ประเด็นร้อน

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเจาะเบื้องหลังสู่ทางป้องกันพฤติกรรมโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 28,2017

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ โดย : บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร

 

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2017 ตกเป็นของ Richard Thaler ซึ่งถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม รายที่ 2 ที่ได้รางวัลดังกล่าวถัดจาก Daniel Kahneman (2002)

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเริ่มเป็นที่สนใจในวงกว้าง มากขึ้น ในฐานะเครื่องมือในการทำความเข้าใจ พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการออกแบบนโยบายที่สามารถนำไปบังคับใช้ได้ดีขึ้น

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ในการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ที่จะกระทำทุจริต โดยเลือกศึกษาความโปร่งใส (Transparency) และการตรวจสอบ ติดตาม (Monitoring)

 

ด้วยการวิจัยเชิงทดลองภาคสนาม ที่มีการควบคุม (Controlled Field Experiment) ซึ่งเป็นการทดลองภายใต้สถานการณ์จำลองที่กลุ่มตัวอย่างไม่ทราบว่ากำลังอยู่ในการทดลอง เพื่อให้ได้พฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

 

ในสถานการณ์จำลอง กลุ่มตัวอย่างจะได้ รับการโฆษณาให้มาทำงานหารายได้พิเศษ โดยการตรวจหาคำผิดในข้อสอบพิมพ์ดีดของโรงเรียนเลขานุการแห่งหนึ่ง ข้อสอบมีเนื้อหาภาษาไทยที่ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการตรวจ สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างต้องทำคือเปรียบเทียบข้อสอบพิมพ์ดีดกับใบเฉลยอย่างละเอียด วงกลมและรายงานจำนวนคำที่สะกดผิดในใบปะหน้า

 

ในการทดลอง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับซอง ที่มีข้อสอบพิมพ์ดีด ใบเฉลย และเงิน 300 บาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน 200 บาท และหากเจอคำผิดในข้อสอบจะได้เงินพิเศษเพิ่ม คำละ 5 บาท ซึ่งหากเจอคำผิดเกิน 20 คำ จะถือว่าสอบตก สามารถหยุดตรวจแล้ว เก็บเงินทั้งหมดในซอง 300 บาท (200+(20x5) และกลับบ้านได้ทันที

 

แต่หากตรวจเจอคำผิดน้อยกว่านั้น ก็ต้องคืนเงินที่เหลือจากการตรวจลงซอง เช่น เจอคำผิด 10 คำ จะได้รับเงินพิเศษ 50 บาท และต้องคืนเงินในซอง 50 บาท

 

สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างไม่ทราบ คือ ข้อสอบทุกฉบับมีคำผิดแค่ 10 คำ ดังนั้น หากกลุ่มตัวอย่างตรวจข้อสอบอย่างตรงไปตรงมา และรับค่าตอบแทนตามจริง ทุกคนจะต้องคืนเงิน 50 บาท

 

กลุ่มตัวอย่างคือ นิสิตนักศึกษาปริญญาตรี จากหลายมหาวิทยาลัย 425 คน แต่ละคน ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งมีระดับการตรวจสอบ ติดตาม และความโปร่งใสแตกต่างกัน ในสถานการณ์ความโปร่งใสสูง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการบอกว่าต้องนำซองไปคืนให้ ผู้ว่าจ้างในอีกห้องหนึ่ง ส่วนในสถานการณ์ความโปร่งใสต่ำจะได้รับการบอกให้นำซองไปใส่ในกล่องบนโต๊ะนอกห้องเมื่อตรวจเสร็จ ในสถานการณ์การตรวจสอบติดตามสูง กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการแจ้งว่าข้อสอบที่ตนตรวจมีโอกาสถูก ตรวจซ้ำ 60% แต่สถานการณ์การตรวจสอบติดตามต่ำ โอกาสที่ถูกตรวจซ้ำคือ 10% ซึ่งพฤติกรรมในการตรวจ รับเงินและคืนเงิน ของกลุ่มตัวอย่างจะถูกกำหนดด้วยข้อมูลเหล่านี้

 

หลังการทดลอง ทีมนักวิจัยเชิญกลุ่มตัวอย่างมาชี้แจงเกี่ยวกับการวิจัย พูดคุยและให้ทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ อายุ เพศ ประสบการณ์และมุมมองต่อการทุจริต

 

พฤติกรรมทุจริตในการทดลอง หมายถึง (1) การรายงานจำนวนคำผิดบนใบปะหน้าไม่ตรงกับจำนวนที่วงกลมในข้อสอบ หรือไม่ตรงกับจำนวนคำผิดจริง และใช้เวลาในการตรวจต่ำกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ รีบตรวจเพื่อรับเงินโดยที่ไม่ตั้งใจทำงานให้เสร็จ หรือ (2) การหยิบค่าตอบแทนมากกว่าจำนวนเงิน ที่ควรจะได้รับ

 

จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 425 คน มีเพียง 16 คน ที่ไม่มีพฤติกรรมทุจริตตามนิยามของงานวิจัยนี้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานการณ์ที่มีการตรวจสอบติดตามและความโปร่งใสสูง มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 44 คน รายงานว่าตรวจเจอคำผิดอยู่ที่ราว 11-16 คำ ขณะที่ 85 คน ใช้เวลาตรวจเร็วกว่าเวลามาตรฐาน และมี 17 คน ที่นำเงินไปมากกว่าจำนวนคำผิดที่รายงานไว้ใน ใบปะหน้าข้อสอบ

 

สรุปปัจจัยความโปร่งใสมีผลต่อการตัดสินใจที่จะทุจริต โดยพบความแตกต่าง ของพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความโปร่งใสสูง (คืนซองกับ ผู้ว่าจ้าง) กับระดับความโปร่งใสต่ำ (คืนซอง บนโต๊ะนอกห้อง)

 

ดังนั้น ความโปร่งใสจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันการทุจริต เพราะเป็นขั้นแรกที่จะทำให้เกิดมาตรการอื่น เช่น ตรวจสอบติดตาม ลงโทษ กล่าวคือ ถ้าไม่ต้องเปิดเผยผลงานแต่แรกก็จะไม่มีทางตรวจสอบพบว่าทุจริต และไม่สามารถนำไปสู่การเอาผิดลงโทษได้ กลุ่มตัวอย่างตอบสนองไม่แตกต่างกันระหว่างการตรวจสอบติดตามระดับสูง กับระดับต่ำ และการตรวจสอบติดตามจะมีผลต่อ พฤติกรรมก็ต่อเมื่อใช้ควบคู่กับความโปร่งใส

 

ดังนั้น มาตรการในการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และ หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยผลการดำเนินงาน ต่อสาธารณชน อาจสามารถเสริมประสิทธิภาพของมาตรการตรวจสอบติดตามได้ดีกว่าการเพิ่มระดับความเข้มข้น ของการตรวจสอบติดตามเอง จากการวิเคราะห์แบบสอบถามพบว่า ประสบการณ์การเสนอหรือรับสินบนมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการตรวจเจอคำผิดได้ตรงกับความเป็นจริงน้อยลง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นการทุจริตคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ (petit corruption) ไม่ใช่การ ทุจริตขนาดใหญ่แบบการหักค่าหัวคิวโครงการระดับประเทศ แต่ก็มีผลในทางลบ ต่อพฤติกรรมของเยาวชน โดยการทำ ให้เกิดความเคยชินต่อการทุจริต ซึ่งอาจขยายไปสู่พฤติกรรมการทุจริตที่ร้ายแรงขึ้น เมื่อเติบโตขึ้น

 

ดังนั้น แผนการป้องกัน ต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชัน จึงต้องมุ่งป้องกัน การทุจริตคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เพราะเป็นการทุจริตที่ใกล้ตัวเยาวชน สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จนอาจเกิดการเคยชินและพัฒนาไปเป็นค่านิยม ที่ว่าใครๆ ก็ทำกัน

 

 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw