ประเด็นร้อน
โกงผุดสัญญาณร้ายหรือดี?
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 14,2018
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อ ต้าน คอร์รัปชัน โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ข่าวการพบการทุจริตในวงราชการไทย ผุดขึ้นมามากมายในช่วงนี้ ในยุคที่ไร้นักการเมืองที่ผู้คนมักกล่าวขานกันว่าเป็นตัวการสำคัญในการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้สื่อหลายสำนักรุมพาดหัวข่าวว่าการทุจริตในช่วง 3 ปี ในสมัยของ คสช.มีมูลค่าสูง ถึง 8 แสนล้านบาท โดยอ้างว่ามาจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในครึ่งปีหลังของปี 2560 ซึ่งหากเข้าไปหาตัวเลขนี้ในรายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบแต่เพียงผลสำรวจอัตราจ่ายใต้โต๊ะที่พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ประเมินค่าเสียหาย 1-2 แสนล้านเท่านั้น มิใช่ 8 แสนล้านบาท ตามที่ยกกันไปเทียบว่ารัฐบาลทหารมีการทุจริตใกล้เคียงกับตัวเลขทุจริตข้าว ของรัฐบาลของนักการเมือง
ตัวเลขมูลค่าทุจริตจริงที่น่า สนใจก็คือตัวเลขที่ออกมาจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคำแถลงวันต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 โดยพลเอกประยุทธ์ยอมรับว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบข้าราชการไทยทุจริตมากกว่า 200 คดี มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท รัฐบาลจัดการเด็ดขาดไล่ผู้ทุจริตออกไปแล้ว 8 คน ให้พ้นจากตำแหน่งอีก 25 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างสอบสวน คดีทุจริตต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นมาในอดีตที่ใช้เวลาสืบสวน ไต่สวนมาเป็นระยะเวลายาวนาน
สำนักข่าวอิศรา ผู้เชี่ยวชาญในด้านการเจาะลึกข่าวโกง มองว่าข่าวสารพัดทุจริตที่ผุดขึ้นมาในระยะนี้เป็นสัญญาณบอกแนวโน้มที่ดีของขบวนการต่อต้านการทุจริตในทุกภาคส่วนในประเทศไทยปัจจุบัน ที่สามารถร่วมมือกันขุดคุ้ยเปิดโปงเรื่องราว ต่างๆ ที่ได้รับมาจากประชาชนทั่วไปและจากในหน่วยราชการเองที่สำคัญก็คือเจ้ากระทรวงต่างๆที่เอาจริงเอาจังในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น โดยสำนักข่าวอิศรา ได้ยกตัวอย่างบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ขึ้นมากล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการในขณะนี้ กำลังร้อนแรงคึกคักในเรื่องการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เห็นความพยายามในการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมารับผิดชอบการตรวจสอบปัญหาความไม่โปร่งใสเรื่องต่างๆ ทยอยเปิดตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นทางการ มีผลสอบภายในที่ทยอยออกมาจากการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายในเอง เช่น กรณีทุจริต 88 ล้าน เงินทุนป้องกันการตกเขียวเด็กนักเรียนยากจนในภาคเหนือ เรื่องนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ รายงานว่าเป็นผลงานของกลุ่มตรวจสอบภายในสำนักงานปลัด ศธ. หลังจากได้ทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ ประจำปี 2560 ของสำนักงานปลัด ศธ. พบว่ามีการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 มาเป็นเวลานับ 10 ปีโดยที่ไม่เคยมีผู้ใหญ่ผู้ใดในกระทรวงรับทราบการทุจริตนี้ เลย ทั้งๆ ที่ปลัดกระทรวงฯ ทุกคนที่ผ่านมาเป็นประธานกองทุน นี้เองมาโดยตลอด กรณีนี้เมื่อรัฐมนตรีรับทราบก็ได้ดำเนินสั่งย้ายบุคคลที่เกี่ยวข้อง 2 ราย ให้พ้นหน้าที่ไปแล้ว รายหนึ่งเป็นข้าราชการหญิงระดับสูง ถึงขั้น ซี 8
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามดีๆที่ไปอยู่ในมือข้าราชการโกง กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตนั้น เป็นโครงการที่ดี เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยเป็น กองทุนสำหรับสนับสนุนเด็ก โดยเฉพาะ เด็กหญิงทางภาคเหนือที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีทุนการศึกษาต่อระดับวิชาชีพ เพื่อป้องกันการถูกล่อลวงไปในทางไม่เหมาะสม หรือที่เรียกว่าการตกเขียว โดยใช้เงินจากการออกสลากกินแบ่งการกุศลงวดพิเศษ รวมทั้งเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน เงินบริจาคและเงินดอกผลของกองทุน การบริหารกองทุน มีคณะกรรมการกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต และมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานตลอด 10 ปี ของการทุจริต น่าประหลาดใจว่าทำไมจึงไม่มีปลัดกระทรวงคนใดรับทราบ รับผิดชอบมาก่อนเลย
ในกระทรวงศึกษาฯยังมีอีกเรื่อง ที่ทุกคนเห็นอยู่ เป็นเรื่องทุจริตหมักหมมนับ 10 ปี คือ อาคารอควาเรียมหอยสังข์ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ถูกทิ้งไว้ก่อสร้างไม่เสร็จ ชื่อโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ที่วิทยาลัยประมง ติณสูลานนท์ อำเภอเมืองสงขลา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 ในวงเงินประมาณ 800 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ การดำเนินการโครงการกลับยังไม่เสร็จ ทั้งยังมีรายงานใช้งบประมาณไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท แต่ได้มาเพียงแค่อาคารร้าง
10 ปีถึงวันนี้จึงจะได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นขณะนี้มี พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ มาทำหน้าที่เป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว พบแล้วในเบื้องต้นว่า มีการแก้ไขสัญญาที่เป็นสาระสำคัญหลายเรื่องอาทิ การขอเปลี่ยนแบบ การขอเปลี่ยนงวดงาน ถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ในระหว่างปี 2550-2557
อีกเรื่องตกค้างมานาน คือเรื่องที่ กระทรวงศึกษาฯ จ่ายเงิน 3,000 ล้านบาทค่าอินเตอร์เนตทั่วประเทศ มานาน 15 ปีให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือเดิมองค์การโทรศัพท์ กระทรวงศึกษาฯ จ่ายเงิน มาตลอดโดยไม่มีสัญญาเพราะเห็นเป็นองค์การ ของรัฐตั้งแต่ปี 2545 ในโครงการใหญ่ใช้ชื่อว่า MOENet โดยจ่ายในราคาแพงกว่าบริการของเอกชน อีกทั้ง สัญญาณก็คุณภาพต่ำด้วย ปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการตรวจการจ้างชุดต่างๆที่ผ่านมา ทำหน้าที่แค่ไปตรวจสอบข้อมูลจากบนหน้ากระดาษที่มีการรายงาน ผลเท่านั้น ไม่ได้มีการไปตรวจสอบประสิทธิภาพของการใช้งานจริง น่าสงสารเด็กๆนักเรียนในโรงเรียนของกระทรวงที่ไม่ได้ใช้เนตที่คุณภาพดี ตามมูลค่าเงินมหาศาลที่รัฐบาลจ่ายเงินไปให้ ที่สำคัญคือที่ไม่มีผู้ใดสนใจเงินที่จ่ายไป ปล่อยมา 15 ปี เรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯก็ได้สั่งยกเลิก โครงข่าย MOENet นี้ไปแล้ว การทุจริตในกระทรวงศึกษาฯ ยังมีอีกเป็นจุดเล็กๆไปทั่วทุกองคาพยพ ไม่เว้นทุจริตจัดพิมพ์ตำราที่ไร้คุณภาพ จัดซื้อหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาราคาแพงเอามาเก็บวางทิ้ง แต่ที่ทำกันเป็นขบวนการใหญ่และทำมายาวนาน ที่สุด โดยไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแตะต้องแก้ไขได้ คือ คุรุสภา นักการเมืองบางยุครู้ปัญหาคุรุสภา แต่แทนที่จะแก้ไขกลับไปขอเอี่ยวส่วนแบ่งด้วยเสียอีก ขบวนการทุจริตจึงยิ่งเติบใหญ่มีอำนาจและอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีศึกษาธิการใน ครม.ชุดแรกของ คสช. ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดคือ มาตรา 44 สั่งยุบคณะกรรมการคุรุสภา แต่ก็เอาไม่อยู่อนุกรรมการต่างๆของคุรุสภาประกาศว่ายังจะทำงานต่อไป จนต้องใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 อีกถึง 19 คำสั่ง จึงเกิดผล
การได้เห็นข้อมูลการทุจริต ในกระทรวง ศึกษาธิการหลายกรณีเริ่มผุดขึ้นมาหลังหลบอยู่ได้เงียบเชียบมานาน 10-15 ปี มาเปิดเผย ได้ในยุคนี้ ก็พอจะเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว ที่สำคัญจะเห็นได้ว่าการต่อต้านการทุจริตจะสำเร็จหรือไม่ ต้องมีปัจจัยประกอบคือ รัฐมนตรีที่เก่งและไม่ทุจริต และจะต้องได้ทำงานควบคู่ไปกับปลัดกระทรวงฯซึ่งเป็นข้าราชการประจำที่ไม่ทุจริตและไม่เก็บปิดบังข้อมูลใดๆ ด้วย
จึงต้องคอยลุ้นกันต่อว่าประชาชนคนไทย จะได้รัฐบาลที่จะเข้ามาจากการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นรัฐบาลที่ไม่ทุจริต หรือไม่?
เป็นที่น่ายินดีว่า คนไทยได้เปลี่ยนแปลง ไปมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ จากเดิมที่บอกว่าจะเลือกรัฐบาลจะโกงหรือไม่โกงไม่สำคัญ ขอแค่ให้ทำงานเยอะๆ และตัวเองได้ประโยชน์ด้วยก็พอแล้ว มาเป็นว่า ต้องการพรรคการเมืองที่มี คุณธรรม ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งส่วนเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำเพื่อส่วนรวม พัฒนาประเทศ นั้นมาเป็นอันดับสอง ผลสำรวจนี้ได้มาจากทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อ 10 มีนาคม 2561 ของ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ประเทศไทยยังมีความหวังครับ ขอให้เราได้พรรคการเมืองที่ดีนักการเมือง ที่ดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง เหมือนอย่างผลที่สำรวจออกมาขอให้เป็นจริงตาม ความปรารถนาใหม่ของคนไทยครั้งนี้ เทอญ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน