ประเด็นร้อน
เจ้าหน้าที่ปปช.ล่าชื่อค้านให้อำนาจสตง.สอบทุจริต
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 20,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
เปิดรับสมัครกกต.วันแรก ยังเงียบเหงา ไร้คนเสนอตัว ส่วนการสรรหาเลขาฯป.ป.ช.ผ่านมาแล้ว 10 วัน มี "วรวิทย์" สมัครแค่รายเดียว ยันแม้จะเป็น "คนใน" แต่ไม่ใช่การล็อกสเปค เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ล่าชื่อชงกรธ. ขอตัดอำนาจผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบ สอบคน"ป.ป.ช." นายกฯเคาะตั้งกรรมการคุมการทำงาน กนจ. หวังแก้งานล่าช้า
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านสื่อ เว็บไซต์ มีหนังสือไปถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง องค์กรศาล องค์กรอิสระ เพื่อที่จะชักชวนให้บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้ามาสมัครรับคัดเลือก โดยให้ที่ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครพร้อมแนบแบบเสนอเอกสารและหลักฐานด้วยตัวเองในวันและเวลาราชการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรองเลขาธิการป.ป.ช.มาสมัครเพียงคนเดียวอาจจะถูกครหาว่าล็อกสเปคหรือไม่ พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะได้เปิดกว้างแล้วและที่ผ่านมาจากสถิติการรับสมัครเลขาธิการป.ป.ช. 2 ครั้งที่ผ่านมา มีคนในและคนนอกมาสมัครเพียง 2 คนเท่านั้น ดังนั้นในครั้งนี้คงต้องรอให้ถึงวันที่ 24 ต.ค.ก่อน อาจจะมีผู้มีคุณสมบัติมาสมัครเพิ่มได้
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าถ้ามีผู้สมัครเพียงรายเดียวก็ไม่ถือว่าล็อกสเปค เพราะต้องผ่านการพิจารณาสรรหาตามหลักเกณฑ์
รับสมัครกกต.วันแรกยังเงียบ
ส่วนกรณีคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.วันแรก บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา ยังไม่มีบุคคลเข้ามายื่นใบสมัคร ซึ่งคณะกรรมการสรรหากำหนดกรอบคุณสมบัติสัดส่วนกกต. สายภาคประชาสังคมที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปีในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองการต่อต้านการทุจริต และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น โดยต้องยื่นหลักฐานยืนยันว่าทำกิจกรรมดังกล่าวจริง เช่นรายงานการประชุม ภาพถ่ายกิจกรรมในช่วง 20 ปีติดต่อกัน
สำหรับเอกสารใบสมัครกกต.มีทั้งหมด 14 หน้า ผู้สมัครต้องกรอกรายละเอียดคุณสมบัติของตัวเองและอธิบายประสบการณ์ทำงาน ประวัติการศึกษา รวมถึงต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความเกี่ยวพันทางการเมือง นอกจากนี้ต้องอธิบายถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกต่อไป
ล่าชื่อตัดอำนาจสตง.สอบปปช.
ขณะที่แหล่งข่าวป.ป.ช. เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้ส่งต่อข้อความในการลักษณะเป็นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้ร่วมกันลงชื่อเป็นการแสดงข้อคิดเห็นต่อกรณี ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ยกร่างพระราชบัญญัติ สตง.มาตรา 7 วรรค 3 ที่ระบุว่า หากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น แล้วให้แจ้งผลต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หากมีมูลความผิดก็ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการ
โดยมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเกิดปัญหาความขัดแย้งขององค์กรบังคับใช้กฎหมายระหว่าง ป.ป.ช. และ สตง.
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงขั้นตอนการไต่สวนเบื้องต้น แต่อาจเป็นร่างที่มีเนื้อหาขยายขอบเขตหน้าที่อำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 242 และมาตรา 244 กำหนด อีกทั้งยังขัดมาตรา 234 (2)
หวั่นกระทบประสิทธิภาพทำงาน
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะในการดำเนินคดีอาญา บุคลากรที่จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินคดีอาญาดังนั้น การกำหนดให้ผู้ว่าสตง.เป็นผู้ตรวจสอบอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในหลักประกันในการให้ความเป็นธรรม
ดังนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะผู้ปฏิบัติโดยตรง จึงเห็นพ้องกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าร่างพ.ร.ป.สตง.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาประวิงเวลาซึ่งมีอยู่จำกัดโดยการกลั่นแกล้งกล่าวหาพนักงานไต่สวนไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นควรตัดเนื้อหาของร่างมาตรา 7 วรรค 3 ออกทั้งวรรค
แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามปกติ มาตรการที่ใช้ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายประการ อาทิ มาตรการทางวัฒนธรรมองค์กร ก็มีบทห้ามไม่ให้เข้าไปมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ไต่สวน และในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จะถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมองค์กร เช่น การห้ามรับเลี้ยงหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน
นายกฯตั้งซูเปอร์บอร์ดคุมกนจ.
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า รัฐบาล และ คสช. มีแนวทางร่วมกัน ในการบริหารจัดการราชการแผ่นดินให้ระดับภาคเกิดความเข้มแข็ง โดยอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมจากที่วางแผนไว้ จึงต้องมีการนำร่องในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ปีงบประมาณนี้เป็นต้นไป
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะพิจารณาอีกครั้ง เพราะหวังอยากให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปการแก้ไขปัญหาก็จะช้าลง
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ กพ. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการใช้อำนาจในมาตรา 4 วรรค 1 พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 2551 โดยจะต้องปรับระบบการทำงานของกนจ.เดิม จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขพ.ร.ฎ.ดังกล่าวในบางประเด็น พร้อมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการการบริหารงานในเชิงพื้นที่ หรือ กบพ. ทำงานเป็นซูเปอร์บอร์ด ซึ่งการทำงานจะมีความกระชับ แก้ไขปัญหาการทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการแบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 6 ภาค โดยจะดูแลการทำงานของกนจ.
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th