ประเด็นร้อน

ตามหาคน(โกง)หายยกเครื่องระบบยุติธรรม (ตามหาคน หาย)

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 08,2017

- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -

 

โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล

 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ได้จัดงานเสวนา หัวข้อ "ตามหาคน (โกง) หาย" มีผู้เข้าร่วมเสวนา คือ "ศ.พิเศษ  จรัญ ภักดีธนากุล" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  "นิวัติ แก้วล้วน" อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ดำเนินรายการโดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

         

โดย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานเพื่อนำเข้าสู่เรื่อง โดยเปิดประเด็นว่า  หลายปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกตำหนิมาตลอดว่า มีความล่าช้า มีความไม่เป็นธรรม และมีหลายคนหลบหนีคดีไปได้ เพราะมีอำนาจหรือมีเงินหรือแม้ติดคุกแล้ว ก็จะได้สิทธิพิเศษ ซึ่งเราจะมีวิธีการปรับปรุงกฎหมายหรือกระบวนการอย่างไร เพื่อให้มีความเที่ยงตรง เข้มแข็ง

         

จากนั้นได้เริ่มการเสวนา ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.มานะ ได้ตั้งเรื่องว่า  ปัญหาคอร์รัปชั่นจะแก้ไขอย่างไร เพราะไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ หรือแม้ได้รับการลงโทษแล้ว ก็ยังได้รับสิทธิพิเศษอีก หากเรายังปล่อยให้อำนาจเงิน อำนาจทางการเมือง ทำให้ผีโม่แป้งได้ ความยุติธรรมในบ้านเมืองก็จะไม่เกิด จึงต้องอาศัยพลังของประชาชน

         

ศ.พิเศษจรัญ กล่าวว่า ต้องตั้งโจทย์สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบ้านเรา โจทย์ข้อแรก คือ เรายังมีรูรั่ว ช่องโหว่ ปล่อยคนชั่วลอยนวลเยอะ "ระบบงานยุติธรรมเหมือนใยแมงมุม ดักได้แต่แมลงเล็กๆ น้อยๆ ปัญหาปล่อยคนชั่วลอยนวล" เป็นทั้งช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายทั้งระบบ

         

โจทย์ข้อ 2 คือ การไปจับเอาคนบริสุทธิ์มาดำเนินคดีอาญา ลงโทษทางอาญาเขา ซึ่งคนเหล่านั้นมักจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ไมมีกำลังจะต่อสู้ ปัญหาเลยเงียบสังคมไม่ได้ยินเสียง

         

โจทย์ข้อ 3 คือ ปัญหาของอาชญากรในเครื่องแบบ ในเสื้อครุย ยังมีบุคลากรในระบบงานยุติธรรมที่เกเร แทรกตัวอาศัยอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย อาศัยกฎหมาย ทำอาชญากรรมได้และปราบยากมาก เพราะคนพวกนี้ฤทธิ์มาก รู้มาก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน หากนำ 3 โจทย์รวมกัน ปัญหาใหญ่คือ ความเหลื่อมล้ำ ต่ำสูงของผู้คนในสังคมไทย มีมากเท่าไรลดลงได้มากเท่าไร ปัญหาทั้ง 3 ก็จะลดลงมากเท่านั้น

         

"ส่วนหัวข้อสัมมนาที่จะป้องกันคนที่ต้องคดีหลบหนีคดี ไม่สามารถได้ตัว ถึงได้มาก็ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้ หรือพิสูจน์ได้ก็จะหนีไปก่อนที่จะถูกลงโทษหรือแม้ลงโทษไปแล้วก็เสวยสุขในนรกได้อีก เราไม่ได้โกธรแค้นอาฆาต แต่เราต้องแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่าของคนส่วนใหญ่ในสังคม คนที่ทำผิด ควรได้รับการลงโทษตามสมควรแก่ความผิดที่ควรกระทำ สังคมจะได้รับบทเรียน สังคมจะปลอดภัยขึ้น"

         

ประเด็นทุจริตเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ  เราได้พัฒนากฎหมายกลไกมาเยอะ ตั้งแต่ 2519 ป.ป.ป. จนเป็นป.ป.ช. เสริมเขี้ยวเล็บให้ป.ป.ช. มากขึ้นและปิดล้อมไว้ อยู่ระดับที่พอใช้ได้แล้ว  ยกตัวอย่าง ถ้าในระดับสูง เรื่องคนหนีก็แก้เรื่องการขาดอายุความคนหนีแล้ว ถ้าหนีพิจารณาคดี ลับหลังได้ พิพากษาได้ มีโทษติดตัวตลอดชีวิต ส่วนจะจับมาดำเนินคดีได้อย่างไร มันไม่มีเครื่องจับ ถ้าเรามีองค์กรช่วยขับเคลื่อนทุกๆ ภาค และถ้าภาครัฐ ได้มือหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาล ยืนหยัดชัดเจนต่อสังคม ไม่ลดราวาศอกให้เจ้าหน้าที่เกเร ต้องเมตตาสังคมมากกว่ารักลูกน้องตัวเอง

         

"ถ้าเบอร์ 1 ไม่ทำ แต่ปล่อยให้เบอร์ 2 เบอร์ 3 ทำก็ไม่ได้ คนที่ดูแลระบบงานของทุกหน่วย หากเบอร์ 1 หมายถึงนายกฯ ยุคไหนมีนายกฯ ใจซื่อมือสะอาดจะได้ผลมากขึ้น แต่มือสะอาดคนเดียวก็ช่วยประเทศชาติไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน"

         

ส่วนเรื่องการแก้ไขอย่างไรเพื่อป้องกันคนหนีคดี ตอนนี้เราทำความผิดใหม่ขึ้นมา ฐานหนีประกัน สมัยก่อนไม่มี หนีประกันไม่ผิดอาญา แต่สมัยนี้ จำเลยในคดีทุจริตหนีประกันไป คนช่วยก็ผิดด้วย แต่ยังไม่เคยมีตัวอย่าง น่าจะเป็นเพราะว่า "มันมีความครอบงำของอำนาจเข้ามาเหนือกลไก ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทางใดทางหนึ่ง เราจะพยายามจะแก้ปัญหานี้ โดนตัดอำนาจการเมืองก่อน จะปรับระบบอย่างไรอย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำระบบยุติธรรมทางอาญาทุกขั้นตอน โดยเฉพาะตำรวจ ตำรวจเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษ ใครถือตะเกียงก็สั่งการยักษ์ได้ ทำให้กลไกยุติธรรมทางอาญาหยุดหรือเกินเลย"

         

"เรามีพิมพ์เขียวเห็นตรงกันว่า เอาตำรวจหลุดจากการครอบงำทางการเมือง  ถ้าแก้จริงๆ ต้องถอดการเมืองออกก่อน" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุ

         

ขณะที่ "นิวัติ"

         

กล่าวว่า โครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมไทย คือเริ่มต้นที่พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล พนักงานสอบสวนจับมาแล้วฟ้องอย่างเดียว ผู้พิพากษาที่โดนไล่ออกเยอะ ไม่ใช่เพราะการตัดสิน แต่เป็นการให้ประกันตัว

         

กระบวนการยุติธรรมที่ 4 คือ ราชทัณฑ์  ต่างชาติถามว่า บ้านเรามีโทษประหารทำไม มีก็ไม่ประหาร พอมีโทษประหารก็ติดคุกจริงๆ ไม่เกิน 20 ปี กระบวนการยุติธรรม พอไปถึงราชทัณฑ์ ก็ลดโทษ ปัญหากฎหมายไทย มีโทษประหารชีวิต เหลือจำคุกตลอดชีวิต ทำความดีเหลือ 50 ปี เริ่มลดลงเรื่อยๆ มีนักโทษทั้งเยี่ยม เยี่ยมมาก ขบวนการตรงนี้ ต้องปรับกระบวนการลงโทษด้วย ต้องมองโครงสร้างวิธีปฏิบัติให้ผู้ต้องโทษ ต้องได้รับโทษจริงๆ

         

ส่วนคดีทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป.ป.ช.ใหม่หรือศาลอาญาทุจริตฯ มีข้อดี คือการริบทรัพย์ โจทย์ไม่ขอริบ แต่ศาลสั่งริบได้ แต่ถ้าริบแล้ว ทรัพย์ไม่มีตัวตน ศาลก็ให้ประเมินราคา หาเงินมาใช้ ทำให้วิธีการบังคับคดีกว้างขึ้น  เพราะป.ป.ช. อัยการ บังคับคดีเองก็ได้ คดีที่จำเลยหนีประกัน สมัยนี้ถ้าอุทธรณ์ต้องมีจำเลยมาศาล สมัยก่อนให้ทนายมายื่นได้ ถ้าสมัยนี้หนี ก็มีอยู่ 2 อย่าง ไม่ตาย ก็เงินหมด กฎหมายป.ป.ช.ใหม่  เชื่อว่าจะมีประโยชน์เยอะ แตสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง  ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังมองว่า กฎหมายพวกนี้ตามล่าคนบางคน กฎหมายไม่เป็นธรรม

         

ด้าน "ยิ่งชีพ" กล่าวว่า ในอดีตภาพ นักการเมืองต้องคิดคุกไม่มีเลย แต่ในสมัยนี้ประเทศเรามีพัฒนาการเอาคนที่มีอิทธิพลทางสังคมเข้าเรือนจำได้ แต่สภาพเรือนจำมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ความแออัด อาหารการกิน จึงทำให้คนที่มีสถานะก็ต้องทำอะไรเพื่อให้ตัวเองได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าจะปฏิรูปให้คนได้รับโทษอย่างเท่าเทียมกัน

         

"เราน่าจะยกมาตรฐานเรือนจำขึ้นมาอีก  ให้พอรับได้ ทำให้คนที่จะใช้อภิสิทธิ์ ทำให้รู้สึกว่าความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเกิดมีความละอายได้บ้าง การปราบปรามมุ่งเอาผิดใครคนใดคนหนึ่ง อาจเป็นปลายทางเท่านั้นเอง แม้ได้รับการลงโทษ ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทุจริตในระยะยาว"

         

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องไม่ทำกระบวนการเป็นการเมืองและการตรวจสอบคอร์รัปชั่นยุคต่างๆ ทำให้เห็นเป็นการล็อกเป้ากลุ่มการมืองบางกลุ่มหรือไม่ ต้องเสริมสร้างพลังทางสังคม คนที่หนี ต้องเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่กระบวนการ ดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็น นายทักษิณ ชินวัตร หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดขึ้นภายหลังยึดอำนาจ ถ้าไม่รัฐประหารคดีก็ไม่เดิน คนพวกนี้ถูกตัดสินเมื่อตัวเองหมดอำนาจ ซึ่งการเมืองเดินมาเป็นฝ่ายสูญเสียอำนาจโดนคดีมากกว่า

         

ด้าน คสช. ก็มีมาตรา 279 เรื่องนิรโทษกรรม ผลพวงหลังจากการนี้ ทำให้อะไรก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งหลังจากนี้หากจะออกกฎหมายอะไร ที่เปิดช่องให้ทุจริตก็ไม่เป็นไร และยังมีคำสั่งมาตรา 44  ที่ให้ผู้ทำตามคำสั่งคสช.ไม่ต้องมีความผิด  จึงไม่แปลกที่สังคมจะรู้สึกว่า กระบวนการต่อสู้ ล็อกเป้าบางคน

         

ถ้ากระบวนการต่อต้านทุจริตไม่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็เท่ากัน ไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนก็เท่าเทียม มีการตรวจสอบได้ทั้งหมด ก็มีโอกาสที่คนกลางๆ จะเห็นว่า คนที่ถูกตัดสินน่าจะผิดจริง ถ้าหนีก็เป็นคนร้าย

         

"ระบบงานยุติธรรมเหมือนใยแมงมุม ดักได้แต่ แมลงเล็กๆ น้อยๆ ปัญหาปล่อยคนชั่วลอยนวล เป็นทั้งช่องว่างช่องโหว่ของกฎหมายทั้งระบบ"

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw