ประเด็นร้อน
มัจจุราช สำหรับข้าราชการและนักการเมืองขี้โกง
โดย ACT โพสเมื่อ Dec 12,2017
- - สำนักข่าวมติชน - -
คอลัมน์โดย : สมหมาย ภาษี
เรื่องคอร์รัปชันในโลกนี้มีอยู่ดาษดื่น ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลสทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง ประเทศจีนในยุคนี้ ผู้บริหารระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จึงได้ประกาศออกมาชัดเจนหลายปีมาแล้วว่าจะทำการปราบปรามคอร์รัปชันในพวกข้าราชการและพนักงานของรัฐให้ลดให้เร็วที่สุด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ลงโทษพวกคอร์รัปชั่นไปแล้วถึง 1,300,000 คน ประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองจีนในประเทศปัจจุบัน ซึ่งมีกว่า 1,300 ล้านคน แต่กระนั้นก็ตามการจัดอันดับดัชนีการคอร์รัปชั่นในปลายปี 2559 ประเทศจีนยังอยู่สูงในอันดับที่ 79 ในจำนวนประเทศที่มีการนำมาจัดอันดับทั่วโลก 176 ประเทศ อันดับที่เท่ากับจีน เช่น ประเทศบราซิลและอินเดีย
ประเทศไทยเรื่องนี้ไม่เคยน้อยหน้าใคร อันดับคอร์รัปชันของไทยที่ถูกจัดเมื่อปี 2559 อยู่ที่อันดับ 101 เท่ากับประเทศเปรู ฟิลิปปินส์ และประเทศติมอร์ เลสเต ที่เพิ่งเกิดใหม่ประมาณไม่เกิน 15 ปี ประเทศไทยอันดับของคอร์รัปชั่นลดต่ำลงมากในปี 2558 คืออยู่อันดับที่ 76 เพราะเป็นปีที่ คสช.เพิ่งยึดอำนาจและได้บริหารประเทศมาปีเศษ ได้มีการประกาศนโยบายการต่อต้านและปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างชัดเจน โดยในระยะแรกได้สำแดงเดชในการจัดการกับผู้บุกรุกที่สาธารณะ ตั้งแต่บนภูเขาลงไปถึงชายหาดและได้แสดงความแข็งกร้าวในการเข้าไปเล่นงานนโยบายที่ประชาชนเห็นว่ามีการคอร์รัปชัน อย่างมาก คือนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วก่อนการปฏิวัติ และในช่วงต้นของการปฏิวัติ บรรดาพวกสัตว์สองเท้าที่ชอบ คอร์รัปชั่นทั้งหลายต่างก็หัวหด ลดบทบาทลงไปทั่วทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ซึ่งได้มีการสอบถามกันแล้วได้ความว่ากลัวทหารกัน
แต่เวลาผ่านไป 3 ปี ความกลัวทหารก็หยุดไป เพราะเห็นทหารบางส่วนที่เข้ามาดูแลแทนตำรวจกลับทำตัวรับลัทธิเอาอย่าง อันดับคอร์รัปชั่นของไทยจึงได้เพิ่มขึ้นมาสูงกว่าอันดับที่ 100 เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะการปฏิรูปเรื่องคอร์รัปชั่นไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มาตรการที่ฟังแล้วสะดุดใจว่าใช้ได้ เอาจริง ไม่มีให้เห็นเลย นอกจากน้ำลายของผู้ใหญ่ที่พ่นออกมาเป็นครั้งคราว อีกไม่เกินสิ้นปีนี้ก็จะมีการประกาศอันดับคอร์รัปชั่นของปี 2560 ออกมาโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ผมเชื่อว่าจะสูงกว่าเดิม คือสูงกว่าอันดับ 101 แปลง่ายๆ ว่า คอร์รัปชั่นในเมืองไทยในยุค คสช.ยิ่งมีมากกว่าเดิม
ที่มีความเห็นไว้ล่วงหน้าเช่นนี้ เพราะจากการตามติดเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงในบ้านเมืองเราจะพบว่ามีอยู่อย่างดาษดื่นในแทบทุกหน่วยงาน ไม่ขอพูดในหน่วยงานขาประจำอย่างมหาดไทยและตำรวจแต่หน่วยงานอื่นก็มีโผล่มาร่วมขบวนการให้ดูคึกคักขึ้นอย่างพร้อมหน้า ยกตัวอย่าง เช่น ด้านแรงงาน ที่ไหนใช้แรงงานต่างด้าวมาก มีส่วยจากหน่วยงานต่างๆ เข้าไปหากินจากพ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากเป็นเงาตามตัว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ว่าจะเงียบลงตอนที่มีทหารเข้าไปลุยหนัก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เรื่องบุกรุกที่ป่าที่สาธารณะยังมีอยู่มากมาย กระทรวงการคลังที่กรมเก็บภาษี ดูเหมือนเงียบแต่ขบวนการรับเงินรีดเงินกลับมีอยู่อย่างเงีบบเชียบกว่าความเงียบที่เห็น และที่ขำไม่ออกก็คือในหน่วยงานที่เกี่ยวกับศาสนา ที่เกี่ยวกับพระสงฆ์องค์เจ้าที่ผู้คนต้องทำบุญ ที่ผู้คนบริสุทธิ์ต้องกราบไหว้ทุกวันนี้มีเรื่องทุจริตด้วยวิธีต่างๆ อย่างมากมายออกมาให้เห็นอย่างไม่ไว้หน้ารัฐบาล คสช.กันบ้างเลย
ตั้งแต่เดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณใหม่ 2561 และเป็นช่วงที่ปี่กลองเรื่องเลือกตั้งเริ่มมีเสียงเข้าในหูมากขึ้น การยืดเส้นยืดสายของภาครัฐในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นก็มีความคึกคักขึ้นกว่าเดิมมาก ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับมีคำสั่งให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องโกงเงินของวัด มีการขันน็อตระบบการทำงานของดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญและมีอำนาจมากในเรื่องการจัดการคดีโกงกินที่สำคัญๆ ให้ดีขึ้น ไม่อยากให้มีข่าวลบมากกว่าข่าวบวกเหมือนเดิมแต่ผลที่จะเกิดขึ้นไม่ทราบว่ากว่าจะดีได้จะต้องใช้เวลาเป็นปีไหม
ยิ่งในช่วงหลังๆ ในปลายปีนี้ ข่าวคราวของนักการเมืองระดับรัฐมนตรีโดยเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดท่านนายกฯกระพือออกมามาก และจะยิ่งมีความมันมากขึ้นอีกแน่ เพราะเท่าที่ฟังดูกองเชียร์มีมากเหลือเกิน
ความจริงรัฐบาลยุคไหนๆ ก็รู้กันว่า วิธีที่จะให้ได้คะแนนนิยมจากประชาชนอย่างเร็วและมากขึ้นนั้น ไม่มีงานไหนจะดีเท่ากับงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะมองในแนวราบคือในหมู่ประชาชนทุกประเภทล้วนแต่ถูกการคอร์รัปชั่นเล่นงานมามากต่อมาก ตั้งแต่ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า ข้าราชการและพนักงานของรัฐที่ดีๆ ตลอดทั้งนักธุรกิจรายใหญ่ๆ ไม่เว้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่มาทำมาหากินในประเทศเรา หรือถ้ามองในแนวตั้ง คนที่โกงชาติบ้านเมืองก็มีตั้งแต่ระดับล่างตั้งแต่เสมียนพนักงานระดับเล็ก กลาง จนกระทั่งถึงคณะรัฐมนตรี ที่คนเรียกกันว่าพณะท่าน นี่คือภาพของการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศที่ติดอันดับที่ 101 เมื่อปีที่แล้ว
ตอนนี้มีข่าวเรื่องการปรับปรุงกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งสื่อและนักวิชาการด้านปราบคอร์รัปชั่นเห็นว่าแทนที่จะดีขึ้นอาจแย่ลง ตัวอย่างเช่นการให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องเปิดเผยทรัพย์สิน แต่ได้แก้ให้แย่ลงว่าให้ผู้ต้องแสดงทรัพย์สินชี้แจงแผนสรุป ไม่ต้องลงรายละเอียด ผู้เขียนและประชาชนทั่วไปอาจเดาว่า เป็นกฎหมาย ป.ป.ช.ที่แก้เพื่อเตรียมรองรับผู้มีอำนาจตอนนี้ ที่จะต้องหรือจำเป็นต้องออกไปหลังจากเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้านี้ก็เป็นไปได้
ความจริงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่น่าจะช่วยให้การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศนี้ลดลงไปได้เท่าไหร่หรอก เพราะการคอร์รัปชั่นที่สูงในบ้านเมืองเราไม่ได้มาจากด้านกฎหมาย ป.ป.ช.แค่ฉบับเดียว ยังมีกฎหมายที่ศรีธนญชัยสามารถนำมาเล่นได้อีกเยอะ และที่สำคัญกว่านั้น ยังขึ้นอยู่อย่างมากกับวิธีทำงานตลอดจนวิธีบริหารจัดการของสำนักงานผู้ทรงพลังอำนาจอันสูงยิ่งนี้ ซึ่งแสนจะโบราณและล้าสมัยมากเกินไปแล้ว การทำงานแต่ละเรื่องขึ้นอยู่กับกรรมการแต่ละคน และกรรมการแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการแต่ละชุด ซึ่งสามารถจัดการให้คว่ำตายหงายเป็นได้ ผู้เขียนเองไม่อาจทราบได้ว่าในสำนักงาน ป.ป.ช.มีวิธีการตรวจสอบเพื่อให้เรตติ้งแก่คณะอนุกรรมการเหมือนฝ่ายตุลาการบ้างหรือไม่ ดูแต่เรื่องกฎหมายหลักอย่างเดียว คิดหรือว่าจะได้ผลตามที่สังคมอยากเห็น
ท่านผู้อ่านคงได้ข่าวการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 19 ของสำนักงาน ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ได้เน้นวิสัยทัศน์ว่า "จะมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพการทำงาน พร้อมแก้ไขกฎหมายให้เข้มข้นขึ้นและสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม" ท่านประธานกรรมการของ ป.ป.ช.ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่น่าพิจารณา 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก ที่เห็นว่าสำคัญต่อการดำเนินงานคือการที่ ป.ป.ช.ได้วางระเบียบกรอบระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องทุจริตที่ได้รับเข้ามาให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ทราบกันดีว่า หน่วยงานนี้มีเรื่องที่ค้างการพิจารณามากมหาศาล มีมากมายหลายเรื่องที่ค้างจนหมดอายุความ ก็คือส่วนใหญ่เกินกว่า 10 ปีขึ้นไป
ประการที่สอง ท่านประธานได้กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ทำการแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยให้ดำเนินคดีกับผู้ให้สินบาทสินบนด้วย แต่เรื่องนี้ทราบว่าที่จริงก็มีกฎหมายอาญาลงโทษผู้ให้อยู่แล้ว ไม่ใช่ลงโทษเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ฝ่ายเดียว แต่ที่ผ่านๆ มาผู้ให้ถูกกันตัวเป็นพยานแทบทุกคดี มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถกล่าวโทษผู้รับได้ นี่คือปัญหาด้านกฎหมายของไทย
ประการสุดท้าย ท่านประธานยังได้กล่าวถึงการปรับลดดัชนีการคอร์รัปชั่น (CPI) ปี 2559 (ซึ่งประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2559) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ที่ให้อันดับไทยอยู่ที่ 101 ในปีที่แล้ว ท่านประธานก็ได้ให้เหตุผลว่าในปีที่แล้วได้เพิ่มตัวพิจารณาใหม่เข้ามาตัวหนึ่งในสูตรการคิดคะแนน ทำให้ประเทศไทยโดนกระทบ (ความจริงเป็นสูตรที่ใช้กับทุกประเทศ) จนได้อันดับ 101 ในประเทศทั้งหมด 176 ประเทศ แต่ปีนี้ ป.ป.ช.คาดว่าจะดีขึ้น และได้ตั้งเป้าว่าในปี 2564 หรือใน 4 ปีข้างหน้า ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือดัชนีการคอร์รัปชั่นตัวนี้จะไม่เกินอันดับ 50 ก็ขอให้ท่านผู้สนใจลองติดตามดูก็แล้วกันเถิดครับ คอยดูในเดือนธันวาคม 2560 นี้ จะออกมามากกว่าอันดับที่ 101 หรือไม่ ถ้าแย่ลงไปอีก คืออันดับสูงขึ้น ก็จะเป็นการชี้ให้เห็นนโยบายปราบคอร์รัปชั่นของรัฐบาล คสช.ว่ายิ่งอยู่ยาวแล้วนโยบายหลักนี้ได้ออกดอกออกผลแค่ไหน ออกกระทั่งดอกโตๆ ที่นั่งอยู่ในรัฐบาล คสช.
เพื่อเป็นความรู้สำหรับท่านผู้อ่านที่เคารพ ขออธิบายให้ฟังสักหน่อยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติผู้จัดอันดับเขาเก็บข้อมูลกันอย่างไร ถึงสามารถจัดอันดับการคอร์รัปชั่นของประเทศทั่วโลกได้ถูกต้องเช่นนี้ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเก็บมาจาก 9 แหล่งด้วยกัน โดยหลักๆ มาจากองค์กรหรือสถาบันที่ดูแลด้านธรรมาภิบาล (Good Governance) เช่นจากธนาคารโลก (World Bank) จากฟอรั่มเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จากสถาบันประมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมือง ที่เรียกว่า PERC (Political Economic & Risks Consultant) เป็นต้น ซึ่งสถาบันนี้จะดูด้านเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ดูความสามารถของรัฐบาลและระบบราชการในการเอาคนผิดมาลงโทษ โดยรวมแล้วการดูเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อจัดอันดับนี้ เขาไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องการโกงกินกันเท่านั้น แต่เขาดูถึงความสามารถในการเปิดเผยข้อมูลและการบังคับใช้กฎหมายของไทย และรวมทั้งเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนด้วย
ความเป็นจริงดัชนีอันดับการคอร์รัปชั่น ของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินั้น ในปี 2538 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2 ปี ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 34 ต่ำที่สุดเท่าที่เราเคยได้ แล้วก็มาติดอันดับ 102 สูงสุดเท่าที่เราเคยได้ในปี 2556 ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งมีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ทราบกันอยู่แล้วนะครับ ปีนั้นโครงการจำนำข้าวกำลังฮิตสุดๆ ถัดมาในปี 2557 ปีที่ คสช.ขึ้นมายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม หลังจากนั้นทหารก็ลุยแหลกในเรื่องปราบคอร์รัปชั่นทำให้ทั้งข้าราชการและตำรวจต่างก็หดเข้ากระดองกันเป็นจ้าละหวั่น อันดับของดัชนีการ คอร์รัปชั่นของไทยดีขึ้นแบบกระฉูดมาอยู่ที่อันดับ 85 เป็นอันดับที่แตกต่างกันถึง 17 อันดับภายใน 1 ปี ทำให้เชื่อได้ชัดว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับที่เชื่อถือได้จริงๆ
ถัดมาในปี 2558 หลังจาก คสช.ได้จัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 1 บริหารประเทศมาปีเศษอันดับของดัชนีการคอร์รัปชันของไทยก็ดีขึ้นมาอีก มาอยู่ที่อันดับ 76 คือสามารถไต่ขึ้นมาได้ 9 อันดับภายในปีเดียว แต่อย่าเพิ่งดีใจมาก เพราะในปีถัดมาคือปี 2559 นี้ หลังจากปรับคณะรัฐมนตรีโดยโยกคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดเก่าออกแล้วตั้งชุดใหม่เข้ามาในเดือนสิงหาคม 2558 ดัชนีในปี 2559 กลับพุ่งขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 101 เท่ากับประเทศเปรู ฟิลิปปินส์ และติมอร์ เลสเต แสบไหมล่ะครับพี่น้อง
คนไทยทั้งหลายขอให้คอยดูอีกไม่เกินเดือนจากนี้ว่าจะแสบขึ้นอีกจนทำลายสถิติสมัยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2556 หรือไม่ คอยเงี่ยหูฟังและลุ้นกันให้ดีว่า ในปี 2560 นี้ ดัชนีการคอร์รัปชั่น ของประเทศไทยจะติดอันดับที่เท่าไหร่ แล้ว ป.ป.ช.และรัฐบาลจะพูดว่าไง ให้เห็นใจท่านนายกฯประยุทธ์เสียจริงๆ ตอนนี้ดูซูบผอมไปบ้าง แต่ต่อจากนี้ไปคงซูบผอมไปอีกเป็นแน่แท้ เพราะขณะนี้อยู่ในภาวะกลืนก็ไม่เข้าคายก็ไม่ออกเสียแล้ว
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน