ประเด็นร้อน

กฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ต้องเข้มข้น ปราบโกงสำเร็จ

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 06,2017

  - - สำนักข่าวไทยโพสต์ - -

 

นับถึงเวลานี้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รอส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก็เหลือเพียง 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา, ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง กรธ.ก็วางคิวส่งให้ สนช.ตามลำดับข้างต้น

         

แม้ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. เพราะเป็นสองกฎหมายลูกที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าต้องจัดการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 150 วัน หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. 4 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง-กฎหมายพรรคการเมือง-กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แต่กฎหมาย ป.ป.ช.ก็ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เพราะจะเป็นกฎหมายที่จะมารองรับกลไกการป้อง กันและปราบปรามการทุจริต ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐ ธรรมนูญ (กรธ.) เขียนไว้ จนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

         

ความคืบหน้าของเรื่องนี้ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยปฏิทินไว้ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทาง กรธ.ได้พิจารณาเรียงรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีจำนวน 188 มาตรา แบ่งออกเป็น 11 หมวด และบทเฉพาะกาล ซึ่งจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในวันที่ 5 ต.ค. เพื่อให้พิจารณาในรายละเอียดและส่งความคิดเห็นกลับมายัง กรธ.ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่ กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ สนช.ภายในวันที่ 24 ต.ค.ต่อไป

         

นายนรชิต บอกด้วยว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การมุ่งเน้นให้ ป.ป.ช.ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามเป็นหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนคดีในลักษณะประพฤติมิชอบ เช่น การกระทำผิดวินัยหรือจริยธรรม ป.ป.ช.จะไม่เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบเอง โดยหาก ป.ป.ช.พบข้อเท็จจริงก็สามารถส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนคดีที่ค้างอยู่ในระบบของ ป.ป.ช.ให้มีจำนวนน้อยลง นอกจากนี้ กรธ.ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค ไม่เกิน 12 ภาคทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล ป.ป.ช.จังหวัด รวมไปถึงการทำหน้าที่ไต่สวนที่ได้รับมอบหมายจาก ป.ป.ช.ส่วนกลาง

         

ขณะที่การดำรงอยู่ของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ทางโฆษก กรธ.บอกไว้ว่า กรธ.จะพิจารณาคุณสมบัติเป็นหลัก หากกรรมการ ป.ป.ช.คนใดมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่หากใครมีคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยกระบวนการในการพิจารณากรณีดังกล่าวจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา ภายใน 20 วัน จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะทำหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เสร็จภายใน 15 วัน

         

หลังจาก กรธ.ส่งร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ไปให้ สนช.แล้ว ก็ต้องรอดูกันว่า ทาง กมธ.ของ สนช. รวมถึงมติของที่ประชุม สนช. จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช. จากที่ กรธ.ส่งไปหรือไม่

         

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.จริงๆ แล้วมีหลายเรื่อง หลายประเด็น ที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เรื่องการรีเซตคุณสมบัติ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่เรื่องอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่แม้จะมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่กฎหมาย ป.ป.ช.ดังกล่าว ก็จะมีการขยายความด้วยการเขียนให้มีความละเอียดมากขึ้น รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะเป็นส่วนขยายในการทำงานของ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ถือเป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

         

ทั้งนี้ เมื่อไปดูจากร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่ ป.ป.ช.ส่งไปให้ กรธ.ก่อนหน้านี้ ร่างฯ ดังกล่าวเขียนถึงหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ไว้ เช่น (1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือประพฤติมิชอบ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

         

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐาน ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระ ทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่นหรือประพฤติมิชอบ เพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

         

(3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลใด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นต้น

         

กระบวนการต่อจากนี้ จึงต้องดูว่าท้ายสุดทาง สนช. หลังได้รับร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.จาก กรธ.แล้ว สนช.จะมีการ เขียนร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ออกมาอย่างไร เพื่อทำให้การป้อง กันและปราบปรามการทุจริต มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO