ประเด็นร้อน
รัฐต้องไม่เอื้อประโยชน์ 2 บริษัทมือถือ
โดย ACT โพสเมื่อ Apr 03,2018
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
สังคมกำลังเฝ้าจับตาว่าอำนาจรัฐคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอื้อประโยชน์แก่บริษัทธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ คือบริษัทเอไอเอสและทรูหรือไม่ หลังจากที่มีความพยายามจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัล แต่พ่วงด้วยการช่วยเหลือ 2 บริษัทธุรกิจมือถือยักษ์ใหญ่ จนทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์มูลค่ามหาศาล
ทั้งนี้ตามข้อเสนอของ กสทช.ให้ผ่อนผัน การจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ แก่บริษัทเอไอเอสและทรู งวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากเดิมที่ต้องจ่ายให้หมดในปี 2563 รายละ 60,000 ล้านบาท เป็นการทยอยจ่ายเป็น เวลา 5 ปี ตกปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทเศษ ทั้งๆ ที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนเหมือนทีวีดิจิทัล
ตรงกันข้ามช่วงที่ผ่านมา บริษัทเอไอเอส และทรู ได้กำไรอย่างมหาศาลมาตลอด โดยบริษัทเอไอเอสมีรายได้ในปี 2560 สูงถึง 150,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิกว่า 30,000 ล้านบาทและสามารถจ่ายเงินปันผลหุ้นของบริษัท 7.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินราว 21,108 ล้านบาท ขณะที่บริษัททรูในปี 2560 มีรายได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิราว 2,000 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินปันผลหุ้นของบริษัท 0.03 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นเงินราว 1,000 ล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายต่างคัดค้านหาก จะมีการผ่อนผันให้ 2 ยักษ์ใหญ่บริษัทธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ทยอยจ่ายค่าประมูลคลื่นในเวลา 5 ปี แทนที่จะต้องจ่ายงวดเดียวในปี 2563 โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่าเห็นด้วยที่จะใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ไม่เห็นด้วยที่จะผ่อนผันให้ 2 บริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ เพราะธุรกิจทีวีดิจิทัลต่างประสบภาวะขาดทุนซึ่งหากปล่อยให้ล้มพร้อมกันจะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในสายตา นักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ มีผลประกอบการที่มีกำไรมหาศาล จึงไม่มีเหตุผลที่รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ มองว่าไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่รัฐจะเข้าไปอุ้มผู้ประกอบการบริษัทโทรศัพท์มือถือ ทั้งๆ ที่ความจริงในการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ บริษัทโทรศัพท์มือถือทั้งสองค่าย ก็ได้รับผลประโยชน์มหาศาลอยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐมีมติยกผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์ มือถือทั้ง 2 ราย คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าแม้คสช.และรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะแตกต่างจากรัฐบาลยุคระบอบทักษิณที่มีการทุจริตเชิงนโยบาย แต่นโยบายอุ้มนายทุนธุรกิจโทรคมนาคมแทบจะไม่แตกต่างกันเลย
ทั้งนี้แม้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันอังคารที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา จะยังไม่เห็นชอบที่จะผ่อนผันให้บริษัทโทรศัพท์มือถือ ยักษ์ใหญ่ ทั้ง 2 ราย แต่ก็ยังไม่ปิดทางโดยคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้คสช.ชี้ขาดจึงขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐยุคปฏิรูปว่าจะรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินหรือเอื้อกลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งจะกลายเป็น ผลงานตราบาปของคสช.
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน