ประเด็นร้อน
ป.ป.ช. ยื้ออำนาจปราบโกง เปิดเกมงัดข้อ กรธ.- คตง.- อัยการ
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 27,2017
- - สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ - -
ยื้อสุดฤทธิ์ เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี "บิ๊กกุ่ย" พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นหัวขบวน ทุกประเด็นอำนาจ
ทุกมาตราถูกสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. งัดทั้งข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริง ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
1.มาตราและประเด็นที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. เห็นว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีอำนาจเพียงตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีอาญา เป็นการซ้ำซ้อนและขัดรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญมาตรา 236 แล้วว่า หากมีการกล่าวหา ป.ป.ช. ให้ศาลฎีกาตั้ง ผู้ไต่สวนอิสระมาตรวจสอบ
คำนิยาม "เจ้าพนักงานของรัฐ" ซึ่งไม่ครอบคลุมและแตกต่างจากที่กำหนดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้การชี้มูลของ ป.ป.ช.ในอดีต ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เช่น คดีอดีตนายกรัฐมนตรี กรณีจำนำข้าว
2.มาตราและประเด็นที่ขัดต่อหลักการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ ตามร่างมาตรา 97 กำหนดให้เพียงผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน โต้แย้งสำนวนของ ป.ป.ช.และบังคับให้ต้องกลับมาทบทวน ภายใน 30 วัน
ทำให้สภาพคำวินิจฉัยสามารถถูก โต้แย้งได้จากองค์กรที่มิใช่คู่กรณี และทำให้คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น และการสถาปนาอำนาจให้ คตง.มีอำนาจทับซ้อนกับ ป.ป.ช.
3.มาตราและประเด็นที่ทำให้การปราบปรามการทุจริตเสื่อมประสิทธิภาพ ได้แก่ กระบวนการไต่สวน มีการสร้าง รูปแบบและขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการดำเนินการ โดยต้องนำเสนอ ป.ป.ช. พิจารณาก่อน เช่น ร่างมาตรา 49 วรรคสาม หรือร่างมาตรา 51 กำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช. 3 คน เป็นคณะกรรมการไต่สวน ไม่ยืดหยุ่น และอาจมีปัญหาหากมีปริมาณเรื่องจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ร่างมาตรา 45 วรรคสอง กำหนดให้ต้องรับพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหานำส่งทุกกรณี จนกว่า ป.ป.ช.จะมีมติชี้มูล อาจทำให้เป็นช่องทางประวิงเวลาได้ และไม่คำถึงถึงการชี้แจงภายในกำหนดเวลา
ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินบางประเภท ตามร่างมาตรา 37 กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจขอข้อมูลธุรกรรมทางการเงินจาก ปปง.ได้ แต่ปัญหาคือ กรณีที่ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินไม่เข้าหลักเกณฑ์ (ต่ำกว่า 2 ล้านบาท) ป.ป.ช.ไม่สามารถมีข้อมูลในส่วนนี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน
ตามร่างมาตรา 63 การพิจารณาว่าเรื่องคดีใดมิใช่เป็นความผิดร้ายแรง เท่ากับเป็นการกำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องรับเรื่องและเป็นผู้พิจารณาทุกเรื่องว่าเรื่องกล่าวหาใดควรส่งหรือเรื่องใดควรทำ ไม่สอดคล้องกับหลักการที่ต้องการให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเฉพาะเรื่องกล่าวหาขนาดใหญ่ จึงควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาไว้ก่อน แล้วจึงรายงานมายังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อพิจารณา
ความเสมอภาคในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามร่างมาตรา 127 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ ควรกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรา 150 ที่ให้คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยื่นลักษณะเดียวกัน
4.มาตราที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการตีความและอาจเป็นการนิรโทษกรรมความผิดที่ได้เคยวินิจฉัยชี้มูลไปแล้ว ได้แก่ กำหนดนิยาม "เจ้าพนักงานของรัฐ" ไว้แตกต่างจากเดิม อาจทำให้คดีที่ได้ชี้มูลผู้ดำรงตำแหน่งในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ้นจากความรับผิด เนื่องจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในภายหลังไม่ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิด และไม่กำหนดนิยาม "การกระทำการทุจริตในวงราชการ" ที่ชัดเจน
5.มาตราที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และขวัญกำลังใจ ได้แก่ การใช้กฎหมายสันนิษฐานความผิดของเจ้าหน้าที่ไว้และให้ลงโทษโดยไม่มีกระบวนการพิสูจน์ความผิดไม่เคยมีกำหนดไว้ในองค์กรใดในกระบวนการยุติธรรมแม้แต่องค์กรเดียว ที่สำคัญการดำเนินการที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากมีบทลงโทษที่รุนแรงหากมีการนำความลับไปเปิดเผย
ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เช่น ตามมาตรา 40 บทคุ้มครองเจ้าหน้าที่ถูกตัดออกทั้งหมด จึงเป็นช่องทางให้มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ เพื่อประวิงคดี เนื่องจากต้องไปต่อสู้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด
การตัดเรื่ององค์กรกลางบริหารงานบุคคลออก ทำให้หลักความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลไม่มี ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารทรัพยากรบุคคลซึ่งควรจะต้องเป็นอิสระ
6.ประสิทธิภาพในการดำเนินคดีที่ถูกตัดออกไป ได้แก่ อำนาจในการดำเนินการตามคำร้องขอจาก ต่างประเทศในคดีทุจริต ในฐานะศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต เพื่อดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
อำนาจที่จำเป็นในการระงับยับยั้งการทุจริตที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การแฝงตัวการสะกดรอย การเข้าถึง ข้อมูลเชิงลึก การดักฟังโทรศัพท์ และการ เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดนำไปซุกซ่อนในต่างประเทศ เพื่อนำกลับคืนมา
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th