ประเด็นร้อน
ทำไง? เมื่อคนโกงเต็มเมือง
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 19,2018
- - สำนักข่าวไลน์ทูเดย์ - -
“คอร์รัปชั่น-ทุจริต-โกงกิน” เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานาน เรียกว่าเป็นปัญหาที่สะท้อนความบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรมของคนไทยมาตลอด และไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ อาจเพราะที่ผ่านมาตัวอย่างไม่ดีในสังคมมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในทุกวงการ กลโกงอีกสารพัดอย่าง ทำให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้และเสพความโกงเหล่านี้ไปแบบไม่รู้ตัว
แล้วแบบอย่างไม่ดีเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างไรกับเด็ก ๆ กันบ้าง
คำตอบก็คือพวกเขาจะซึมซับแบบอย่างไม่ดี มองว่าความโกงเป็นเรื่องธรรมดา สุดท้ายไม่ว่าจะมีช่องทางหรือไม่ก็ตาม เขาก็จะกลายเป็น “คนโกง” คนหนึ่งในสังคม
วิธีแก้ปัญหา “คอร์รัปชั่น-ทุจริต-โกงกิน” ได้อย่างยั่งยืนที่สุด ก็คือคนในสังคมต้องมีค่านิยมในการรักความดี ไม่ยอมรับพฤติกรรมทุจริตหรือการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่คนเป็นพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต้องอบรมสั่งสอน ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สร้างเกราะกำบังด้วยวิธีเหล่านี้ ให้พวกเขา “โตไปไม่โกง”
1. ซื่อสัตย์สำคัญอันดับหนึ่ง
ความซื่อสัตย์สุจริต คือ การยึดมั่นในความสัตย์จริงที่ถูกต้องดีงามทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งความซื่อสัตย์เป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยที่ต้องอบรมสั่งสอน ปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไม่ใช่โตมาแล้วจึงค่อยสั่งค่อยสอน เพราะถึงป่านนั้นก็อาจไม่ทันเสียแล้ว
วิธีการคือต้องสอนกันตั้งแต่เด็ก พ่อ-แม่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ สอนอย่างใกล้ชิด อาจสอดแทรกไปกับนิทาน ให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ให้เข้าใจถึงเหตุผล โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน เพราะการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่เด็กจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่างถูกต้อง พอโตไปก็จะมีพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริตนั่นเอง
2. ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ต้องแยกแยะได้
ความรู้สึกผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี เป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก เป็นความรู้สึกผิดเมื่อฝ่าฝืน รู้สึกพึงพอใจเมื่อทำสิ่งที่ดี แต่เชื่อหรือไม่..เด็กสมัยนี้แยกแยะ “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” ไม่ได้ ทำผิดแต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นผิด ทำไปเพราะไม่ได้คิด หรือทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ต้องทำให้เด็กรู้ว่า “ผิด” ก็คือ “ผิด”
การแยกแยะถูก-ผิด อาจสั่งสอนไม่ได้เมื่อเด็กยังเล็กมาก เพราะเขายังไม่สามารถแยกแยะได้ สิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องพร่ำสอนไปเรื่อย ๆ เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับไปเอง ที่สำคัญต้องให้เขาค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ให้รู้จักสิทธิ์ของตนเอง สิทธิ์ของผู้อื่น เคารพในสิทธิ์ของกันและกัน เคารพกติกา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เด็กสามารถแยกแยะผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีต่อไปได้ในอนาคต
3. “หิริโอตัปปะ” ต้องมี
หิริโอตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ละอายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ถึงแม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อ-แม่ผู้ปกครองต้องสั่งสอนให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ต้องสอนให้รู้จักคิดว่าเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีไปแล้ว จะเกิดผลอย่างไร กระทบต่อตัวเอง คนรอบข้าง และผู้อื่นอย่างไร ฝึกให้เขาได้คิด วิเคราะห์ ไต่ตรองก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป
แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น แม่ค้าทอนเงินผิด ลอกข้อสอบ หรืออะไรก็ตาม ต้องทำให้เด็กรู้ว่าเรื่องเหล่านี้คือการโกง และการโกงไม่ใช่เรื่องฉลาดหรือเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำกัน บอกย้ำ ๆ สอนอย่างเคร่งครัดว่านี่คือสิ่งผิด! ที่เราต้องละอายและเกรงกลัว เมื่อเราทุกคนเกิดความละอายที่จะทำผิด เกรงกลัวต่อบทลงโทษหรือผลแห่งกรรมที่จะตามมา สุดท้ายแล้วสังคมเราก็จะอยู่น่าอยู่ขึ้น
4. ยิ่งมีแบบอย่างที่ดี ยิ่งทำได้
เดี๋ยวนี้การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเป็นเรื่องยาก เพราะสังคมเจริญก้าวหน้าทุกด้าน ทั้งเทคโนโลยี การสื่อสาร ฯลฯ ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถตามติดไปสั่งสอนลูก ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้นการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เด็กได้เรียนรู้จากพฤติกรรม การใช้ชีวิต และนิสัยที่ดีก็เป็นหนึ่งในวิธีการสอนที่ดีอย่างหนึ่ง
เมื่อมีแบบอย่างที่ดี แนวโน้มที่ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ก็มีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ ดังนั้นนอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีจิตใจที่เข้มแข็ง มั่นคง ปฏิบัติตัวเสมอต้นเสมอปลาย พูดให้ตรงกับสิ่งที่คิด ทำในสิ่งที่สอน ไม่ปากอย่างใจอย่าง เพราะเด็กจะเกิดความสับสน และขาดความนับถือในตัวพ่อแม่
5. รู้จักพอเพียงและเพียงพอ
“พอเพียง” คือ การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น ส่วน “เพียงพอ” คือ การรู้จักประมาณตน ใช้สิ่งที่มีอย่างรู้คุณค่า หรือก็คือการพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่นั่นเอง
อย่างที่เห็นว่า “พอเพียง” และ “เพียงพอ” สองคำนี้ความหมายต่างกัน แต่มีความสอดคล้องในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างสมดุล พึ่งพาตนเอง พอใจในสิ่งที่มี ซึ่งต้องสั่งสอนตั้งแต่เด็ก ให้เขารู้จักคำว่า “พอ” รู้จักประมาณตน ที่สำคัญคือให้รู้จักการไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการเสียบ้าง ให้สิ่งเหล่านี้ติดเป็นนิสัยก็จะทำให้มีภูมิต้านทานในการใช้ชีวิตมากขึ้น สุดท้ายเมื่อรู้จัก “พอ” รู้จัก “อดทน” กับความต้องการของตัวเอง ความหวังที่จะให้เด็ก ๆ ของเราเป็นคนที่โตไปไม่โกงก็จะกลายเป็นฝันที่เป็นจริง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน