ประเด็นร้อน
'รัฐธรรมนูญ 2560' ในสายตาประชาชน
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 14,2017
- - สำนักข่าวสยามรัฐ - -
คอลัมน์ มองผ่าน'ข้อมูล' โดย : รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมพ.ศ. 2475 แม้จะผ่านมากว่า 85 ปี แต่การระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก ยังคงเป็นสิ่งที่คนไทยตระหนักรู้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปแล้ว "รัฐธรรมนูญ" หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐหรือหากแปลตามความหมายของคำว่า "รัฐธรรมนูญ"(Constitution) โดยทั่วไปหมายถึงกฎหมายที่วางระเบียบการปกครองรัฐในระดับสูงและระดับกว้าง เป็นที่รวมแห่งกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ และเป็นที่มาของกฎหมายทั้งหลาย รัฐธรรมนูญจึงมีฐานะเหนือกฎหมายอื่น ถ้ากฎหมายใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหมายแล้วก็คงต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองของทุกประเทศในโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
ปัจจุบันไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นับเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศ โดยรัฐบาล คสช. ได้พยายามชูจุดแข็งว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เน้นการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญไทย "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,164 คน ในประเด็น "รัฐธรรมนูญ"ในสายตาประชาชน สรุปผลได้ ดังนี้ประชาชนรู้หรือไม่? ว่ามีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 พบว่า "คำตอบ" ที่"ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 65.12 คือ รู้ เพราะ สนใจติดตามข่าวเป็นประจำ ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ มีข่าวความคืบหน้าออกมาเป็นระยะๆ ฯลฯ รองลงมา คือไม่รู้ ร้อยละ 34.88 เพราะ เป็นเรื่องเข้าใจยาก ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่สนใจ ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ฯลฯ
ประชาชนคิดอย่างไร? กับ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 36.29 คือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เน้นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมา ได้แก่อยากให้เป็นกฎหมายที่มีความยุติธรรม ให้ความสำคัญกับประชาชน ร้อยละ 26.41 ควรใช้ได้จริง ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยร้อยละ 26.24 มีหลายมาตราที่เป็นข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กัน ร้อยละ 23.34 และยังไม่เห็นผลจากการนำมาใช้ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ร้อยละ 13.97
ความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่มีนักวิชาการและนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) "ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ" ประชาชน "เห็นด้วย" ร้อยละ55.67ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 37.63 และไม่แน่ใจร้อยละ 6.70
2) "เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกงเพราะมีกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น"ประชาชน"เห็นด้วย"ร้อยละ 72.25 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 25.43 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 2.32
3) "เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนางเพราะทำให้รัฐมีอำนาจเป็นใหญ่ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน" ไม่เห็นด้วยร้อยละ 49.40 เห็นด้วย ร้อยละ 45.79 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.81
4) "รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก เพราะต้องอาศัยทั้งเสียงจาก ส.ว. และส.ส. ประชาชน" เห็นด้วยร้อยละ65.29ไม่เห็นด้วยร้อยละ 30.41และไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.30
5) "รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช." ประชาชนเห็นด้วย ร้อยละ 57.82 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ37.71 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.47
6)"รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ทำให้เกิด"นายกฯ คนนอก" ประชาชน เห็นด้วย ร้อยละ 63.14 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 31.70 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 5.16
"จุดแข็ง" ของ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี2560 คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 37.07 คือเน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน รองลงมา ได้แก่ เน้นการปฏิรูป พัฒนาคนและประเทศชาติร้อยละ25.45มีบทลงโทษพรรคการเมืองที่รุนแรง ร้อยละ16.63แก้ไขยาก ทำให้ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อยละ 14.23 และเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ร้อยละ 10.02
"จุดอ่อน" ของ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี2560 คืออะไร? พบว่า "คำตอบ" ที่ "ประชาชน" ตอบมากที่สุด ร้อยละ 26.92 คือ ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.รองลงมา ได้แก่ ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ร้อยละ23.46 เน้นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องประชาชน ร้อยละ 21.92 มาจากรัฐบาลทหารไม่เป็นประชาธิปไตยร้อยละ16.54และเข้าใจยากมีเนื้อหามาก ร้อยละ 13.65
พิจารณาจากผลการสำรวจความคิดเห็นที่ปรากฏแล้วย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจความสนใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญรวมถึงเป็นภาพสะท้อนของการพัฒนาด้านการติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของประชาชนตลอดจนความสามารถด้านการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบได้อย่างชัดเจน
เมื่อเห็นปฏิกิริยาพัฒนาการด้านการมีส่วนร่วมและความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ทำให้รู้สึก "วางใจ" ไม่น้อยว่า "ประชาชนจะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองง่ายๆ" อย่างแน่นอน
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน