ประเด็นร้อน

ลงเรือลำเดียวกันโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 15,2018

- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

มีปฏิกิริยาจากสังคมอย่างต่อเนื่อง กรณีการเปิดโปงทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ของสังคม จากการฉ้อฉลเงินของผู้ยากไร้ คนจน ด้อยโอกาส ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า นับตั้งแต่มีการเปิดเผยเบาะแสการทุจริตจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ น.ส.ปนิดา ยศปัญญา  และเพื่อน ตราบจนถึงทุกวันนี้ยังพบเส้นทางการทุจริตลุกลามไปทั่วเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย เรียกได้ว่า ยิ่งขุดคุ้ยยิ่งเจอตอ โกงไปทุกหย่อมหญ้า

 

แน่นอนว่า สังคมยังจะต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นไฟไหม้ฟาง หรือหายไปกับกระแสข่าวอื่น เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเดินหน้ากวาดล้างอย่างจริงจังและรวดเร็ว โดยหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง นั่นคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสั่งการ หรือมีมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

เพราะผลการของตรวจสอบที่พบการทุจริต 44  จังหวัด เสียหายไปกว่า 97 ล้านบาท และอาจมีเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของการพบความเสียหายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือเงินงบประมาณภาษีจำนวนมหาศาลที่สูญเสียไป ซึ่งนอกเหนือจากการเร่งรัดสืบสวน หาข้อมูลต่อเพื่อกวาดล้างขบวน การฉ้อฉลในครั้งนี้

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์การทุจริตทั่วประเทศที่เกิดขึ้นจากนโยบายหรือการดำเนินการที่ผิดพลาด ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นคือ สร้างความเดือดร้อนให้คนจน ด้อยโอกาส ซ้ำเติมความทุกข์ของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องถือว่าการกวาดล้างการทุจริตครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องทบทวน สรุปบทเรียน หาช่องโหว่ ที่ทำให้เปิดช่องการทุจริต ตลอดจนเร่งหามาตรการป้องกัน ล้อมคอก จากปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้เรื่องนี้คาราคาซัง หรือทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม

 

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจักต้องใช้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ลงพื้นที่พูดคุย สอบถามหาข้อมูลในพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้าน หรือกลุ่มประชาชนเพื่อสอบถามข้อมูล ประเด็นปัญหา หรือข้อเสนอแนะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการ โดยหน่วยงานอย่าง กระทรวง พม. หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบอื่นๆ จะได้มองเห็นปัญหาในภาพรวมทั้งหมดมากขึ้น

 

เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการทำงาน สร้างความรัดกุม หรือพัฒนาต่อยอดกระบวนการทำงานในพื้นที่ ได้ทั้งป้องกันการทุจริต และเข้าถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ โดยทางหนึ่ง ประชาชนได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือ สอดส่องดูแล และแจ้ง รายงาน ตรวจสอบการทุจริตไปด้วย ถือเป็นการช่วยกันทำงาน ร่วมมือกันทั้งรัฐและชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นมาอีก

 

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ปรากฏการณ์โกงเงินคนจน ผู้ยากไร้ทั่วประเทศในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงระบบการทำงานของหน่วยงานราชการ และระบบอำนาจ ผลประโยชน์ ที่ยึดโยงอยู่เป็นเนื้อในเดียวกับระบบ อย่างไม่สามารถดิ้นหลุดกันไป รวมทั้งจิตสำนึกที่ละเลย เมินเฉย ต่อการทุจริต ของคนในแวดวงข้าราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นทัศนคติ หรือความสำนึก อันตราย ในสังคมไทย นั่นคือความเมินเฉยต่อการฉ้อโกง และกินตามน้ำไปเรื่อยๆ

 

สังคมไทยกำลังเผชิญกับจิตใต้สำนึกอันตราย การเมินเฉยต่อความผิด การปล่อยผ่าน หรือปิดตาข้างเดียว รักษาตัวรอดเป็นยอดดี กับการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในเนื้อในของระบบข้าราชการ ผู้มีอำนาจ หรือข้าราชการตั้งแต่ระดับใหญ่ไปจนถึงระดับล่าง ที่เมินเฉย รู้เห็นเป็นใจ ลงเรือลำเดียวกัน ทุจริต ฉ้อโกง คอร์รัปชันประชาชนอย่างหน้าด้าน

 

สังคมต้องช่วยกันสนับสนุนคนกล้าหาญในการเปิดเผยพฤติกรรมเหล่ามิจฉาชีพในทุกคราบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบุคคลกลุ่มใด ฝ่ายไหนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันต้องช่วยกันเรียกร้องให้มีการรับผิดชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างเป็นบรรทัดฐาน ชำระล้างการฉ้อฉลให้เกิดเป็นรูปธรรมในประเทศนี้!

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw