ประเด็นร้อน

เร่งป้องกันการ"ฮั้ว"จริงจัง เอกชนทิ้งงานสั่งห้ามเข้าประมูล

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 23,2018

- - สำนักข่าวผู้จัดการรายวัน - -

 

คอลัมน์ ทันประเด็น  โดย : กะบังลม

 

กระบวนการฮั้วที่กำหนดกฎเกณฑ์กันสมัยๆ ที่ผ่านมาจริงๆ ได้ถูกพัฒนาการสมยอมราคากันตั้งแต่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542  ก็เขียนไว้รัดกุมป้องกันการสมยอมราคากันระหว่างผู้เสนอราคา มีข้อสรุปคือห้ามใครตกลงราคากันให้ใครคนใดมารับงานของรัฐ ซึ่งโดยที่ผ่านมามีการเอาผิดในความผิดตามพระราชบัญญัติแบบนี้ได้ ก็เมื่อความผิดโจ่งแจ้งจับได้คาหนังคาเขาว่ามีการกระทำที่แน่ชัดแบบไปขู่ไปอุ้มคนที่จะมาแข่งราคาประมูลด้วย

 

ทางราชการก็พยายามที่จะพัฒนาการจัดการประมูลงานของรัฐให้มีมาตรการที่รัดกุมเพื่อมิให้สมยอมราคากัน โดยใช้ระบบการประมูลงาน แบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักเรียกว่าการอีออกชั่นใช้กระบวนการที่ให้แข่งราคาตลอดระยะเวลาระหว่างการเสนอราคา ผู้เสนอราคาจะรู้ว่าราคาตนเอง ต่ำสุดหรือไม่ พอรู้ว่าราคาตนยังสูงอยู่ก็เคาะลดราคากันต่ำลงไปอีก ทำให้ผู้เสนอราคานั่งเสนอราคากันตั้งแต่เช้ายันค่ำแข่งกันหน้าดำหน้าแดง ยิ่งใครหิวงานต้องการงานไม่สนใจราคาจะเคาะราคากันจนต่ำเกินความเป็นจริง

 

"กะบังลม" เห็นปัญหาก็ตามมาว่าถึงเวลาจริงก็ทำงานไม่ได้ ทิ้งงานกันราชการก็เสียหายต้องฟ้องร้องกันสร้างความปวดหัวไม่จบ แต่กระบวนการฮั้วก็ยังไม่กลัวมาตรการแบบนี้ เพราะเห็นหน้าค่าตากันว่าใครมาเสนอราคาบ้าง ก็ใช้วิธีเสนอผลประโยชน์ตอบแทนคนที่จะมาแข่งราคากัน หากไปเจอที่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็ขู่กัน ก็อุ้มกันอย่างที่เป็นข่าวโด่งดังในอดีต

 

แต่พอทางราชการมีการเปลี่ยนแปลงการประมูลมาเป็นอีบิดดิ้ง สำหรับการประมูลงานก่อสร้างที่กำหนดให้คนที่จะเข้าร่วมประมูลงานทั้งหมดไม่ให้รู้ไม่ให้เจอหน้าเจอตากัน พอถึงเวลานัดหมายก็ให้ยื่นราคาโดยให้ยื่นทีเดียวไม่ให้รู้ว่าที่ยื่นไปต่ำหรือสูงกว่าคนอื่นไม่ต้องมาเคาะแข่งราคากันอีกเพราะถือว่างานมีเรื่องการทำงานที่นอกจากจะเรื่องราคาประมูลงานแล้ว ยังมีเรื่องมิติของเวลา มีมิติคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ให้ยื่นแล้ว ยื่นเลย แบบนี้เรื่องที่ผู้รับเหมาจะมารวมหัวกันสมยอมไปสูญพันธุ์ไปเลย เพราะไม่รู้ใครมายื่นราคากันบ้างก็แข่งราคากันแบบชัดเจน  แต่อย่างที่ว่า การแข่งราคาแบบนี้ก็ได้คนราคาต่ำสุด ที่หากมีการคำนวณราคากันให้เป็นอย่างดีแล้ว มั่นใจว่าต้นทุนในการก่อสร้างของตัวเองต่ำอย่างนี้ก็ยังทำงานให้จบได้

 

แต่พอแข่งกันหนีตายจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันลดราคากันลงต่ำเกินไปตั้งใจเอางานอย่างเดียวหนีไปตายเอาดาบหน้าอย่างนี้ไม่แน่ใจ อีกสองสามปีจะเกิดภาวะเหมือนสมัยหลังไอเอ็มเอฟ ที่ผู้รับเหมาทำงานกันแต่ช่วงต้นสุดท้ายไม่ไหวกันทิ้งงานกัน ให้กลายเป็นตึกร้างเต็มบ้านเต็มเมือง แบบนี้ตัดวงจรอุบาทว์ของการฮั้วออกไปเหมือนจะได้แล้ว มาเจอเรื่องกำหนดให้มีเครื่องไม้เครื่องมือ ตั้งแต่จะมาขึ้นทะเบียนขอเป็นผู้ประกอบการอย่างนี้เลย คิดว่าถอยหลังเข้าคลอง ประกาศอันนี้เลือกปฏิบัติเพราะกำหนดให้ผู้ขึ้นทะเบียนที่จะทำงานแค่บางหน่วยงานที่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือก่อน

 

"กะบังลม" เห็นว่าหากเป็นการร่วมมือกันสองหน่วยงานจริงๆ แล้วก็ถือว่า กรมบัญชีกลางร่วมมือกับหน่วยงานเหล่านั้นสมยอมให้มันขึ้นทะเบียนยากเข้าไว้  แบบนี้สร้างความเสื่อมศรัทธามาก หากแก้ไขได้ควรหาทางเร่งแก้ไขทันที ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เปิดกว้างให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม กระบวนการที่อยากเห็นเกิดขึ้นคือมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงว่ากำหนดเกณฑ์ใหม่ทำอย่างไรที่จะให้ผู้รับเหมาทำงานกันมีคุณภาพมากขึ้น ปรับปรุงข้อกำหนดคุณสมบัติและผลงานที่เป็นธรรม สร้างความสามารถผู้รับเหมาให้เพิ่มขึ้นเตรียมการรับมือการเปิดกว้างในการแข่งขันที่ต้องรับมือผู้รับเหมาต่างชาติ

 

รวมทั้งการพัฒนาเพื่อให้มีราคากลางและการพิจารณาวินิจฉัยข้อสัญญาที่เป็นธรรมลดปัญหาเรื่องฮั้วงานทั้งเรื่องทิ้งงาน เร่งรัดลงโทษกรณีผู้รับเหมารายใดทำงานราชการแล้ว ทิ้งงานรวมทั้งทำงานล่าช้ากว่าสัญญาต้องห้ามเข้ามาประมูลงานใหม่ ต้องเร่งรัดกระบวนการลงโทษ รวมถึง เพิ่มบทลงโทษผู้รับเหมาที่เกเรอย่างจริงจัง แบบนี้ถึงจะเรียกว่ายกเครื่องเรื่องปราบฮั้วครับท่านนายกฯ บิ๊กตู่

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw