ประเด็นร้อน
กลไกแก้ปัญหาสถาบันการเงิน
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 21,2017
- - สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ - -
ธนัชพร ตระกูลวรสิน ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย
หากย้อนไปในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พบว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญ เรื่อง การรักษาบริการทางการเงินให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก และการลดภาระต่อภาครัฐโดยให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับความเสียหายในผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อน
เช่น การลดทุนจดทะเบียนก่อนที่ทางการจะเข้าแทรกแซงภายหลัง การตั้งธนาคารเพื่อรับโอนสินทรัพย์ดีมา บริหารจัดการ และการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาบริหารงานต่อ
หากขณะนั้นเตรียมการเข้าแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าเพียงพอ เช่น มีกฎหมายรองรับการดำเนินการต่างๆ และกำหนดผู้รับความเสียหายที่ชัดเจน ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหารวดเร็ว และเป็นระบบยิ่งขึ้น ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมาก
บทเรียนที่ได้รับจากวิกฤตปี 2540 และวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ทำให้ทางการหลายประเทศรวมถึงไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการวางรากฐานแนวทางเชิงป้องกันและแนวทางเชิงแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่อาจกระทบต่อระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวทางเชิงป้องกันที่ไทยดำเนินการคือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์กำกับดูแลด้านเงินกองทุนให้เพียงพอรองรับความเสียหายมากขึ้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอรองรับการไหลออกของแหล่งเงินและภาระผูกพันต่างๆ ภายใต้ภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีนัยสำคัญต่อระบบที่เข้มขึ้น การตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันการเงินโดยเน้นธุรกรรมที่สำคัญเป็นการกำกับดูแลที่มองไปข้างหน้า
รวมถึงกำกับดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเข้มขึ้น ยกระดับเรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน เพื่อให้การกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนของ เศรษฐกิจโดยรวม
ไม่เพียงทบทวนและปรับปรุง หลักเกณฑ์ต่างๆ ทางการยังให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในประเทศ โดยมีเวทีการประชุมร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อติดตามดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ที่ซับซ้อนมากขึ้น
ในช่วงที่สถาบันการเงินไทยมีฐานะมั่นคงและเข้มแข็งอยู่เช่นปัจจุบัน นอกเหนือจากที่ทางการได้ใช้เครื่องมือเชิงป้องกันแล้ว ทางการควรมีกลไกดูแลระบบโดยรวมเพื่อเป็นรากฐานของแนวทางเชิงแก้ไขไว้เผื่อรองรับการแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจในอนาคตด้วย โดยมีการกำหนดกฎหมายที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้าเพื่อสร้างกลไกแก้ไขปัญหา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้รวดเร็วและทันการณ์ ซึ่งจะช่วยให้รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
สาระสำคัญของกฎหมายควรครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการพิจารณา
และดำเนินการแก้ไขปัญหา ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เงื่อนไขการเข้าแก้ไขปัญหา เครื่องมือแก้ไขปัญหา แหล่งเงินแก้ไขปัญหาและการชดเชยความเสียหาย ซึ่งกลไกทั้งหมดนี้ต้องชัดเจนและยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้ การแก้ไขปัญหาทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลเสถียรภาพ ระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวมของไทยให้สอดคล้องกับสากลเป็น การสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินไทย ลดภาระต่อภาครัฐและประชาชนด้วย
แนวทางเชิงแก้ไขที่กล่าวมาของไทยนั้นสอดคล้องกับกรอบการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ Financial Stability Board (FSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่ทำหน้าที่ติดตามและให้ คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการเงินได้นำเสนอในปี 2557 ถึงแนวทางเชิงแก้ไขในลักษณะของกรอบการเตรียมการ แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินหากประสบภาวะวิกฤตที่จะกระทบต่อระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้แก้ไขปัญหาสถาบันการเงินใช้เป็นกรอบกำหนดแนวปฏิบัติการเข้าแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้ทันการณ์และราบรื่น ไม่ส่งผลลุกลามต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน อันจะช่วยลดภาระต่อภาครัฐและภาษีของประชาชน
กรอบดังกล่าวให้ความสำคัญของการมีกฎหมายเกี่ยวกับ (1) การมีหน่วยงานทำหน้าที่เข้าแก้ปัญหาที่ชัดเจน (2) การมีกลไกการแก้ไขปัญหาได้ ทันการณ์ (3) การกำหนดให้สถาบัน การเงินเตรียมแผนรองรับการแก้ไขปัญหา ด้วยตนเอง (4) การเตรียมแผนรองรับการแก้ไขปัญหาโดยทางการ และ (5) การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันทางการของสหภาพยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้นำกรอบของ FSB มาเป็นแนวทางในการกำหนดกฎหมายด้วย
แนวทางเชิงป้องกันและแนวทางเชิงแก้ไขของไทยที่ได้ดำเนินการมา ต่อเนื่องนี้จะเป็นการรองรับให้ระบบสถาบันการเงินไทยพร้อมเข้าสู่โครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ในปี 2561 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการเงิน และนำมาซึ่งระบบสถาบันการเงินที่มั่นคง โปร่งใส มีกรอบการกำกับดูแลสถาบันการเงินสอดคลองกับมาตรฐานสากล
ดังนั้น แนวทางที่ประเทศไทย เตรียมการไว้ล่วงหน้าในยามที่ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจมีฐานะมั่นคงและเข้มแข็ง ไม่เพียงเพื่อเข้ารับการประเมินภาคการเงิน แต่เป็นการสร้างความมั่นคงให้ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสร้างความเชื่อมั่นและความรู้สึกปลอดภัยให้ผู้ฝากเงิน ภาคธุรกิจ และประชาชนด้วย
หมายเหตุ **บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน