ประเด็นร้อน

ข้อคิดถึงกรรมการบริษัท

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 29,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต  โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร

 

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่แล้วผมได้ไปร่วมงานของสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี เป็นการสัมมนากรรมการในหัวข้อ "Burning Issues Directors Need to Hear in the Year of The Dog" หรือประเด็นร้อน ที่กรรมการบริษัทควรทราบในปี 2018 และได้แสดงความเห็นในเรื่อง ความท้าทายด้านการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทธุรกิจควรต้องตระหนักก็เลยอยากจะนำสิ่งที่ได้ ให้ความเห็นไป มาแชร์ให้ผู้อ่าน "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

 

ปีนี้ ถ้าจะพิจารณาจากเหตุการณ์ รอบตัวเรารวมถึงในต่างประเทศ ในแง่ CG จะเป็นปีที่ภาคธุรกิจมีคำถามสำคัญหลายข้อ ที่ต้องตอบ เพราะในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ มี disconnect หรือการไม่เชื่อมต่อชัดเจน ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและ ภาคธุรกิจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

 

อย่างแรก เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี ภาคธุรกิจมีกำไร ตลาดการเงินปรับตัวสูง ต่อเนื่อง แต่ประชาชนส่วนมากดูไม่มีความสุขเพราะไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น

 

2. ภาครัฐในหลายประเทศดูมีปัญหาและข้อจำกัดมาก มีความไม่พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงานให้คนมีงานทำ การลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อสร้างฐานให้กับการเติบโตในระยะต่อไป หรือจะช่วยคน ที่เกษียณแล้วที่เลยวัยทำงานแล้วให้มี รายได้เพียงพอที่จะอยู่ตามอัตภาพ

 

3. ภาคธุรกิจไปได้ดี และเป็นความหวัง ที่จะสามารถมีบทบาทช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม ไปในทางที่ดีได้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นความหวัง เพราะหากสังคมเข้มแข็ง ภาคธุรกิจก็จะสามารถเติบโตได้ดีต่อไป

 

ในกรณีบ้านเราเอง disconnect เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

 

เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำ ก็มากขึ้นภาครัฐที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าเรื่องระยะยาว ขณะที่ภาคเอกชนก็เป็นความหวัง ที่น่าจะมีบทบาทได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อช่วยสังคมและประเทศให้ดีขึ้น

 

ความไม่เชื่อมต่อเหล่านี้กำลังผลักดันให้บทบาทของภาคธุรกิจทั่วโลกขณะนี้ต้องเปลี่ยน เป็นการคาดหวังของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนที่อยากเห็นธุรกิจให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าการมุ่งทำกำไร อยากเห็นการตัดสินใจของบริษัท

 

ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ระยะยาว ทั้งผลที่จะมีต่อธุรกิจและต่อสังคม อยากเห็นธุรกิจเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ ทำได้ เพราะคนในภาคธุรกิจรู้ดีว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ อีกทั้ง บริษัทเองก็ต้องอยู่ในสังคมอีกนาน มีทรัพยากรและความรู้ความสามารถที่จะช่วยได้

 

การคาดหวังเหล่านี้จึงเป็นแรงกดดันให้บริษัทธุรกิจต้องปรับตัว ปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับ ซึ่งการปรับตัวต้องเริ่มที่ จุดสูงสุดขององค์กร ก็คือ คณะกรรมการบริษัท ที่คณะกรรมการบริษัทต้องปรับบทบาทในการทำหน้าที่ อย่างน้อยใน 3 ด้าน

 

1. คณะกรรมการบริษัทต้องมองการทำธุรกิจด้วยมิติใหม่ ไม่ใช่เฉพาะเพียงการหากำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น แต่ต้องเป็น การสร้างหรือเติมมูลค่าให้กับบริษัท เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ในระยะยาว

 

2. คณะกรรมการต้องเป็นบอร์ดแบบผู้นำ เป็น Leadership Board ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของบอร์ดแนะนำฝ่ายจัดการ เพื่อให้บริษัทสามารถก้าวข้ามความท้าทายต่างๆที่เข้ามากระทบบริษัท หมายถึงเป็นบอร์ด ที่ให้ความสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์ธุรกิจ หรือstrategy ให้ความสำคัญกับเรื่อง การบริหารความเสี่ยง รวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่จะกระทบธุรกิจ เช่น IT และ Cyber Security และการวางแผนบุคลากรระดับสูง หรือ succession planning

 

เหล่านี้คือ การให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของธุรกิจ

 

3.คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เกิดการยอมรับ เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ยั่งยืนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หมายถึงการมีวิธีการทำธุรกิจหรือ Business Model ที่เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่รวมถึง การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การไม่จ่ายสินบน หรือไม่ทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ

 

นี่คือบทบาทของบอร์ดที่เป็นที่คาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นสิ่งที่ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนมองหา เป็นบทบาทหน้าที่ ที่ตรงกับสิ่งที่สถาบันไอโอดีกำลังผลักดัน ตรงกับหลัก 8 ข้อใหม่ของ CG Code ของ ก.ล.ต. ตรงกับเป้าประสงค์ด้านความยั่งยืน ทางธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

น่าพอใจว่าบริษัทเอกชนของเราก็กำลังปรับตัวไปในทิศทางดังกล่าว เห็นได้จากคะแนน ประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG ของบริษัทจดทะเบียนไทย 620 บริษัทที่ IOD ประเมินปีที่แล้ว ที่คะแนนออกมา 80 ส่วน 100 สูงสุดในรอบ 7 ปี เห็นได้จากที่มีบริษัทไทยมากถึง 17 บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนของ DJSI และมีบริษัทในประเทศมากถึง 881 บริษัท ที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาดกับโครงการ CAC

 

ล่าสุดมี 283 บริษัทผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด  สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการปรับตัว ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ที่กำลังเกิดขึ้น สะท้อนความต้องการของ ภาคธุรกิจของเราที่จะนำสังคมธุรกิจ ของประเทศไปสู่สังคมธุรกิจที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

 

แต่ momentum เหล่านี้จำเป็นต้องมีต่อ ต้องทำให้มากขึ้น ให้เกิดกว้างขวางขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพ CG ของทั้งระบบ

 

ดังนั้น ปีนี้ ถ้าจะถามว่าประเด็นร้อนด้าน CG คืออะไร คำตอบก็คงชัดเจนว่า คือ การเปลี่ยนวิธีคิดของการทำธุรกิจให้เดินออกจากเป้าหมายการทำกำไรระยะสั้น เพื่อผู้ถือหุ้น ไปสู่การสร้างหรือเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

ถึงจุดนี้ หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า แล้วเราจะเริ่มอย่างไร สำหรับกรรมการบริษัท การเริ่มต้นอาจทำได้โดยการตั้งคำถามให้กับตัวเองและคณะกรรมการบริษัทว่า

 

1. เราทำ ธุรกิจเพื่ออะไร

 

2. อะไรคือยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัท คือ เรามองธุรกิจในอีก 10-15 ปีข้างหน้าอย่างไร และ

 

3. คณะกรรมการ บริษัทปัจจุบันมีองค์ประกอบของความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของกรรมการเหมาะสมหรือไม่ที่จะผลักดันธุรกิจให้ก้าวไปในทิศทางที่สังคมอยากเห็น เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัท

 

สถาบันไอโอดีพร้อมที่จะช่วยบริษัทในการปรับตัวและหาคำตอบเหล่านี้ เพื่อยกมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของภาคธุรกิจไทยให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของสถาบัน ปีนี้ เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของกรรมการบริษัท งานใหม่ของสถาบัน มีหลายเรื่อง

 

ในส่วนของการพัฒนากรรมการหรือ Training จะเจาะลึกด้าน IT Governance และ Cyber Resilience  ให้กับกรรมการบริษัทในธุรกิจภาคการเงิน รวมถึงจะพัฒนาหลักสูตรกรรมการในเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งสำคัญมากต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านจริยธรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในองค์กร

 

งานด้านวิจัยจะเน้นการออกแนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการชุดย่อยให้ครบทุกชุด และออกแนวปฏิบัติด้าน CG เกี่ยวกับธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร รวมถึงพัฒนาเครื่องมือ และ ข้อมูลการเรียนรู้ Online  เพื่อให้งานของสถาบันเข้าถึงทุกส่วนของสังคมในวงกว้าง

 

ด้านงานสมาชิกจะเน้นการจัดตั้งชมรมกรรมการอิสระเพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการทำหน้าที่ของกรรมการ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสถาบันจะเริ่มให้บริการสมาชิก ในรูปของ Advisory service  เพื่อการปรับปรุงมาตรฐาน CG ของบริษัท

 

ท้ายสุดงานของ CAC ในการต่อต้านการทุจริต ปีนี้ จะขยาย CAC certification Model ไปสู่ธุรกิจ SME เพื่อให้บริษัท ขนาดกลางและเล็กสามารถมีบทบาทในการ ส่งเสริมการทำธุรกิจสะอาด ที่ปลอดคอร์รัปชัน ขยายโครงการ Citizen Feedback ให้ครอบคลุมจำนวนหน่วยราชการให้มากขึ้น และส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีในกรณีมีการรับตำแหน่งที่ปรึกษา และกรรมการในบริษัทจดทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อลดประเด็นผลประโยชน์ ขัดแย้งหรือปัญหา revolving door

 

งานใหม่เหล่านี้คงจะช่วยในการปรับตัว ของบริษัทได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับ CG ของภาคธุรกิจ ต่อเนื่องในปีนี้

 

คณะกรรมการบริษัทต้องมองการทำธุรกิจด้วยมิติใหม่ ไม่ใช่เฉพาะเพียงการหากำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น แต่ต้องเป็นการสร้างหรือเติมมูลค่าให้กับบริษัท

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw