ประเด็นร้อน
คุ้มครองปชช.ลุยโกง?
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 30,2017
- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -
มาตรการแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คืบหน้าเป็นลำดับ หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ..... ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เสนอขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และมาตรา 278 ที่ระบุว่ารัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริตประพฤติมิชอบ และต้องจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบ มาตรการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ
เนื้อหาสาระที่สำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (คตป.) โดยให้เลขาธิการ ป.ป.ท.เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง จำนวน 4 คน กรรมการผู้แทนภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่ได้รับการสรรหาจากเครือข่ายต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบภาคประชาชน โดยความเห็นชอบจากนายกฯ จำนวน 4 คน และให้ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.มอบหมาย จำนวน 1 คน เป็นกรรมการและเลขานุการ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือการต่อต้านการทุจริตขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ท.โดยรัฐต้องจัดสรรเงินงบประมาณในประเภทเงินอุดหนุน ให้เพียงพอที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการ พร้อมกำหนดโทษว่าหากใครที่เป็นเจ้าหน้าที่ราชการพอมีประชาชนรวมตัวกันไปชี้เบาะแส แล้วไปกดขี่ข่มเหง รังแก ใช้อิทธิพล ทำให้ประชาชนเหล่านี้หวาดกลัวไม่กล้าที่จะชี้เบาะแส ไม่กล้าต่อต้านทุจริต จะต้องมีโทษที่เป็นการเพิ่มโทษอีกครึ่งหนึ่งที่กฎหมายอาญากำหนด เช่น ถ้าใครไปทำร้ายคนที่ชี้เบาะแส เดิมกำหนดไว้ว่าติดคุก 3 ปี ก็เพิ่มอีกปีครึ่ง รวมเป็นโดนโทษติดคุก 4 ปีครึ่ง เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนปกป้องไม่ให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คสช.เข้ามาปกครองประเทศหลังความ ขัดแย้งในประเทศจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นวาระหลักของรัฐบาลทหารจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความคืบหน้าของการแก้ปัญหาทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย แต่กระนั้นหลายฝ่ายยังคงมีความเคลือบแคลงถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ชี้เบาะแสฯ ฉบับนี้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะตัวแทนของภาครัฐหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้า กลับจะเพิ่มอุปสรรคให้กับผู้ชี้เบาะแสการทุจริตมากกว่าจะคุ้มครอง ทำให้วัตถุประสงค์ที่ต้องการจะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อต้านทุจริตที่ตั้งใจไว้ตอนแรกเป็นไปในทางตรงกันข้าม จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อให้กฎหมายนี้ตกผลึกในความศักดิ์สิทธิ์สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th