ข้อตกลงคุณธรรม (IP)

ข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact)

โดย ACT โพสเมื่อ Dec 28,2016

               

ข้อตกลงคุณธรรม Integrity Pact

              ความเป็นมา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International : TI) จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน(Corruption Perceptions Index : CPI) เพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศต่างๆทั่วโลก ได้มีการสำรวจความรู้สึก และ การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศนั้นๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ และ ถือว่าการกำหนดมาตรการป้องกัน และ แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นยุทธศาสตร์และวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการ หรือ แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact) ถือเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) ที่ใช้ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ

               ข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact) คือ ข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น ไม่เรียกรับเงินสินบนหรือผลประโยชน์อื่นใด และ จะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตโปร่งใสและเป็นธรรม ข้อตกลงคุณธรรมจึงเป็นการลงนามด้วยกัน 3 ฝ่ายร่วมกัน 
1) หน่วยงานภาครัฐ 
2) หน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานกับภาครัฐ 
3) ภาคประชาสังคม คือ ผู้สังเกตการณ์(Observer) 
โดยยอมรับให้มีบุคคลที่สามที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ตั้งแต่การจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) จนถึงสิ้นสุดสัญญา

               ดังนั้น ถือเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ใจความสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม คือ ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ ไม่โกงกิน หรือ กระทำการใดๆที่ทุจริตคอร์รัปชัน และ เป็นเรื่องของการประหยัดงบประมาณเป็นสำคัญเพื่อสร้างสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาครัฐ