ประเด็นร้อน
เพิ่มเขี้ยวเล็บ ก.ล.ต.-รองรับนวัตกรรม "เงินดิจิทัล"
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 28,2018
- - สำนักข่าวไทยรัฐ - -
ครม.ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้รองรับนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.สั่งจัดประชุมผู้ถือหุ้นผ่าทางตันกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขัดแย้งมีปัญหาจนนำความเสียหายมาสู่ผู้ถือหุ้น พร้อมผุดกองทุนพัฒนาตลาดทุนแยกออกจากตลาดหลักทรัพย์
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 และถือเป็นชุดยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่ตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น มีการซื้อขายผ่านสกุลเงินดิจิทัล ขณะที่ พ.ร.บ.เดิมยังขาดความยืดหยุ่นที่เพียงพอต่อการรองรับนวัตกรรมและบริการรูปแบบใหม่
ในหลักการใหม่จึงให้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับนิยามการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และการกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทหลักทรัพย์ การเพิ่มเติมกลไกในการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาของบริษัทจดทะเบียนในกรณีที่ไม่สามารถใช้กลไกปกติได้ รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินอื่นอีกครั้งจะช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ซึ่งมีอำนาจเพียงพอที่จะกำกับดูแลให้มั่นใจว่าตลาดหลักทรัพย์จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุภารกิจและความคาดหวังในการดำเนินกิจการของตลาดหลักทรัพย์ได้
"ในร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มเติมอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต.มีอำนาจสั่งให้กรรมการผู้บริหาร หรือบุคคลใด จัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในกรณีที่บริษัทนั้นมีการบริหารกิจการในลักษณะเป็นเหตุเกิดความเสียหายของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนบางแห่งไม่สามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีปัญหากันจนนำไปสู่ความเสียหายของผู้ถือหุ้น"
นอกจากนี้ยังให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนใน (CMDF) ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นกิจการที่แยกต่างหากจากตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนการเสริมสร้างความรู้แก่ผู้ลงทุนและสาธารณชน สนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนากลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่กองทุน CMDF ไม่น้อยกว่า 90% ของรายได้ที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายหลังหักภาษีและเงินสำรองเพื่อการลงทุน ซึ่งตามบทเฉพาะกาลกำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่มีสภาพคล่องเป็นจำนวนหรือมูลค่า 5,700 ล้านบาท ให้แก่กองทุนภายใน 90 วัน เป็นทุนประเดิม "ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้รายการออกกฎหมายลำดับรอง 16 ฉบับ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. 8 ฉบับ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน 7 ฉบับโดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้และประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.จำนวน 1 ฉบับนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้"
ทั้งนี้ มีความเห็นของสำนักงาน ก.ล.ต.ด้วยว่า ให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์โดยแยกบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนระหว่างการกำกับดูแลและการดำเนินการซึ่งจะส่งผลให้การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนมีประสิทธิภาพและสอดคล้องมากขึ้นสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทยและรองรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนได้ด้วย
ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯที่ผ่าน ครม.มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมตลาดทุนไทยที่จะเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (เอฟเอสเอพี) ในปลายปีนี้ โดยยังคงยึดหลักคุ้มครองผู้ลงทุนและเพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน