ประเด็นร้อน

จับตามอง10ปมร้อน-ชงรัฐแก้ไขนาฬิกาหรู-เงินทอนวัด-ปฏิรูปตร.-กฎหมายป.ป.ช.

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 28,2017

 - - สำนักข่าวข่าวสด - -


เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. เฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้จัดอันดับ 10 ประเด็นคอร์รัปชั่นในสังคมไทย และเปิดพื้นที่ให้พลังสังคมได้ร่วมแชร์ ความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในประเด็นต่างๆ จากแฟนเพจและผู้สนใจเพื่อนำเสนอรัฐบาลในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์แอด ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในช่วง 28 ธ.ค.2560-15 ม.ค.2561

สำหรับ 10 ประเด็นคอร์รัปชั่นที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 

1.การทุจริตที่เกี่ยวกับคนใกล้ชิดรัฐบาล การแสดงบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (กรณีแหวนและนาฬิกาหรู) การซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วรถยนต์แบบมือถือ การเหมาเที่ยวบินไปประชุมที่ฮาวาย การอนุมัติให้เอกชนใช้ป่าชุมชนไปสร้างโรงงานและอีกหลายเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา แต่การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องหลายกรณียังขาดความชัดเจน ตรงไปตรงมาและไม่ทันท่วงที จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์หาความจริงต่อไป

2.ส่วยภูเก็ต ส่วยและสินบนยังเป็นปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หากรัฐบาลทุ่มเทขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นที่ภูเก็ตให้สำเร็จได้ ก็สามารถนำมาตรการเหล่านั้นไปปราบคอร์รัปชั่นในทุกจังหวัดได้เช่นกัน 

3.คดีเงินทอนวัด เงียบและไม่คืบหน้า เป็นพฤติกรรมคอร์รัปชั่นที่สั่นคลอนความรู้สึกของคนไทย เพราะมีอัตราสินบนแต่ละครั้งมากถึงร้อยละ 85 อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นพระชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการสำนักพระพุทธศาสนาจำนวนมาก

4.คดีสินบนโรลส์รอยซ์ การทุจริตข้ามชาติที่เกี่ยวโยงกับรัฐวิสาหกิจชั้นนำหลายแห่ง แต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าว่าคดีไปถึงไหน

5.คดีทุจริตสวนปาล์มน้ำมันของ ปตท. ที่ประเทศอินโดนีเซีย การขาดทุนที่ประมาณว่ามากกว่าสองหมื่นล้านบาท จากการนำเงินไปลงทุนในโครงการสวนปาล์มที่อินโดนีเซีย ของ ปตท. ถึงวันนี้ยังไม่มีการระบุตัวคนโกงหรือคดีไปถึงไหน

6.การปฏิรูปตำรวจยังอึมครึม ตำรวจเป็นหน่วยราชการอันดับต้นๆ ที่ถูกระบุว่ามีการคอร์รัปชั่นมาก ทำให้ความยุติธรรมในสังคมถูกบิดเบือน ดังนั้นประชาชนจึงคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำรวจ แต่สังคมกลับไม่เคยได้รับรู้แนวทางการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นทางการเลย

7.อภิสิทธิ์ชนกับการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม ข่าวการหลบหนีหรือไม่ถูกนำตัวขึ้นศาลดำเนินคดีของนักการเมืองและคนโกงที่ร่ำรวยหรือมีอิทธิพล ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตาและหาทางแก้ไข เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า คนโกงต้องได้รับการลงโทษ

8.กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทอำนาจและวิธีปฏิบัติงานที่ลดความเข้มข้นลงหลายประเด็น รวมทั้งการแก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อต่ออายุการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

9.รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เมื่อร่างเสร็จแล้ว กลับไม่ใช้ หากแต่ให้นำหลักการทำนองเดียวกันไปเขียนเพิ่มเติมไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช. 4 มาตรา และเขียนเพิ่มเติมในกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อีก 8 มาตรา ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะไม่เข้มข้นครอบคลุมเมื่อเทียบกับการมีกฎหมายเฉพาะแล้วยังอาจเป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 278 ได้

10.กฎหมายปราบโกงที่หายไป อนาคตที่ไม่ชัดเจนของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ปี 2540 เดิม และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหน รัฐบาลจะสนับสนุนจริงจังหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป





#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw