ประเด็นร้อน
ดึงธุรกิจ'เอสเอ็มอี'ร่วมต้านคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 19,2018
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร
สัปดาห์ที่แล้ว โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ได้แถลงข่าวเปิดตัวโครงการรับรองธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ในการต่อต้านการทุจริต (CAC SME Certification) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถมีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการ จัดทำนโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบควบคุมภายใน ที่จะส่งเสริมการทำธุรกิจสะอาด ไม่รับ ไม่จ่ายสินบน
เป็นการต่อยอดโครงการ CAC ให้สามารถขยายบทบาทการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนจากบริษัทขนาดใหญ่และกลาง ไปสู่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ในรูปแบบ ที่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นการ เปิดตัวครั้งแรก และรูปแบบโครงการมีศักยภาพสูงที่จะดึงธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก เข้าร่วมต่อต้านการทุจริต
ปัจจุบัน คอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ กระทบทั้งภาคธุรกิจและ ภาคประชาชน
สำหรับภาคธุรกิจ คอร์รัปชันถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี แต่ธุรกิจเอสเอ็มอี จะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อปัญหาคอร์รัปชัน เพราะมีกำลังน้อยและขาดทรัพยากร ไม่มีพลังที่จะป้องกันตนเอง หรือต่อรองกับการ บิดเบือนการใช้อำนาจของข้าราชการที่ทุจริต
ที่สำคัญ จากที่ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็น ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีช่องทางที่จะส่งเสียง หรือเอาความกับเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดได้ง่าย ธุรกิจเอสเอ็มอีจึงเหมือนเป็นเป้านิ่งของความฉ้อฉลของข้าราชการที่ทุจริต สร้างต้นทุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีภาระมากขึ้น ในการทำธุรกิจ เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและการแข่งขัน
ในการสำรวจของธนาคารโลกเมื่อปี 2010 พบว่า ประมาณ 38% ของธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลกมองคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ
การทุจริตคอร์รัปชันที่ธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ประสบก็คือ เมื่อต้องไปติดต่อราชการ เพื่อขอใบอนุญาต เสียค่าธรรมเนียม หรือภาษีต่างๆ ที่เกิดจากการอาศัยช่องว่างของระบบงานราชการ และความไม่โปร่งใส หาประโยชน์จากการให้บริการประชาชน
ข้าราชการที่ทุจริตเช่น ใช้ดุลพินิจอย่างไม่มีเหตุผล ทำให้เรื่องช้า ไม่พิจารณาเรื่องที่เสนอไป รวมถึงกลั่นแกล้งเพื่อสร้างเงื่อนไขให้มีการจ่ายเงิน
สิ่งเหล่านี้พูดได้ว่าเป็นชีวิตประจำวันของบริษัทเอกชนในบางธุรกิจที่ต้องติดต่อราชการเป็นประจำ เกิดเป็นวัฒนธรรมการจ่ายสินบน ทั้งเพื่อซื้อความสะดวกและซื้อความได้เปรียบ จากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตเรียกร้องให้จ่าย หรือจากภาคเอกชนที่ พร้อมจ่าย ทำให้การจ่ายใต้โต๊ะหรือการให้สินบนเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติกันแบบ ไม่ต้องพูดในการติดต่อราชการ
ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำ ทั้ง 2 ด้าน ทั้งในส่วนฝ่ายราชการเอง ที่ต้อง ปฏิรูประบบงาน เพื่อลดโอกาสของการอาศัย ช่องว่างของระบบงาน ความไม่โปร่งใส และ ใช้อำนาจหรือดุลยพินิจตามหน้าที่หาประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชัน
เครื่องมือแก้ไขก็คือต้องปรับปรุงระบบงาน ลดขั้นตอนให้สั้น จำกัดขั้นตอน การอนุมัติ หรือจำนวนลายเซ็นที่ต้องมี ให้น้อยลง ลดการใช้ดุลยพินิจ สร้าง ความโปร่งใส และใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน เพื่อลดการติดต่อโดยตรง (face to face) ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ติดต่อราชการ เพื่อไม่ให้เกิดโอกาสที่จะรีดไถหรือเรียกเงิน
การปรับปรุงระบบในแนวนี้ ได้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันในหลายประเทศ/ดินแดนในเอเชีย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ในบ้านเรา ความคืบหน้าในลักษณะนี้ ยังมีน้อยและไม่จริงจัง แม้จะมีการแก้กฎหมาย หรือมีความพยายามต่างๆ ที่จะปรับปรุงระบบ หรือวิธีการทำงานของภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพราะความร่วมมือจากภาคราชการที่จะปรับปรุงวิธีการให้บริการมักมีน้อย
แต่พร้อมกับระบบงานภาครัฐ การแก้ไขก็ต้องมาจากภาคธุรกิจเอกชนด้วย เพราะภาคธุรกิจอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ หรือเป็นอุปทานในสมการคอร์รัปชัน
ดังนั้น การลดพฤติกรรมการให้หรือจ่ายของภาคธุรกิจจึงจำเป็น บริษัทเอกชนต้องมีนโยบาย และแนวปฏิบัติที่กำหนดการ ไม่จ่ายสินบน ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ ผลักดันโดย คณะกรรมการบริษัท เพื่อส่งเสริมการ ทำธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้น
ตั้งแต่ปี 2010 มีการเปิดตัวโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการ ต่อต้านการทุจริต หรือโครงการ CAC ที่สร้าง พื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถแสดงตน ส่งเสริมการทำธุรกิจสะอาดได้อย่างสมัครใจ
บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องประกาศนโยบาย วางแนวปฏิบัติ และระบบควบคุมภายใน ป้องกันการให้สินบน และทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทใดที่สามารถทำได้ครบถ้วนตามพันธกิจดังกล่าว และได้รับการยืนยัน สอบทานจากผู้ตรวจสอบภายนอกว่า บริษัทมีนโยบาย แนวปฏิบัติ และปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวจริง คณะกรรมการโครงการ CAC ก็จะมอบใบรับรองให้แก่บริษัท
การรับรองไม่ได้รับรองพฤติกรรมของบริษัทว่าจะไม่คอร์รัปชัน แต่รับรองว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการโครงการ CAC กำหนด
ตั้งแต่เริ่มโครงการ CAC จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ทั้งหมด 881 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 465 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 416 บริษัท
ในจำนวนนี้ มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC 314 บริษัท ซึ่งบริษัท ที่เข้ามาร่วม ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัท ขนาดกลาง และใหญ่
ขณะที่จำนวนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วมน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิธีการประเมินความพร้อมของบริษัท ทั้งในแง่ นโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบการควบคุมภายในก่อนได้รับการรับรอง มีความยุ่งยาก ที่เหมาะกับบริษัทใหญ่มากกว่า ทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็ก จะไม่สามารถผ่าน การประเมินตามมาตรฐานที่ใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ได้ แม้จะประสงค์เข้าร่วมโครงการ CAC เพื่อร่วมการต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชน
เพื่อปลดล็อกปัญหานี้ โครงการ CAC จึงได้ประกาศใช้มาตรฐานการรับรองหรือ CAC SME Certification สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่สอดคล้องกับความเรียบง่ายของธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ก็เพียงพอตามแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันการจ่ายสินบนของบริษัทที่กำหนดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำถามในแบบประเมินตนเองของธุรกิจเอสเอ็มอี 17 ข้อ เทียบกับ 71 ข้อที่มีในแบบประเมินปกติของบริษัทขนาดใหญ่
ส่วนขั้นตอนอื่นๆ เช่น การสอบทาน โดยผู้ตรวจสอบภายนอก การฝึกอบรมหรือเรียนรู้แบบออนไลน์ก็มีครบถ้วน เช่นเดียวกับ มาตรฐานของบริษัทขนาดใหญ่ เพียงแต่ย่อส่วน ลงมาให้เหมาะสม กับสภาพของธุรกิจเอสเอ็มอี
สำหรับหลายบริษัท การเข้าร่วมโครงการ CAC ของธุรกิจเอสเอ็มอี จะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในที่บริษัทควรมี สอดคล้องกับ หลักสากล รวมถึง ตรงกับการคาดหวังของสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ และ นักลงทุน เป็นประโยชน์ต่อการวางฐานที่มีมาตรฐานให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อการเติบโตต่อไป
ส่วนการสื่อสาร หรือเชิญชวนให้บริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ CAC สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ในขั้นแรก บริษัทที่เข้ามาประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดเล็ก ตามคำนิยามของโครงการเอสเอ็มอี คือ มีรายได้รวมต่อปีไม่เกินหนึ่งพันล้านบาท ก็สามารถเข้าร่วมขอประเมินตามมาตรฐาน CAC SME Certification ได้
ขั้นที่ 2 คือ ให้บริษัทใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว เชิญชวนบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของตน เข้าร่วมโครงการ CAC โดยใช้มาตรฐานการประเมินธุรกิจของเอสเอ็มอี ล่าสุดมีบริษัทใหญ่ที่ผ่านการรับรองของ CAC แล้วจำนวนหนึ่ง สนใจนำบริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเข้าร่วมโครงการ CAC โดยใช้มาตรฐานการประเมินสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เช่น บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประมาณว่า ปีนี้จะมีบริษัทธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เป็นห่วงโซ่ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ผ่านการรับรองแล้ว ประมาณ 100 บริษัท จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยขยายพื้นที่ธุรกิจสะอาดใน ภาคเอกชนไทยให้กว้างขวางมากขึ้น
การบ้านสำคัญของโครงการ CAC ปีนี้ ก็คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเห็นประโยชน์ และมีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมโครงการ
ดังนั้น แผนงานปีนี้ของโครงการ CAC จึงมุ่งขยายในส่วนของแรงจูงใจต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการ CAC ให้มีมากขึ้น ไม่ว่าในเรื่องของการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การเสียภาษี ความสะดวกในการติดต่อราชการ และการเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานรัฐภายใต้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโครงการ CAC จะต้องร่วมงาน กับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังและ สถาบันการเงิน เพื่อผลักดันแรงจูงใจเหล่านี้ ให้เกิดขึ้น ถือเป็นนโยบายหลักของ การขยายพื้นที่ธุรกิจสะอาดให้เติบโตมากขึ้นในภาคธุรกิจไทย ต่อเนื่องจาก ที่กำลังเกิดขึ้น
การลดพฤติกรรมการให้หรือจ่ายของภาคธุรกิจจึงจำเป็น บริษัทเอกชนต้องมีนโยบายที่กำหนดการไม่จ่ายสินบน ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน