ประเด็นร้อน
ถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นใหม่
โดย ACT โพสเมื่อ May 14,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -
คอลัมน์ เขียนให้คิด : โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
ช่วงนี้ผมเดินทางบ่อย ส่วนใหญ่ไปพูดให้ความเห็นเรื่อง ธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดไปที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ไปพูดและตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจไทย ซึ่งคำถามยอดฮิตจากนักลงทุนก็คือ ทำไมเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำ เทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค และหลังการเลือกตั้งปีหน้า การเมืองที่จะเกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกหรือลบต่อเศรษฐกิจ
เรื่องการเมืองต้องยอมรับว่าตอบยาก เพราะรู้น้อยและไม่ใช่นักการเมือง แต่เท่าที่ดูจากข่าวต่างๆ ที่ออกมาก็กังวลว่าการเมืองของประเทศกำลังกลับไปรูปเดิม คือ นักการเมืองเล่นการเมืองเพื่ออำนาจและหวังใช้อำนาจจากตำแหน่งการเมืองหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ไม่ได้ตั้งใจทำอะไรจริงจังให้กับบ้านเมือง เป็นต้นทุนที่แพงต่อประเทศและสังคม ยิ่งมีข่าวหัวหน้ารัฐบาลไปตรวจราชการต่างจังหวัดบ่อย จนถูกเปรียบเปรยว่าไปหาเสียง ไปหาแรงสนับสนุนจากนักการเมืองประเภทบุคคลต้องห้าม ทำให้คนทั่วไปยิ่งกลัวว่าการเมืองคงกลับไปรูปเดิมแน่นอน คือ แย่งกันเข้ามามีอำนาจ โดยไม่รู้ว่าที่อยากกลับมามีอำนาจนั้นต้องการอะไร กลับมาทำไม กลับมาทำอะไร
สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่กลัวการเมืองแบบเดิมก็เพราะที่ผ่านมานักการเมืองส่วนมากไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศหรือประโยชน์ของส่วนรวมอย่างที่ควรจะเป็น แต่มองว่าทรัพยากรของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ที่สามารถถลุงได้ หาประโยชน์ได้โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่มากับตำแหน่งการเมือง เหมือนของรัฐ สมบัติรัฐ เป็นของฟรี นี่คือสิ่งที่นักการเมืองไทยพร่ำสอนกันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้เข้าใจถึงอาชีพนักการเมือง เมื่อทรัพยากรภาครัฐ เช่น งบประมาณแผ่นดินและภาษีที่ประชาชนเสียตามหน้าที่ ถูกมองว่าไม่มีเจ้าของ เป็นของฟรี นักการเมืองก็จะละเมิดและใช้อำนาจที่มีหาประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ การเมืองที่ผ่านมาจึงไม่ใช่การเมืองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่เป็นการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตน และบ่อยครั้งระยะหลังที่นักการเมืองไม่ได้หาประโยชน์ให้ตนเองอย่างเดียว แต่หาประโยชน์ให้กับคนที่สนับสนุนตนด้วย ที่ให้เงินสนับสนุนในการเลือกตั้งจนได้ตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นนายทุนให้ จึงต้องใช้ทุน คืนทุนให้กับคนที่ให้ทุน ซึ่งก็คือนักธุรกิจหรือบริษัทขนาดใหญ่ จนการเมืองกลายเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ของนักธุรกิจบางกลุ่มที่ใช้นักการเมืองเป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายเพื่อดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเมืองไทยตัวจริง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชัน การละเมิด การใช้อำนาจ การทำผิดกฎหมาย การทำผิดธรรมาภิบาล เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา แก้อย่างไรก็ไม่หมด นี่คือการเมืองไทย
การเมืองแบบนี้ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศและสังคมมากมาย ช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาที่การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลาน แม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ก็เป็นการเติบโตที่มีต้นทุนสูงต่อประเทศและสังคม
หนึ่ง ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศถูกทำลายอย่างมหาศาล ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ น้ำ ป่า และพื้นที่เกษตรได้เสียหายลงมากกว่าสองในสามของประเทศที่เคยเป็นสีเขียวด้วยความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นประเทศสีเหลืองที่มากด้วยความแห้งแล้ง ภาคเกษตรที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เคยมีสัดส่วนของรายได้ประชาชาติมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมของประเทศ ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละหกของรายได้ประชาชาติ แต่ยังเป็นฐานรายได้หลักของคนไทยมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ความยากจนจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ยังแก้ไม่หมด แม้เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่อง
สอง คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นผลส่วนหนึ่งจากระบบการเมืองที่มี คือ คนที่ละเมิดกฎหมายหรือทำผิดกฎหมายสามารถร่ำรวยได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการเอาผิดลงโทษจริงจัง และคนที่ร่ำรวยมากๆ แบบนี้ ก็มักเป็นนักการเมือง ข้าราชการที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง และนักธุรกิจที่ใช้นักการเมืองเหล่านี้เป็นเครื่องมือ ให้นักการเมืองเปลี่ยนกฎหมาย แก้สัมปทาน แก้สัญญา หรือแม้แต่เปลี่ยนนโยบายและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน สร้างความร่ำรวยและการเติบโตของรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเพิ่มสูงมากในสังคมไทย แต่ที่ต้องเข้าใจก็คือ ความแตกแยกของคนในสังคมช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน อันนี้เป็นแรงกดดันในสังคมที่นับวันจะมากขึ้น แต่ยังไม่ระเบิด แต่ที่ทะเลาะกันเป็นสงครามสี ก็คือ การแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองที่ต่างต้องการมีอำนาจเพื่อใช้อำนาจหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
สาม คือ ต้นทุนที่มาจากการละเลยของนักการเมืองที่ไม่ได้ทำอะไรจริงจังเพื่อประโยชน์ของประเทศ ประเทศจึงไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควร ไม่มีการลงทุน ปัญหาที่มีอยู่ไม่มีการแก้ไข ผลคือประเทศมีปัญหามาก เสียโอกาส และระบบที่มีอยู่อ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของระบบราชการ ระบบการศึกษาที่เกือบจะด้อยที่สุดในเอเชีย ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการทุจริตคอร์รัปชันที่มีต่อเนื่องไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ทำให้ประเทศเสียโอกาสทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ และนับวันจะถอยหลังมากขึ้นๆ เทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่ความเป็นอยู่ของคนในประเทศเหล่านี้นับวันมีแต่จะดีขึ้น
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนการเมืองแบบนี้ ประเทศอยู่ไม่ได้แน่นอน และการเมืองแบบนี้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากได้ ไม่อยากให้กลับมาอีก เป็นการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์ มีแต่จะทำลายโอกาสและอนาคตของประเทศ สร้างต้นทุนและความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคม
แล้วเราจะเปลี่ยนอย่างไร จะเริ่มต้นใหม่อย่างไรมีผู้รู้ท่านหนึ่งเคยพูดให้ผู้เขียนฟังว่า ในทุกสังคมจะมีกลุ่มสุดโต่งสองกลุ่ม ซ้ายด้านหนึ่ง ขวาด้านหนึ่ง ที่จะทะเลาะกันไม่เลิก ตายไปลูกหลานก็จะทะเลาะกันต่อ เพราะความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน จึงต้องแย่งกันมีอำนาจ สองกลุ่มนี้ในแง่จำนวน ก็คงไม่เกินฝ่ายละ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด รวมแล้วก็ 20 เปอร์เซ็นต์ที่จะทะเลาะกันตลอดเวลาเพื่อแย่งอำนาจทางการเมือง ขณะที่ประชาชนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ตรงกลางจะนิ่งเฉย ไม่ยุ่งด้วย แต่เป็นกลุ่มที่จะถูกกระทบมาก ไม่ว่ากลุ่มใดในสองกลุ่มนี้ได้เป็นรัฐบาล เพราะสุดโต่งทั้งคู่
บ้านเราก็เหมือนกัน พวกสุดโต่งทั้งสองกลุ่มนี้ก็มี แต่ไม่ได้ทะเลาะกันเพราะมีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน บ้านเราไม่มีความแตกต่างเรื่องความคิดทางการเมือง เพราะนักการเมืองบ้านเราไม่มีความคิดทางการเมือง แต่ที่ทะเลาะกันก็เพราะแย่งกันมีอำนาจเพื่อให้ได้อำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐหาประโยชน์ แต่ที่ทั้งสองกลุ่มมีเหมือนกันเพราะเป็นนักการเมืองเหมือนกันก็คือ ทั้งสองกลุ่มมองว่าทรัพยากรรัฐ สมบัติรัฐ งบประมาณรัฐ ไม่มีเจ้าของ การได้อำนาจรัฐจึงเป็นการได้สิทธิที่จะเข้าไปถลุงทรัพย์สมบัติของรัฐ เพื่อประโยชน์ของตน โดยไม่มีใครตรวจสอบหรือกล้าเอาผิดเพราะมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ การแย่งชิงอำนาจจึงเป็นแบบเอาเป็นเอาตาย ขณะที่ประชาชนอีก 80 เปอร์เซ็นต์จะเพิกเฉย ไม่แสดงความหวงแหนในสมบัติของรัฐ ไม่เคยโวยวายหรือเดือดร้อน ยุ่งแต่กับการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเพื่อความอยู่รอด เปิดทางให้นักการเมืองเหล่านี้หาประโยชน์ขึ้นอยู่ว่าใครได้อำนาจเป็นรัฐบาลนี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข และการแก้ไขต้องมาจากประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้เดือดร้อน เป็นเจ้าของสมบัติของประเทศที่ถูกถลุง ถูกทำลาย ประชาชนจึงต้องร่วมกันบอกว่า พอแล้ว ไม่ยอมแล้ว และจะไม่เปิดทางให้นักการเมืองทั้งสองกลุ่ม รวมถึงผู้ที่กำลังสุงสิงเอาใจนักการเมืองเหล่านี้ ให้กลับเข้ามามีบทบาทหรืออำนาจในการเมืองของประเทศอีก เพราะจะสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก เหมือนที่คนมาเลเซียเพิ่งลงคะแนนเสียงเปลี่ยนการเมืองประเทศเขา การเมืองไทยก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องสนับสนุนให้นักการเมืองที่ต้องการทำการเมืองเพื่อส่วนรวมจริง มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ
เพื่อนผมคนหนึ่งบอกผมว่าไม่อยากให้คนที่เล่นการเมืองหรืออยู่ในตำแหน่งการเมืองช่วงสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลปัจจุบัน กลับมาในเวทีการเมืองของประเทศอีกอย่างน้อยสิบปี เพราะชัดเจนว่าคนเหล่านี้มักสร้างแต่ปัญหา ทำเพื่อส่วนรวมไม่เป็น ไม่มีผลงานให้เห็น จะเอาแต่ตำแหน่ง ชื่อเสียงและหาประโยชน์ให้ตนเอง จึงควรให้สิบปีข้างหน้าเป็นเวลาของกลุ่มคนใหม่ที่ต้องการทำงานการเมืองเพื่อส่วนรวม ให้คนเหล่านี้มีโอกาสทำงานเพื่อประเทศชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าเวลาสิบปีนี้ ถ้าเราได้คนที่มีความตั้งใจดีต่อประเทศเข้ามารับผิดชอบติดต่อกันนานพอ จะสามารถเปลี่ยนประเทศได้มาก สิงคโปร์ใช้เวลาเพียงสามสิบปีเปลี่ยนประเทศจากไม่มีอะไรมาเป็นประเทศอย่างที่เราเห็น
เขียนให้คิดวันนี้คือคน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง ต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มโดยหยุดให้ความสนใจนักการเมืองในอดีต และสนับสนุนกลุ่มคนใหม่หรือคนรุ่นใหม่ให้เข้ามารับผิดชอบประเทศชาติ ที่สำคัญคน 80 เปอร์เซ็นต์นี้ต้องพูดคุยและสร้างความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นว่า เราอยากเห็นประเทศเป็นอย่างไรจากนี้ไป สร้างความเข้าใจร่วมกันในทิศทางที่ประเทศจะเดินให้เป็นข้อตกลงหรือสัญญาสังคมของคนทุกกลุ่มทุกชั้น (social contract) ที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย สนับสนุนและต้องการให้เกิดขึ้น และมอบข้อตกลงนี้ของสังคมให้นักการเมืองกลุ่มใหม่ที่พร้อมทำงานเพื่อประเทศชาติ นำไปปฏิบัติ นำไปขับเคลื่อน ภายใต้การสนับสนุนของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ประเทศไทยจะไปไกลอย่างแน่นอน เพราะคนไทยทั้งประเทศจะไม่ต้องเป็นเชลยกับระบบการเมืองที่เน่าเฟะอย่างที่ผ่านมา
อยากให้คนไทยเริ่มคุยกันเรื่องนี้.
"คน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง ต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มโดยหยุดให้ความสนใจนักการเมืองในอดีตและสนับสนุนกลุ่มคนใหม่หรือคนรุ่นใหม่ให้เข้ามารับผิดชอบประเทศชาติ ที่สำคัญคน 80 เปอร์เซ็นต์นี้ต้องพูดคุยและสร้างความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นว่า เราอยากเห็นประเทศเป็นอย่างไรจากนี้ไป สร้างความเข้าใจร่วมกันในทิศทางที่ประเทศจะเดินให้เป็นข้อตกลงหรือสัญญาสังคมของคนทุกกลุ่มทุกชั้น (social contract) ที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย สนับสนุนและต้องการให้เกิดขึ้น ..."
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน