ประเด็นร้อน

ปีแห่งความร่วมมือของประชาชน

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 15,2018

- - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

คอลัมน์ เขียนให้คิด โดย : บัณฑิต นิจถาวร  กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

 

จันทร์นี้ บทความ "เขียนให้คิด" เป็นบทความแรกของปี จึงอยากขอเริ่มด้วยการอวยพรปีใหม่ ให้ผู้อ่านทุกท่านประสบแต่สิ่งที่ดีๆ ในปีนี้ ให้ทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ เข้มแข็งด้วยสติและปัญญาเพื่อให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับตัวท่าน ครอบครัว และประเทศชาติ

 

ผมเองไม่ใช่โหร แต่ปี 2561 นี้ เท่าที่ดูน่าจะเป็นปีที่ดีกว่าปีที่แล้ว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อนตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่เป็นขาขึ้น ทำให้ทุกประเทศส่วนใหญ่จะดีขึ้น ด้านการเมือง ปีนี้น่าจะเป็นปีของโอกาส เป็นปีเลือกตั้ง ที่จะนำประเทศกลับไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้บริหารประเทศจะมาจากการตัดสินใจของประชาชน ผ่านการใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเลือกผู้นำและทิศทางของประเทศ

 

แต่บ่อยครั้งที่ผ่านมา การใช้สิทธิ์ตามกระบวนการประชา ธิปไตยได้สร้างความผิดหวัง เพราะนักการเมืองที่ได้รับการเลือกเข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้ให้เวลาหรือใช้อำนาจรัฐที่ประชาชนมอบหมายให้บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ตรงกันข้าม นักการเมืองมักใช้เวลาและอำนาจรัฐที่มีมุ่งห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำกันแบบเอาเป็นเอาตาย ทำกันทุกยุคสมัย แต่ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองทำในช่วงมีอำนาจ ผลคือการบริหารประเทศเพื่อแก้ไขหรือพัฒนาประเทศให้รุดหน้า จึงมักล่าช้าหรือไม่เกิดขึ้น และไม่มีการตรวจสอบการทำงานของตนเองในช่วงมีอำนาจ นำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง สร้างความไม่เป็นธรรม สร้างผลประโยชน์ขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนผิดหวังกับการเมืองของประเทศ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ได้สร้างสรรค์ประเทศให้ดีขึ้นอย่างที่ควรต้องทำ แต่กลับใช้อำนาจตามอำเภอใจ โดยไม่มีการตรวจสอบ ส่วนหนึ่งก็เพราะองค์กรตรวจสอบได้ถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจจนอ่อนแอและไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ผลคือเกิดการละเมิดการใช้อำนาจ ทำให้ประเทศมีปัญหามาก ขาดความโปร่งใส มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ

 

การขาดกลไกการตรวจสอบที่เป็นกลาง โปร่งใส ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ที่สามารถให้ข้อเท็จจริงต่างๆ แก่ประชาชน จึงเป็นจุดอ่อนหลักของระบบการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นช่องว่างที่ทำให้ประเทศมีปัญหามาก เพราะไม่สามารถตรวจสอบเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างที่ควร เพื่อการดำเนินการตามกฎหมาย ในเรื่องนี้การแก้ไขปัญหาคงต้องทำสองด้าน หนึ่ง ต้องทำให้หน่วยงานตรวจสอบที่มีหน้าที่ตามกฎหมายสามารถทำงานได้ โดยปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง สอง ต้องสร้างกลไกอื่นเข้ามาสนับ       สนุนการตรวจสอบขององค์กรภาครัฐที่เป็นกลไกอิสระ ไม่ถูกควบคุมหรือแทรกแซงโดยการเมือง

 

ในประเด็นหลัง กลไกตรวจสอบอิสระคงต้องมาจากภาคประชาสังคม โดยประชาชนที่ตื่นตัวสนใจและพร้อมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทำหน้าที่สนับสนุนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐเพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เกิดขึ้น กลไกตรวจสอบโดยประชาชนนี้ในบ้านเรายังไม่มีการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่กลุ่มต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาตามกาลเวลาที่นักการเมืองสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ห้ำหั่นฝ่ายตรงข้าม แต่ที่ประเทศควรต้องมีก็คือ กลไกของภาคประชาชนที่เป็นพลังของสังคม ที่จะให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมในเรื่องต่างๆ เป็นกลไกที่นำไปสู่การแสดงความเห็น ประท้วง สนับสนุน คัดค้าน และเป็นตัวแทนประชาชนที่จะฟ้องร้องเอาผิดหน่วยงานรัฐและบริษัทธุรกิจที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นกลไกที่ทำให้ภาคประชาชนมีเสียง มีพลัง เพื่อรักษาความถูกต้องในสังคม เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ทำหน้าที่และแสดงความรับผิดชอบเพื่อส่วนรวมในระบอบประชาธิปไตย

 

ปีที่แล้วมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพลังของภาคประชาสังคมในประเทศไทยสามารถก่อตัวได้โดยประชาชนเอง ที่ประชาชนจำนวนมากร่วมแสดงตน ร่วมทำกิจกรรม และร่วมสนับสนุนในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง โดยไม่ต้องนัดหมาย ตัวอย่างแรกคือ โครงการก้าวคนละก้าวของ ตูน บอดี้สแลม ที่วิ่งเพื่อหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาลภาครัฐ 11 แห่งทั่วประเทศ ให้สามารถมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยในการให้บริการประชาชน ได้เงินบริจาคกว่า 1,000 ล้านบาทจากคนไทยทั่วประเทศ เป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนทั่วประเทศพร้อมใจกันทำกิจกรรม โดยไม่ได้นัดหมายหรือมีแคมเปญภาครัฐสนับสนุน เป็นการเคลื่อนไหวของคนจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำลังทำและพร้อมสนับสนุน แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าประชาชนพร้อมใจกันลงมือทำ

 

ตัวอย่างที่สอง คือ การให้ข้อมูลความพึงพอใจในการติดต่อและใช้บริการของหน่วยงานราชการโดยประชาชนและนักธุรกิจ ซึ่งรวมถึงข้อมูลการให้และรับสินบนของภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐในการติดต่อราชการ ให้ข้อมูลผ่านระบบ QRCode ในโครงการ Citizen Feedback ของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ที่ช่วงเวลาหนึ่งเดือนเต็มที่โครงการนี้ดำเนินการในลักษณะโครงการต้นแบบกับห้าหน่วยงานราชการในกรุงเทพมหานคร มีประชาชนที่ไปติดต่อราชการกับหน่วยงานเหล่านี้ให้ความเห็นกว่า 2,500 คน ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและสร้างให้เกิดความเข้าใจในคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานราชการ ซึ่งปีนี้โครงการ CAC ที่ทางสถาบันไอโอดีดำเนินการอยู่จะนำโครงการ Citizen Feedback มาขยายผลให้ครอบคลุมหน่วยราชการในจำนวนที่มากขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งสองโครงการที่กล่าวถึงนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมที่จะสร้างหรือช่วยสังคมและประเทศให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนปรารถนา ที่ขาดอยู่คือพื้นที่หรือกลไกที่เป็นกิจจะลักษณะที่จะเป็นที่ยืนให้ประชาชนสามารถร่วมกันทำหน้าที่พลเมืองดีได้อย่างเปิดเผยและเป็นที่ยอมรับ เช่นร่วมมีบทบาทในการตรวจสอบ ให้ความเห็น ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแสดงความรับผิดชอบในฐานะประชาชนเพื่อสร้างสังคมและประเทศให้ดีขึ้น

 

ในต่างประเทศ ประสบการณ์ในเรื่องลักษณะนี้ชี้ว่าจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่บทบาทของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งก็คือ ความต้องการของประชาชนเองที่อยากเห็นรัฐบาล องค์กรของรัฐ รวมถึงภาคธุรกิจทำหน้าที่โดยมีความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ขับเคลื่อนโดยพลังที่มาจากการรวมตัวของประชาชน ที่มุ่งสร้างให้เกิดความรู้ การใฝ่หาข้อเท็จจริง และการทำหน้าที่ของภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสังคมในหลายประเทศ พลังดังกล่าวเริ่มมาจากความผิดหวังในนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม จนประชาชนต้องรวมตัวกันค้นหาความจริงผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ นำไปสู่การหาคำตอบและการแก้ไขเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เช่น การละเมิดอำนาจ ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม หรือการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจากตัวอย่างในหลายประเทศ พลังตรวจสอบของประชาชนจะมีอิทธิพลมหาศาล สามารถดำเนินการให้ประธานาธิบดีในตำแหน่งหลุดออกจากตำแหน่งได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น กรณีทุจริตคอร์รัปชันสองปีก่อนที่เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ที่พร้อมตรวจสอบการทำหน้าที่ที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองและนักธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม และเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

 

สำหรับประเทศไทย ความเข้มแข็งแบบนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน ที่ประชาชนจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมของนักการเมือง ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ขององค์กรรัฐ ที่ผ่านมาเรามักจะไม่สนใจกับเรื่องเหล่านี้จนถูกเอาเปรียบโดยความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจที่ละเมิดการใช้อำนาจ แต่ปัจจุบันสังคมไทยมีความพร้อมมากขึ้นที่จะแสดงบทบาท จึงอยากเห็นปีนี้เป็นปีที่ประชาชนไทยจะรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อช่วยกันผลักดันสังคมและประเทศชาติให้ดีขึ้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราทุกคนสามารถร่วมกันทำได้.

 

"สำหรับประเทศไทย ความเข้มแข็งแบบนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน ที่ประชาชนจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมของนักการเมือง ข้าราชการประจำ และนักธุรกิจ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ขององค์กรรัฐ ที่ผ่านมาเรามักจะไม่สนใจกับเรื่องเหล่านี้จนถูกเอาเปรียบโดยความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจที่ละเมิดการใช้อำนาจ แต่ปัจจุบันสังคมไทยมีความพร้อมมากขึ้นที่จะแสดงบทบาท จึงอยากเห็นปีนี้เป็นปีที่ประชาชนไทยจะรวมตัวกันมากขึ้น เพื่อช่วยกันผลักดันสังคมและประเทศชาติให้ดีขึ้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เราทุกคนสามารถร่วมกันทำได้"

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw