ประเด็นร้อน

ระวังประโยชน์ทับซ้อน

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 09,2017

- - สำนักข่าวไทยรัฐ - -

 

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังดำเนินต่อไป เนื่องจากทั้งสองอยู่ในระหว่างถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติจึงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

         

แต่ระดับผู้นำรัฐบาลต่างกระโดด "อุ้ม" พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งเป็นน้องชายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจในรัฐบาล คสช. พล.อ.ประวิตรอ้างว่า เหตุที่ถูกโจมตีเพราะนามสกุลวงษ์สุวรรณ ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายบอกว่าเรื่องนี้ "ไม่เป็นสาระอะไรในสังคม" เพราะ กมธ.แค่ 2 ใน 35 เสียง จะทำอะไรได้

         

แต่ฝ่ายที่เห็นต่างมองว่า 2 เสียงก็อาจแก้ไขสาระสำคัญของร่างกฎหมายได้หากมีผู้มีอำนาจหนุนหลัง เช่น อาจแก้ไขร่างกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 178 ในบทเฉพาะกาลให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. อีก 6 คน อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระแม้ว่ากรรมการถึง 7 คน ขาดคุณสมบัติ

         

รายงานข่าวระบุว่ากรรมการ ป.ป.ช.ปัจจุบัน 9 คน มีคุณสมบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญใหม่เพียง 2 คน สามารถอยู่จนครบวาระส่วนอีก 7 คน ขาดคุณสมบัตินั่นก็คือ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นรองเลขาธิการของ พล.อ.ประวิตรเป็นข้าราชการการเมืองและพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี กรรมการอีก 6 คน เคยเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับอธิบดีไม่ถึง 5 ปี

         

หากผู้มีอำนาจต้องการให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน อยู่ในตำแหน่งต่อไป อาจทำได้ด้วยการให้ กมธ.แก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรา 178 โดยใช้เสียงข้างมากหักดิบ แต่อาจกลายเป็นปัญหาการเมืองเพราะอาจถูกโจมตีว่ามีการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อตนเองและอาจจะขัดต่อกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ

         

รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของ ป.ป.ช. ไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เคยเป็นข้าราชการการเมือง และพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี หรือต้องเคยเป็นข้าราชการระดับอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ถ้ามีการแก้ไขให้ผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามและผู้ขาดคุณสมบัติอยู่ต่อไป จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

         

เรื่องนี้อาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ ในทางการเมือง อาจถูกกล่าวหาการเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ และยังมีองค์กรอิสระอื่นๆที่จะต้องมีการสรรหาและแต่งตั้งใหม่ หากถูกการเมืองแทรกแซงเท่ากับการทำลายระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยทำลายประชาธิปไตยและทำให้ชาติเสียหาย

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw