ประเด็นร้อน
โปร่งใสต้องตรวจสอบได้
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 21,2017
- - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -
ปัจจุบัน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีทิศทางนโยบายการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตที่ชัดเจน นักการเมือง ข้าราชการ ถึงจะพ้นตำแหน่งแล้ว หากตรวจพบความผิดปกติ ชี้แจงไม่ได้ก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ก็ได้ชื่อเป็นฉบับปราบโกง แต่เมื่อถึงขั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลับมีประเด็นเป็นที่สงสัยเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง
ร่างกฎหมายระบุว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สิน หนี้สินและที่ตั้งของ ทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าว ต้องไม่ระบุรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มีข้อสังเกต เทียบเคียงกับ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 ที่วางหลักให้บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชน นำไปใช้ตรวจสอบความเป็นจริงและที่มา ซึ่งมีหลายกรณีที่พบความผิดปกติ จนมีการดำเนินคดี
ในประเด็นที่มีการแสดงความเห็นอยู่ในขณะนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้เปิดเผย การตรวจสอบได้ ส่วนจะให้เปิดเผยอย่างไรนั้นก็ให้ไประบุในกฎหมายลูก ในขั้นการแปรญัตติ โดยระบุว่า การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน แบบเดิมรัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถ้าข้อมูลมีน้อยจนเกินไปก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ ควรมีความสมดุลในข้อมูลเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายคงทราบดีว่า ความโปร่งใสจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อทำให้การตรวจสอบทำได้โดยสะดวก บนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อเจ้าของ ผู้ครอบครอง ทรัพย์สิน
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน