ประเด็นร้อน

ประเทศไทย คอร์รัปชันต้องลดลง

โดย ACT โพสเมื่อ Feb 26,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

หลังจากที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) เผยผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย หรือ CSI เดือนธ.ค. 2560 จำนวน 2,400 ตัวอย่างจากกลุ่มเป้าหมายทั้งข้าราชการ ผู้ประกอบการและภาคประชาชน พบว่า อยู่ที่ระดับ 52 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ลดลง เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงการสำรวจเมื่อ เดือนมิ.ย.2560 ที่ระดับ 53 คะแนน โดยประเมินจาก 4 หมวด ได้แก่ หมวดปัญหาความรุนแรง และหมวดการปราบปรามไม่ดีขึ้น ส่วนหมวดการป้องกัน และ การสร้างจิตสำนึก ดีขึ้น

 

ผลจากการสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินพิเศษ หรือเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 54 ไม่ต้องจ่าย ส่วนอีกร้อยละ 24 ยังต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ ซึ่งจ่ายเฉลี่ยที่ร้อยละ 5-15 ของเม็ดเงินโครงการ โดยหากประเมินวงเงินคอร์รัปชันจาก งบประมาณรายจ่าย ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งงบลงทุนวิสาหกิจ จากเงินงบประมาณปี 2561 ที่ 2.9 ล้านล้านบาท จะเกิดเป็นมูลค่าวงเงินคอร์รัปชันประมาณ 100,0000-200,000 ล้านบาท ที่หายไปจากระบบ และกระทบต่อจีดีพีให้ลดลงร้อยละ 0.41 - 1.23 สะท้อนให้ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

รัฐบาลร่วมต้านคอร์รัปชัน

 

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย(มกค.) กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนอเรื่องดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยมาหลายปีแล้ว และที่ทำในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความปรารถนาดี เพราะประเทศต้องมีการมอนิเตอร์สถานการณ์ด้านนี้ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ด้านไหนดี ไม่ดี ต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว ข้อมูลจากการรายงานสถานการณ์ดังกล่าว มีทั้งดีขึ้นและแย่ลง ผู้ที่มีบทบาทในการวางนโยบายไม่ว่าจะรัฐบาล หรือภาคเอกชน จะได้นำเรื่องนี้ไปศึกษาอย่างแท้จริง

 

"การดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน รัฐบาลชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยดูได้จากการปรับแก้กฎหมายในบางเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือการรณรงค์ต่างๆ จนทำให้หมวดการปลูกจิตสำนึก และการป้องกันการต่อต้านคอร์รัปชันดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ทำได้ดีมาก ทำให้เครือข่ายประชาชนมีความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น และความทานทนต่อการคอร์รัปชันก็ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่ไม่สนับสนุนการโกง การคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ แต่ที่เห็นว่าหมวดความรุนแรง และการปราบปรามไม่ดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการบริหารประเทศมีหลายๆ โครงการ และเป็นเรื่องความรู้สึกของคน ทัศนคติ คนรู้สึกว่าปัญหาเรื่องนี้มีความรุนแรง และคนที่จ่ายเงินใต้โต๊ะเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% ซึ่งส่วนนี้อยู่ในการเบิกจ่ายงบประมาณ เมื่อมีงบประมาณมาก มีโครงการมากขึ้น การคอร์รัปชันก็สูงขึ้น" นางเสาวณีย์ กล่าว

 

คอร์รัปชันแก้ปัญหาประเทศ

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าดูภาพรวมสถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศดีกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในมุมมหาวิทยาลัย เราดำเนินการสำรวจเรื่องนี้มาตลอด เพราะต้องการสะท้อนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในเรื่องของคอร์รัปชันให้น้อยลงให้ได้ เพราะเรื่องนี้ผ่านไม่ได้ ต่อให้มีเรื่องอื่นที่ต้องทำมากมาย ไม่ว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาเรื่องการเมือง แต่เรื่องคอร์รัปชันคน ต้องให้ความสำคัญตลอดเวลา เพราะสถานการณ์แม้ลดลงแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการลดลงถาวร มีเพิ่มขึ้นได้เสนอ

 

ขณะนี้ ใกล้การเลือกตั้ง อาจกระตุ้นทำให้พรรคการเมืองใหม่ๆ เห็นความสำคัญ เติมนโยบายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น ถ้าเกิดว่าสังคมสนใจเรื่องคอร์รัปชัน การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะได้ใส่ใจนโยบายเรื่องคอร์รัปชันมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน อยู่ที่ว่า ประชาชนต้องไม่ต้องการคอร์รัปชัน จะส่งผลให้นักการเมืองสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

 

สถาบันการศึกษาต้องจริงจัง

 

นางเสาวณีย์ กล่าวต่อไปว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น นอกจากทำในเรื่องของดัชนี เปิดเผยข้อมูลทุกมุมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ และหยิบข้อมูลต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ดังนั้น การนำเสนอดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน มีส่วนที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเป็นกำลังใจ บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการช่วยพัฒนาประเทศทุกด้าน

 

"จริงๆ แล้วคอร์รัปชันในสมัยของรัฐบาลชุดนี้ มีหลายเรื่อง หลายกฎหมายที่ทำไปอย่างดีมาก โดยเฉพาะการป้องกัน และการปลูกจิตสำนึก แต่ก็ยังมีกลไกบางเรื่องที่ยังเดินไปได้ไม่ดี หรือประชาชนยังไม่รู้ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันจะทำให้ทุกคนได้นำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าใครแย่ หรือไม่แย่ อีกทั้ง ตอนนี้ทำให้เห็นได้ว่าคนทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เขาจะต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น อะไรที่เป็นการทำร้ายสังคม เขาจะแอนตี้เรื่องนี้"

 

ภาคการศึกษาต้องแสดงให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของรัฐ ต้องร่วมกันรณรงค์ให้นักศึกษา บุคลากรเห็นความสำคัญร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านคอร์รัปชัน การโกงทุกรูปแบบ

 

ค่ายผู้นำการต่อต้านคอร์รัปชัน

 

อธิการบดี มกค. กล่าวต่อไปว่าคอร์รัปชัน เป็นการใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา มกค. พยายามรณรงค์ จัดกิจกรรมให้นักศึกษา บุคลากร ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสถาบันการศึกษาของตัวเอง เช่น การจัดค่ายผู้นำการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยนำผู้นำของแต่ละมหาวิทยาลัยมาเข้าค่ายการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเป็นเครือข่ายการต่อต้าน คอร์รัปชัน และมีการอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ เพราะม.หอการค้า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการจำนวนมาก ซึ่งต้นทุนด้านอื่นๆมีอย่างจำกัด หาก ผู้ประกอบการขาดต้นทุนด้านคอร์รัปชันอีก ก็จะทำให้มีปัญหามากยิ่งขึ้น

 

"คอร์รัปชัน เป็นปัญหาหลัก ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาระดับชาติได้ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควบคู่แก้ปัญหาด้านอื่นๆ ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง หรือการแข่งขัน เพราะท้ายสุด ถ้าเราไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่สามารถทำให้น้อยลง เราก็จะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ประเทศไทยก็เดินหน้าไม่ได้" นางเสาวณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

"คอร์รัปชันปัญหาหลัก ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาระดับชาติได้"  เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw