ประเด็นร้อน

ยกเครื่องระบบราชการสกัดสินบน-แก้ทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 20,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

จากกรณีทุจริตในภาครัฐโดยเฉพาะล่าสุดที่เกิดขึ้นในส่วนของเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( สป.ศธ.) ที่มีการโอนเงินของกองทุนเสมาฯในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ปี 2551-2561 เป็นเงิน 88 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน

 

เสียงสะท้อนจาก ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ชี้ถึงสภาพปัญหาดังกล่าวโดยมองว่า  ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน ในสังคมไทยเรื้อรังมานานแล้ว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่ก็ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องโดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทว่าในระยะหลัง ๆ เริ่มจะดูว่าซาไป แล้วก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การสำรวจเรื่องดัชนีต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าเริ่มจะกลับไปเหมือนเดิม

 

เราจะเห็นได้ว่า มีการดำเนินคดีกับคนที่ทำทุจริตในเรื่องใหญ่ๆ หลายเรื่อง ถ้าย้อนไปดูจะเห็นว่ามีคนที่อยู่ในวงการสำคัญๆถูกลงโทษจำคุก แล้วก็ยังอยู่ในคุกตอนนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นมาตรการอันหนึ่งที่เป็นการป้องปรามและในส่วนที่ดีไปกว่านั้นก็คือ ทางรัฐบาลออกกฎหมายมา 2-3 ฉบับ ฉบับแรกคือ เรื่องของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการให้ใบอนุญาต เจตนารมณ์ก็คือว่า ในการใบอนุญาต หน่วยงานจะต้องมีกระบวนการชัดเจนว่า จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการที่จะออกใบอนุญาตนั้นๆ

 

กฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นวงเงินที่ใหญ่มากกว่านั้น ก็คือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่ได้ปรับปรุงใหม่ส่วนนี้เป็นส่วนที่ดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่พอรัฐบาลเริ่มหันไปสนใจเรื่องอื่น พฤติกรรมเดิมๆ ก็กลับมาเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเกิดขึ้นอีกซึ่งอันนี้มันก็สะท้อนอยู่ในการสำรวจครั้งสุดท้าย ทางผู้ประกอบการบอกว่าเขาเริ่มกลับไปจ่ายสินบนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้มองว่า ปัญหาหลักอยู่ที่ระบบราชการ คือ ระบบราชการไทยที่มีปัญหาที่เวลาไปทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐก็จะเจอปัญหาที่ว่า ถูกเรียกค่าใช้จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะฉะนั้นระบบราชการไทยในตอนนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปรับปรุง

 

ขณะที่ความร่วมมือของเครือข่ายเอกชน ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมามองว่า องค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านทุจริตมีมากและหลากหลาย ทั้งที่ทำงานอย่างจริงจัง หรือไม่จริงจังบ้าง แต่ว่าเป็นกระบวนการที่คิดว่าเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น จะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นว่า มีกลุ่มของคนที่ออกมาเรียกร้อง ให้มีการปราบปรามการทุจริต

 

โดยในส่วนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็มีสมาชิกที่เป็นเครือข่าย 40-50 องค์กรโดยการต่อต้านคอร์รัปชันมีหลายกรรมวิธีถ้าต้องการปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี  อีกด้านเป็นด้านการปราบปราม ก็เกี่ยวข้องกับการเปิดโปง ต้องมีคนไปดูว่า ใครทำอะไรไม่ดีที่ไหนแล้วก็ฟ้องร้องเข้ามา ก็จะมีกลุ่มของคนที่ทำในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างที่เรามี "โครงการหมาเฝ้าบ้าน" คือเอาคนที่มีจิตอาสาไปช่วยกันเฝ้าดูว่า ในแต่ละท้องที่มีอะไรทุจริตบ้างหรือไม่

 

ส่วนอีกด้าน เป็นการป้องกันกลุ่มพวกนี้จะรณรงค์หาวิธีการ อย่าให้เกิดการทุจริต คือไม่ใช่ไปปราบปรามอย่างเดียวพยายามหาวิธีการป้องกันว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการทุจริต กระบวนการอันไหนของรัฐที่มีความหละหลวม ก็จะไปเสนอแนะ ว่าอันควรจะเปลี่ยน นี่ก็เป็นตัวอย่าง

 

ในภาคเอกชน เรามีโครงการรณรงค์ที่ขอให้บริษัทที่ประสงค์จะเป็นบริษัทที่เรียกว่า บริษัทที่ไม่ต้องการแปดเปื้อนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมาลงนามและมีกระบวนการ ในการที่จะบอกว่าขั้นตอนภายในเขาจะทำอะไร เขาจะตรวจสอบอะไร โดยขณะนี้มีหลาย 100 บริษัทที่ได้มาลงนาม

 

"ผมว่ามันเป็นทิศทางที่ดี ถ้าภาคเอกชน ซึ่งปัญหาครึ่งหนึ่ง ก็อยู่ที่ภาคเอกชน ถ้าคุณไม่ให้ ก็ไม่มีคนรับ ถ้าทางภาคเอกชนเริ่มไม่ให้ และไม่ยอมจ่าย เพราะมันผิดกับหลักธรรมาภิบาลของบริษัท การที่จะเรียกรับก็ควรจะลดลง"

 

ส่วนการตรวจสอบความโปร่งใสโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนั้นเราได้รับการเชิญชวนจากหน่วยงานภาครัฐ ให้เข้าไปร่วม ช่วยดู ช่วยปรับปรุงกระบวนการการทำงาน หลักใหญ่ตอนนี้ที่เราเห็นก็เป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจของข้าราชการในทุกเรื่อง ที่ต้องมีการอนุญาตหรืออนุมัติให้เอกชนทำอะไรก็ตาม อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจากการที่หน่วยงานราชการต้องเป็นผู้ให้ใบอนุญาตและเป็นผู้ใช้ดุลพินิจมันก่อให้เกิดปัญหาเป็นที่มาของการที่จะเรียกสินบนได้

 

การปรับทัศนคติคติของคนเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำต่อไป เนื่องจากตอนนี้ประชาชนเริ่มมีการเรียกร้องเรื่องนี้มากขึ้น  คิดว่าภาคประชาชนคนไทยทั่ว ๆ ไปพยายามเรียกร้องในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น พฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือใครก็ตามก็ต้องเปลี่ยนแปลง

 

สำหรับการจัดการปัญหาทุจริตเชิงนโยบายก็มีมาโดยตลอด แต่ถ้ากระบวนการตรวจสอบของเราเข้มแข็ง โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)หรือในอดีตยังมีสภาผู้แทนฯ ถ้ากระบวนการเข้มแข็งพอ ก็พอจะยับยั้งหลายๆ เรื่องได้ นอกจากนี้จากสถิติสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ลดมองว่าไม่ใช่ไม่ลดลงแต่มีการค้นพบมากขึ้นมากกว่า

 

ในส่วนของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช.ก็เป็นเครื่องมือที่จะสนับสนุนนโยบายของคณะกรรมการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ขณะเดียวกันคนที่จะทำงานให้ต้องมีประสิทธิภาพ ตอนนี้คือหน่วยงานของรัฐ คือป.ป.ท.ความเข้มแข็ง เกิดจากหน่วยงานนี้พยายามใช้อำนาจไปตรวจสอบมากขึ้น ประสิทธิภาพมันก็อยู่ที่ว่า หน่วยงานนี้มีกำลังพลพอเพียงไหม สามารถเข้าไปเจาะเรื่องต่าง ๆ ได้ดีแค่ไหน

 

จากประสบการณ์ที่ผมทำงานกับภาครัฐและเอกชนด้วย คือรัฐบาลนี้ ต้องถือว่าเป็นรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังมากที่สุด แต่กระบวนการของเรา หน่วยงานราชการ มันเป็นหน่วยหน่วยงานที่ค่อนข้างจะแน่นหนา คุณทำอะไร เรื่องอะไรไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ตั้งใจอยากจะเปลี่ยน ถ้าหากคนในวงราชการไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุนมันเปลี่ยนยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้อีกส่วนคือความล่าช้าของกระบวนการตรวจสอบหรือกำหนดเป้าหมายไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทุจริตไม่กลัว

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw