ประเด็นร้อน

โพลชี้ปชช.เชื่อหลังเลือกตั้งนักการเมืองยังขัดแย้ง-ทุจริต

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 16,2017

  - - สำนักข่าวสยามรัฐ - -

 

"กรธ." โอ่ร่าง "พ.ร.ป.ส.ว." ฉลุยอยู่ระหว่างทบทวนเนื้อหา "เลือกไขว้คุณสมบัติผู้สมัคร" ก่อนชง สนช. พิจารณา พร้อมนำข้อเสนอ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ "เสรี" โวยโอน 8 ภารกิจ ตร. จ่อมีปัญหาหลังหน่วยงานอ้างไม่พร้อม ขณะที่ "ซูเปอร์โพล"เปิดผลสำรวจพบ ปชช.ส่วนใหญ่เชื่อหลัง ลต.นักการเมืองยังทุจริต-ขัดแย้งรุนแรง แนะนักการเมืองปฏิรูปก่อนลต. เพื่อหลุดพ้นวงจรเดิม

         

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.60 นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของ กรธ.ว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ขณะนี้เสร็จไปแล้วในรอบแรก กำลังทบทวนอีกครั้งว่ามีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่องหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของวิธีการเลือกไขว้และคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพ คาดว่าไม่น่าจะเกินสิ้นเดือน ต.ค.นี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์

         

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเริ่มพิจารณากันในเดือน พ.ย.นี้ และจะเร่งให้เสร็จเพื่อทันส่งให้ สนช. พิจารณาตามที่ กรธ.ได้กำหนดไว้ คือ 28 พ.ย. 60 ซึ่ง กรธ.เตรียมข้อมูลเบื้องต้นไว้หมดแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรอย่างไรก็ตามการประชุม กรธ.ในสัปดาห์นี้ จะนำข้อเสนอของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาพิจารณาว่ามีส่วนใดต้องปรับแก้หรือไม่ หากมี เหตุผลดีเราจะปรับแก้ให้ โดยจะทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้และส่งให้ สนช. ต่อไป

         

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ซูเปอร์โพล(SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่องการเมืองกับการปฏิรูปตัวเองในสายตาประชาชน จากความคิดเห็นของประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,208 คน ระหว่างวันที่ 5-14 ต.ค.60 พบว่า คิดอย่างไรกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งมากที่สุด ร้อยละ 68.9 ระบุว่า ทุจริตคอร์รัปชันเหมือนเดิม รองลงมาร้อยละ 20.2 ระบุว่า ทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น น้อยสุดร้อยละ 10.9 ระบุว่าทุจริตคอร์รัปชันน้อยลง สำหรับความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติจะเป็นอย่างไร หลังการเลือกตั้ง ร้อยละ 56.3 ระบุว่าขัดแย้งรุนแรงเหมือนเดิม ร้อยละ 27.8 ระบุว่า ขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ร้อยละ15.9 ระบุว่า ขัดแย้งรุนแรงลดลง

         

สำหรับการรับรู้ของประชาชนถึงการปฏิรูปตัวเองของนักการเมือง ร้อยละ75.9 ระบุว่า ยังไม่เห็น ร้อยละ 24.1 ระบุว่าเห็นว่านักการเมืองได้ปฏิรูปตัวเองแล้วนอกจากนี้ความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปตัวเองของนักการเมืองกับการเลือกตั้ง ร้อยละ 73.4 ระบุว่าควรปฏิรูปตัวเองก่อนการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองต้องปรับปรุงตัวเองให้ดีก่อน จะได้มั่นใจมีนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ ไม่โกงกลัวจะได้นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันกลับมาเหมือนเดิม กลัวความวุ่นวายขัดแย้งรุนแรงกลับมาอีก ถ้านักการเมืองไม่ปฏิรูปตัวเองบ้านเมืองจะหยุดชะงักถอยหลังอีกไม่หลุดพ้นวงจรเดิม ร้อยละ 26.6 ระบุว่า ควรเลือกตั้งก่อน แล้วให้นักการเมืองปฏิรูปตัวเอง เพราะเป็นประชาธิปไตยและอยากเลือกตั้ง

         

ขณะเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) กล่าวถึงความคืบหน้าต่อการพิจารณาทำเนื้อหาด้านการปฏิรูปตำรวจ ว่า จากการพิจารณาครั้งล่าสุด เกี่ยวกับการโอนย้ายและแบ่งภารกิจงานที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ 8 ภารกิจได้แก่ ด้านการตรวจคนเข้าเมือง, ด้านงานจราจร, ด้านทางหลวง, ด้านรถไฟ,ด้านตำรวจน้ำ, ด้านตำรวจป่าไม้, ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ ด้านความผิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงสายงานนั้น ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่กำหนดให้รับมอบภาระงานเข้าหารือ แต่มีหลายหน่วยงานที่ปฏิเสธการรับโอน เนื่องด้วยความไม่พร้อม

         

นายเสรี กล่าวต่อว่า ยอมรับบางภารกิจแต่ไม่รับบางภารกิจ เช่นงานด้านตำรวจจราจร ที่กรุงเทพมหานครพร้อมรับภารกิจด้านการอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบ แต่ไม่พร้อมรับงานด้านคดีความที่เกิดจากอุบัติเหตุบนถนน, งานด้านตำรวจรถไฟ ที่เตรียมโอนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ดูแล มีความพร้อมเรื่องการดูแล และสอบสวน, งานตำรวจป่าไม้ ที่ไม่ขอรับงานด้านสืบสวนเป็นต้น ทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการโอนย้าย แต่ได้ให้หลักการสำคัญไว้ คือ กรณีที่หน่วยงานปฏิเสธการรับโอน ด้วยสาเหตุความไม่พร้อมนั้น ไม่เป็นเหตุผลสำคัญที่จะปฏิเสธงานดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปได้ ดังนั้นประเด็นที่จะตัดสินใจรับโอนนั้น ควรเป็นประเด็นของแผนงาน ระยะเวลา และงบประมาณ

         

นอกจากนี้ กรรมการปฏิรูปฯ ยังกล่าวถึงประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการให้อัยการมีส่วนร่วมต่องานสอบสวนของพนักงานสอบสวนของตำรวจโดยยอมรับว่า เป็นข้อถกเถียงที่ฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่อัยการยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนหรือทำสำนวนคดี เพราะกังวลว่าพนักงานอัยการจะเข้าแทรกแซงการทำงานและทำให้การทำงานขาดความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำข้อกังวลดังกล่าวหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ขณะที่ความตั้งใจของกรณีดังกล่าวเพื่อให้การทำสำนวนคดีหรือการสอบสวนทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการมีการถ่วงดุลและทำงานการสอบสวนให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและเที่ยงธรรมที่สุด

         

"ข้อเสนอในหลักการเกี่ยวกับการถ่วงดุลเรื่องงานสอบสวนนั้น ต้องเปิดเผยตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้อาจให้อัยการมีพนักงานสอบสวนเป็นคนของตนเอง มีอำนาจสอบคดีเพิ่ม หรือ รับข้อร้องเรียนของประชาชนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือสอบคดีที่กระทบความมั่นคง หรือคดีที่เกี่ยวกับสาธารณชนโดยรวม แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปในหลักการ แต่ในข้อศึกษาของงานปฏิรูปตำรวจระบุถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและวางโจทย์ที่เป็นเป้าหมายคือประชาชนได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตำรวจ และอัยการต้องเป็นฝ่ายที่ถูกตรวจสอบได้เช่นกัน"

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO

 

 

 

 

WebSite : http://www.anticorruption.in.th