ประเด็นร้อน
ชี้ทุจริตเงินสหกรณ์คลองจั่น - เบิกจ่ายผิดวัตถุประสงค์ศาลสั่ง'ศุภชัย-พวก'คืน 9 พันล้าน
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 02,2018
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
ศาลแพ่ง สั่ง"ศุภชัย" พร้อมพวก จ่ายเงิน 9.5 พันล้านพร้อมดอกเบี้ยคืน "สหกรณ์คลองจั่น" ชี้สั่งจ่ายเช็ค ผิดวัตถุประสงค์-เอื้อประโยชน์ส่วนตัว ขณะเดียวกันยกคำร้องอัยการ ริบทรัพย์บริจาค "ธรรมกาย" 58 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน ให้สิทธิ "สหกรณ์ฯ" ในฐานะผู้เสียหายร้องขอเงินคืน เปิดช่องยื่นอุทธรณ์ภายใน30วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาคดี ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ จำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่สหกรณ์กับผู้รับเงินรวม 32 คน กรณีใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจ่ายเงินโดยทุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น โดยอ้างว่า เป็นการทดลองจ่ายแต่ไม่มีการนำเงิน ที่เบิกจ่ายมาส่งคืนให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นรองผจก.ใหญ่ของสหกรณ์โจทก์ ได้ลงนาม สั่งจ่ายเช็คร่วมกับจำเลยที่ 1โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งจ่ายเช็ค
ขณะที่จำเลยที่ 4-5 เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน สหกรณ์ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตน ร่วมกันจงใจ ยินยอมและสนับสนุนเบียดบัง และยักยอกเงินของสหกรณ์ส่วนจำเลย ที่ 6-9ได้รับเงินหรือทรัพย์สินจากการที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คของสหกรณ์โจทก์อันเป็นการได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้
จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1-2 ร่วมกัน ชำระเงิน 119,020,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยและบังคับให้จำเลยที่ 1,3,4,5 ร่วมกัน ชำระเงิน 9,522,533,049.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยพร้อมทั้งให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6,7,8,9 ชำระเงินคืนส่วนที่จำเลยแต่ละคนได้รับไป
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยที่ 4, 5, 6, 30 และวัดพระธรรมกาย กับพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโยอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 31-32
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ตามระเบียบของสหกรณ์ข้อ 20 กำหนดไว้ว่าการจ่ายเงิน ให้จ่ายเฉพาะเพื่อกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์และเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ แต่จำเลยที่ 1 ยังสั่งจ่ายเช็คของโจทก์มอบให้จำเลยที่ 2 จำนวน 22 ฉบับ รวมเป็นเงิน 119,020,000 บาท โดยระบุในใบสำคัญ จ่ายเงินว่าเป็นเงินสำรองจ่ายซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบที่ให้จ่ายเงินได้เฉพาะเพื่อกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็น การกระทำโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจึงต้องร่วมกันคืนเงินจำนวน 119,020,000 บาทให้แก่สหกรณ์ฯ โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่ง จ่ายเช็คร่วมกับจำเลยที่ 3 จำนวน 841 ฉบับ โดยระบุไว้ในใบสำคัญจ่ายเงินว่าเป็นเงิน สำรองจ่ายซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินของสหกรณ์เช่นกัน จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3กระทำโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเพื่อติดตามเงิน จำนวน 9,522,533,049.50 บาท คืนจากจำเลยที่ 1และที่ 3 ได้
สั่งคืนเงิน9.5พันล้านพร้อมดอกเบี้ย
ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ นายศุภชัย จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ จำนวน 9,642,164,453.61บาทพร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของเงินต้น 119,020,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องที่ 26 ส.ค.57 และของเงินต้น 9,522,533,049.50บาทนับแต่วันฟ้องที่ 15 ต.ค.2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์จำนวน 119,631,404.11บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินต้น จำนวน 119,020,000บาทนับถัดจาก วันฟ้องด้วย
ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดจำนวน 9,522,533,049.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของนับจากวันฟ้องที่ 15 ต.ค.2557และให้จำเลยที่ 8-9 กับจำเลยร่วมอีก 22 คน ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินโจทก์ตามจำนวน ที่จำเลยแต่ละคนได้รับพร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
โดยยกฟ้องจำเลยที่ 17และที่ 29 เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเบิกถอนเงินตามเช็คแล้วนำเงินไปมอบ ให้จำเลยที่ 4 - 5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ได้นำไปใช้เป็นส่วนตัว จึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินให้โจทก์
ยกคำร้องริบเงินเป็นของแผ่นดิน
ขณะเดียวกันศาลยังได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่ง ให้เงินในบัญชีเงินฝาก.ธนชาติ จำกัด (มหาชน) จำนวน 25,597,194.91 บาท , เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,257,934.88 บาท ชื่อบัญชี "วัดพระธรรมกาย" และเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 1,651,227.42 บาท กับเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำนวน 17,263,081.04 บาท ชื่อบัญชี "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ฯ" พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
โดยคดีนี้สหกรณ์ฯในฐานะ ผู้คัดค้านการยึดทรัพย์ที่ 1 ได้ระบุว่านายศุภชัย ได้สั่งจ่ายเงินที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้มาจากการรับฝากเงิน สะสมหุ้น และดอกผลจากการประกอบธุรกิจจนได้รับความเสียหาย จากการกระทำความผิด จึงขอให้เงินฝากในบัญชีดังกล่าว ให้ตกกับสหกรณ์ฯ
ทั้งนี้ในส่วนวัดพระธรรมกายและมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯในฐานะเจ้าของบัญชี ก็ได้คัดค้านว่า ไม่เคยทราบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการของสหกรณ์ฯ โดย นายศุภชัยบริจาคให้วัดพระธรรมกายและพระราชภาวนาวิสุทธิ์ โดยสมัครใจ และไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด ก่อนนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ในการกุศลสาธารณประโยชน์และสร้าง สิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ทางพุทธศาสนาจนหมดสิ้น ส่วนเงินที่เหลือในบัญชีล้วนเป็นของผู้บริจาคอื่น และไม่เคยร่วมกับนายศุภชัย กับพวกโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือกำไรทางเศรษฐกิจ จึงขอให้ศาล ยกคำร้อง
ศาลชี้เงิน4บัญชีเป็นของสหกรณ์
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายศุภชัยสั่งจ่ายเช็คของ สหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน มีลักษณะเป็นปกติธุระ จึงเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยักยอกที่เกิดขึ้นอันเป็นความผิดมูลฐาน และเมื่อมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้น พนักงานอัยการ ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตกเป็นของแผ่นดิน
โดยวัดพระธรรมกายและมูลนิธิ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ ผู้คัดค้านที่ 2-3 ยังกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการรายงานการทำธุรกรรมเป็นระยะเวลาหลายปีหลายครั้ง ส่อแสดงให้เห็นว่ากระทำเพื่อปกปิดลักษณะที่แท้จริงของแหล่งที่มาของเงิน เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเกิดขึ้น พฤติการณ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างกันจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 -3 รับโอนเงินโดยสุจริตและตามสมควรในทางกุศลสาธารณะ
ส่วนที่อ้างว่านำเงินไปใช้ในการกุศลสาธารณะนั้น ศาลเห็นว่าเงินในบัญชี ดังกล่าวมีทั้งเงินที่ถูกยักยอก ใช้ในการฟอกเงิน และเงินบริจาคจากผู้อื่นปะปนระคนกัน ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 2 - 3 จะอ้างไม่ได้ เนื่องจากการใช้เงินดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่สุจริตตั้งแต่ต้น ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
กรณีจึงต้องถือว่าเงินที่ยังคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยสหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจ ยื่นคำร้องคัดค้านไม่ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ จึงมีคำพิพากษาว่า ให้เงินในบัญชีเงินฝากทั้ง4บัญชีเป็นของ สหกรณ์ฯในฐานะผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนคำร้องของอัยการผู้ร้องนั้นให้ยกคำร้อง
อย่างไรก็ดี คำพิพากษาดังกล่าวคู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ ได้อีกภายใน 30 วันตามกฎหมาย
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน