาจบริหาร ความจริงแล้วก็เหมือนอำนาจตุลาการ ซึ่งต้องการได้มืออาชีพ เข้ามาบริหารประเทศใครคือผู้บริหารมืออาชีพ เราอาจจำแนกออกได้ดังนี้ในภาคธุรกิจ ประธานกรรมการและรอง CEO และรองของธุรกิจในประเทศไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ในตำแหน่งไม่น้อยกว่าสามปี โดยไม่มีข้อเสียหายตามเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์ ก็น่าจะถือได้ว่า เป็นนักบริหารมืออาชีพ มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะอยู่ในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) หัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) ได้
ส่วนธุรกิจที่มิได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หากมีทรัพย์สิน จำนวนมากพอ หรือเสียภาษีมากพอตามหลักเกณฑ์ที่จะกำหนด ผู้บริหารก็น่าจะตกในข่ายเป็นผู้บริหารมืออาชีพได้
ในภาคประชากิจ ได้แก่ มูลนิธิ สหพันธ์ สมาคม วิชาชีพ องค์การกุศลสาธารณะ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประธาน รอง และเลขาธิการ ซึ่งทำงานมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ก็น่าจะถือว่าเป็น ผู้บริหารภาคประชากิจ มืออาชีพ ที่เหมาะสมจะอยู่ในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) หัวหน้าฝ่ายบริหารได้
ในภาครัฐกิจ ซึ่งมีหน่วยราชการต่างๆ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ฯลฯ อันถือเป็นภาครัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยนั้น และรอง ก็น่าจะถือเป็นนักบริหารมืออาชีพได้
ในหน่วยงานพลเรือน ก็ได้แก่ ปลัดกระทรวงและรอง อธิบดี และรอง อธิการบดีและรอง เลขาธิการและรอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และรอง เอกอัครราชทูตและรอง ผู้ว่ารัฐวิสาหกิจและรอง ผู้อำนวยการ องค์การมหาชนและรอง รวมทั้งอดีตที่เกษียณอายุไปแล้ว เป็นต้น
ในหน่วยงานทหารตำรวจ ก็ได้แก่ แม่ทัพภาค แม่ทัพบก เรือ อากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการภาค รวมทั้งอดีตที่เคยอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ เป็นต้น
ผู้บริหารมืออาชีพ จากภาคธุรกิจ ประชากิจ และรัฐกิจ เหล่านี้ จึงเป็นผู้บริหารมืออาชีพผู้ควรจะมีสิทธิเป็นองค์คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) ที่จะเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารได้ และมีสิทธิ์สมัครเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารได้ หากผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวดมากขึ้น และผ่านการกลั่นกรอง ตรวจสอบจากคณะกรรมการพิเศษตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนปัญหาว่า วิธีนี้จะเป็นประชาธิปไตยไหม เพราะประชาชนมิได้เป็นผู้เลือกตั้ง ก็ขอเรียนว่า นักบริหารทั้ง 3 ภาคข้างต้น รวมทั้ง ผู้ที่เคยเป็นในอดีต รวมแล้วน่าจะมากกว่าแสนคน และรู้ฝีมือการบริหารกันมาดี ซื้อไม่ได้ (หากได้ก็คงน้อย) ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้ สส., สว. 750 คน เป็นผู้เลือก คือมีความเป็น universal มากกว่า
จะขออภัยเจ้าตัว และจะขออนุญาตยกตัวอย่างชื่อ ของ นักบริหารมืออาชีพ ที่จะมีสิทธิอยู่ในบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) อำนาจบริหาร เพียงเล็กน้อย อาทิ
ภาคธุรกิจ ก็จะมี คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม (อดีต CEO, SCB) คุณจรัมพร โชติกเสถียร (อดีต CEO, SET) คุณศุภชัย เจียรวนนท์ (CEO TRUE) คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี (CEO Thaibev) คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ (ประธานกลุ่มพฤกษา) คุณบุญชัย เบญจรงคกุล (ประธาน DTAC) คุณผาณิต พูนศิริวงศ์ (CEO หนังสือพิมพ์แนวหน้า) เป็นต้น และยังมีท่านอื่นอีกนับพันคน ซึ่งเป็นคนที่จะไม่มีพวกน้ำเน่า เข้าไปซื้อเสียงจากท่านเหล่านี้ได้
ภาคประชากิจ คุณแผน วรรณเมธี (เลขาธิการสภากาชาดไทย) นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ (มูลนิธิ รพร.) ศ.โกศล เพ็ชรสุวรรณ์ (อดีตนายกสมาคม TCT) คุณมีชัย วีระไวทยะ (อดีตนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน) คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล (อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ) เป็นต้น
ภาครัฐกิจ พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ (อดีตแม่ทัพภาค 2) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (อดีตแม่ทัพบก) พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง (อดีตแม่ทัพอากาศ) คุณทวีศักดิ์ เสสะเวช (อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ) คุณชลอ เฟื่องอารมย์ (อดีตอธิบดีหลายกรมในกระทรวงพาณิชย์) คุณอานุสรา จิตต์มิตรภาพ (อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย) เป็นต้น ซึ่งระบบการเมืองน้ำเน่าจะเข้าไปซื้อเสียงไม่ได้แน่
รวมแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) แทนระบบการเมืองน้ำเน่า ในปัจจุบัน
น่าจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะพลเมืองไทยทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกัน ที่จะก้าวเข้าเป็นผู้บริหารได้ โดยสมัครเข้าไปทำงานในภาคธุรกิจ หรือภาคประชากิจ หรือภาครัฐกิจ แล้วเติบโตเป็นนักบริหารได้โดยเสมอหน้ากันทุกคน
มิใช่ไปผูกขาดการเลือกหัวหน้าอำนาจบริหารไว้กับ สส. และ สว. เพียง 750 คน เช่นในปัจจุบัน และในอดีต อันนำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
หากมีโอกาส คราวหน้าจะได้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจบริหาร ที่ไม่อยู่ในร่มเงาของฝ่ายนิติบัญญัติ มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณา กันต่อไป
เมื่อเขียนบทความนี้จบ ก็มีข่าวว่าการเลือกตั้งในมาเลเซีย พรรคฝ่ายค้านของท่านมหาธีร์ ชนะได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง นี่คือความเปลี่ยนแปลง (CHANGE) ครั้งใหญ่ของมาเลเซีย ไปสู่ความดี ความเจริญ
เมื่อใดประเทศไทย จะมี BIG CHANGE บ้าง เพื่อจะได้ ออกจากวงเวียนน้ำเน่า หรือวงจรอุบาทว์ แบบเดิมๆ กันเสียที
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน