ประเด็นร้อน

สหกรณ์วันนี้

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 17,2017

 - - สำนักข่าวสยามรัฐ - -


เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คนใหม่ ได้มอบนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ปี 2561 ให้กับผู้บริหารระดับสูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีข้อมูลน่าสนใจดังนี้

         

- พบว่าสหกรณ์ที่อยู่ในข่ายมีปัญหาข้อบกพร่องทั้งหมด 1,228 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 43,566.22 ล้านบาท(ประมาณการมูลค่าความเสียหาย)

         

- ตรวจพบว่ามีสหกรณ์ที่มีปัญหาเรื่องทุจริต 52 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว 555 ล้านบาท ประกอบด้วย

         

1.การทุจริตเงินกู้ ปลอมแปลงสัญญาเงินกู้มี 11 แห่ง

         

2.ทุจริตเงินสด ยักยอกเงินมี 19 แห่ง3.ทุจริตการรับฝากเงินมี 6 แห่ง4. ทุจริตรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร 3 แห่ง5. ทุจริตการจัดหาสินค้า จำหน่ายสินค้า 5 แห่ง6. ทุจริตเงินยืมทดรองจ่ายหรือเบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 3 แห่ง

         

ปัญหาเหล่านี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์จนถึงวันที่ 30 กันยายน2560 เหลือสหกรณ์ที่มีปัญหาข้อบกพร่องทั้งสิ้น 202 แห่งคิดเป็นมูลค่า 13,667 ล้านบาท

         

- กรณีทุจริตอธิบดีคนใหม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด...คือ

         

1. เมื่อพบการกระทำทุจริต ให้สั่งการให้หยุดหรือเลิกการกระทำทันที หากฝ่าฝืน ให้ร้องทุกข์ต่อ และสั่งให้คณะกรรมการ หรือกรรมการสหกรณ์ พ้นจากตำแหน่ง

         

2. สั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบความเสียหาย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

         

3. ให้สหกรณ์ร้องทุกข์ดำเนินคดี- กรณีผู้บริหารสหกรณ์ทำนอกกรอบวัตถุประสงค์ให้ดำเนินการดังนี้

         

1. เมื่อพบการกระทำการดังกล่าว ให้สั่งการให้หยุดหรือเลิกการกระทำทันที หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ให้ร้องทุกข์ และสั่งให้คณะกรรมการ หรือกรรมการพ้นจากตำแหน่ง

         

2. หาผู้รับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหาย3. ฟ้องดำเนินคดีกรณี พฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ให้ดำเนินการดังนี้

         

1. เมื่อพบการกระทำดังกล่าว ต้องสั่งการให้ยุติการดำเนินการดังกล่าว และแก้ไข

         

2. หาผู้รับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายนโยบายด้านอื่นๆ ยังมีอีกมาก แต่ที่คัดมาเฉพาะข้อความก็อยากจะชี้ให้เห็นถึงการทุจริต ในระบบสหกรณ์วันนี้ว่า น่าเป็นห่วงมาก เพราะสหกรณ์ เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีประชาชนเป็นสมาชิกประชาชนบริหารจัดการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นของสมาชิก ความหวังของคนในชาติเกี่ยวกับระบบสหกรณ์นั้นสูงยิ่งนัก หากสหกรณ์มีสภาพเป็นอย่างนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็น่าเป็นห่วงแล้ว นี่ยังไม่รวมปัญหาที่ยังไม่ปรากฏ(ซ่อนอยู่) อีกมากมาย....ทำไมถึงเป็นเช่นนี้...เพราะสหกรณ์วันนี้ มีปัญหาที่เป็นรากเหง้าแห่งปัญหา ดังนี้

         

1.มีระบบผูกขาด เพราะมีลักษณะเป็น การเมืองมากกว่าเป็นสหกรณ์ตามหลักการสหกรณ์ จะพบว่าหลายสหกรณ์เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการ ก็มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันเหมือนการเมือง บางสหกรณ์คณะกรรมการ ผู้จัดการ ก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน แบ่งปันกันอย่างลงตัว จึงเกิดระบบผูกขาดอย่างแนบเนียน ลึกลับ ซับซ้อนเหมือนอยู่ในวังสนธยา

         

2.มีระบบอุปถัมภ์ เช่น พนักงานสหกรณ์มักจะเป็นลูกๆ หลานๆ ของกรรมการ ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถใดๆ เข้ามาแล้วก็ให้ออกไปยากเพราะเป็นลูกหลานของกรรมการ บางสหกรณ์ผู้จัดการใหญ่มาก จัดการเองได้ทุกอย่าง แถมยังอุปถัมภ์กรรมการทุกคนได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกสมัย

         

3.มีระบบการชี้นำ การชี้นำเหล่านี้เกิดจากผลประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นหลัก เกิดจากบริษัทคู่ค้ากับสหกรณ์เช่นบริษัทขายปุ๋ย ขายยา บริษัทประกันชีวิตประกันภัย ขายรถ ขายโทรศัพท์ บางแห่งก็มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้นำ แนะนำ เสนอผลประโยชน์ให้ก็มีมากมาย จึงพบว่ากรรมการสหกรณ์ได้ไปดูงานต่างประเทศกันอยู่เนืองๆ เอาเงินที่ไหนไปก็คิดได้ไม่ยาก

         

4.มีการเล่นแร่แปรธาตุ หลักการของสหกรณ์ข้อหนึ่งความว่า "สหกรณ์มิได้มุ่งดำเนินการเพื่อแสวงหากำไร แต่เพื่ออำนวยผลประโยชน์และให้บริการแก่สมาชิกในสิ่งที่สมาชิกต้องการ ฉะนั้นการที่จะถือว่าสหกรณ์ใดประสบความสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใด จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรที่สหกรณ์ได้รับ แต่ขึ้นอยู่กับประโยชน์และการบริการที่สมาชิกได้รับจากสหกรณ์เป็นสำคัญ" แต่วันนี้สหกรณ์แข่งขันกันที่กำไร5.ขาดอุดมการณ์ คือ "แนวคิดที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ให้มีความกินดีอยู่ดีและมีสันติสุข โดยประหยัด ช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" การปลูกฝังอุดมการณ์ในข้อนี้ต้องถือว่าสหกรณ์ส่วนใหญ่ "สอบตก" ตัวชี้วัดก็คือสมาชิกสหกรณ์มีหนี้ท่วมหัวแทบทั้งนั้น เดือดร้อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงช่วยเหลือใครไม่ได้ จริงๆ

         

6.ขาดการมีส่วนร่วม อุดมการณ์อีกข้อหนึ่งที่สำคัญที่สุดของสหกรณ์ คือ "การร่วมมือกัน (Co-Opera tion) ในการดำเนินธุรกิจ เพราะหากปราศจากการร่วมมือกันแล้วสหกรณ์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้" ข้อนี้ก็สอบตกอีก เพราะกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมาชิกมีน้อยมาก บางแห่งเกือบไม่มีเลยทั้งปี แล้วสมาชิกจะร่วมมือกันได้อย่างไร ? จากกิจกรรมอะไร ?

         

7.ขาดการส่งเสริมอย่างถูกต้อง7.1 ส่งเสริมให้ดำเนินงานตามหลักประชาธิปไตย(Democratic Control) ที่ทำได้ทุกวันนี้ คือการให้สมาชิกแต่ละคนมาออกเสียงในวันเลือกกรรมการ และโหวตเรื่องต่างๆ (ส่วนใหญ่จัดตั้งมาแล้ว) ส่วนการควบคุม ตรวจสอบ ให้กรรมการดำเนินงานสหกรณ์เป็นประโยชน์แก่สมาชิก โดยสมาชิกนั้น ข้อนี้ สอบตก เพราะสมาชิกไม่เคยเข้าไปตรวจสอบอะไรได้จริงๆ

         

7.2 ส่งเสริมการศึกษาการศึกษาอบรมสมาชิกของสหกรณ์ในหลักสูตรที่เข้มข้น จริงจัง หวังผล ทันสมัยใส่กลยุทธ์ สามารถต่อยอดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งได้นั้นยังไม่พบมากนัก ส่วนใหญ่ทำกันแบบขอไปที ตั้งงบประมาณไปศึกษาดูงาน (พากันไปเที่ยวมากกว่า)

         

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาเชิงระบบ ไม่ใช่ปัญหาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งสะสมอยู่ในสหกรณ์มานานนับ100 ปี ดังนั้นความหวังของคนไทยที่อยากจะเห็นระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง สู้กับระบบทุนนิยมได้ ประชาชนพึ่งพาอาศัยได้ ก็ต้องแก้ปัญหาทั้ง 7 ข้อนี้ให้ได้ โดยเฉพาะการศึกษาอบรมวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อนำสหกรณ์เข้าไปสู่ยุค 4.0 ที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ บวกกับการปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ (รุ่นเก่าแก้ยาก)ให้เขาเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ มีความพอเพียง เหมือนเช่นสหกรณ์ใน เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

         

มีคำถามว่า...ทำไม ? กรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่นำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินของแบงก์ชาติมาใช้กับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ทันที นายพิเชษฐ์กล่าวว่า"ปัจจุบันสหกรณ์ไม่ได้ทำธุรกิจการเงินเพียงอย่างเดียว ต้องดูแลสมาชิกทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการหารายได้ สร้างเสริมอาชีพ ส่งเสริมการออม ดูแลผลตอบแทนให้กับสมาชิกในระดับที่เหมาะสมด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงนำหลักเกณฑ์ของ ธปท. มาใช้กำกับดูแลความเสี่ยงทางการเงินและความเสี่ยงในการบริหารจัดการของคณะกรรมการสหกรณ์ จะนำมาใช้ทุกตัวไม่ได้ โดยในช่วง 1-2 ปี คงต้องให้เวลาสหกรณ์ปรับตัวก่อน หากเร่งขึงให้ตึงอาจพังทั้งระบบ เพราะเดิมไม่เคยมีหลักเกณฑ์มากำกับดูแล เงินไหลเข้ามาฝากสหกรณ์เท่าไหร่ ถอนออกไปเท่าไหร่ ลงทุนอะไร ปล่อยกู้ใคร ต่อไปนี้ต้องรู้ มีฐานข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการกำกับดูแลตรวจสอบได้"

         

คำตอบแบบนี้จึงพอมองเห็นวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มีความเป็นตัวของตัวเองมากพอ จึงขอเป็นกำลังใจให้ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์คนใหมคุณพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ ที่ยังหนุ่มแน่น มีความรู้ มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ จะช่วยปฏิรูประบบสหกรณ์ไทยให้สำเร็จในยุคนี้ ซึ่งจะเป็นคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจไทยฐานรากได้อย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO

 

 

  

 

WebSite : http://www.anticorruption.in.th