บทความ
งานวิจัยเพื่อเอาชนะคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Oct 05,2017
ในฐานะเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อการเอาชนะคอร์รัปชันสองฉบับในขณะนี้
ยุทธศาสตร์แรก คือ “ยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นยุทธศาสตร์ในแบบที่ทุกคนสามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกันได้ สามารถเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามและประเมินให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติอย่างสอดคล้องไปตลอดระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยจะมีร่างยุทธศาสตร์ออกเผยแพร่ภายในปลายปีนี้
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ “ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านคอร์รัปชัน” ของ สนง. คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดทางวิชาการที่ก้าวหน้ามากของบ้านเราและขณะนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
งานวิจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจรากเหง้าและพฤติกรรมของคอร์รัปชันได้ถ่องแท้กว่าปรากฎการณ์ที่เราเห็นหรือได้ยินได้ฟังมา ซึ่งจะทำให้สามารถหาทางแก้ไขปัญหาไปที่ต้นเหตุแท้จริงได้ งานวิชาการยังช่วยอธิบายประเด็นที่สับสน เช่น ความแตกต่างระหว่างสินน้ำใจกับสินบน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง อธิบายเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ความแตกต่างในการคอร์รัปชันเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ฯ ประโยชน์สาธารณะกับคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน อธิบายกลไกที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชัน เช่น การมีกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัยและมากเกินจำเป็น ผู้มีอิทธิพลต่อการเกิดคอร์รัปชันในรัฐวิสากิจ เป็นต้น
หลายทศวรรษที่ผ่านมาคอร์รัปชันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนตลอดเวลา งานวิจัยยังช่วยให้เราเข้าใจทิศทางของมันเพื่อหาทางป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย และช่วยให้เราสามารถคัดเลือกมาตรการที่นานาชาติใช้ได้ผลดีและเหมาะกับประเทศไทย เหมาะกับสถานการณ์ ส่งผลกระทบในวงกว้างและให้ผลดีในระยะยาวมากที่สุด
งานวิจัยและบทความทางวิชาการเกี่ยวกับคอร์รัปชันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เลวร้ายลง แต่น่าเสียดายว่าผลงานส่วนใหญ่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ อาจเป็นเพราะคุณค่าของตัวผลงานที่ไม่ตรงความต้องการใช้งาน การสืบค้นหาผลงานทำได้ยาก ไม่มีหน่วยงานใดรวบรวมไว้ หลายผลงานไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ทด้วยเจตนาหรือความบกพร่องของหน่วยงานเจ้าของ หรือเพราะมีเนื้อหาที่อาจส่งผลในทางลบกับตัวผู้วิจัย
ปัจจุบันมีหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยอยู่หลายแห่ง เช่น ป.ป.ช. สกว. รัฐสภา สภาพัฒน์ฯ มหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนบางแห่ง นอกจากนี้ยังมีผลงานประกอบการศึกษาระดับต่างๆ ที่น่าสนใจจำนวนหนึ่งด้วย
ดังนั้นยุทธศาสตร์การวิจัยฯ จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การใช้งบประมาณและบุคลากรด้านการวิจัยเกิดประโยชน์สุงสุดร่วมกัน มีการกำหนดประเด็นวิจัยต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่อเนื่อง ครอบคลุมแต่ไม่เหวี่ยงแห ใช้วิธีการวิจัยและเทคโนโลยีอย่างหลากหลาย ที่สำคัญความรู้ที่เกิดขึ้นต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของผู้เกี่ยวข้องได้ เช่น การแก้ไขความล่าช้าในการเอาคนโกงมาลงโทษ รูปแบบคอร์รัปชันเชิงนโยบายในกระทรวงเกษตร คอร์รัปชันในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รูปแบบคอร์รัปชันใน กทม. ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อของกระทรวงกลาโหม การใช้ดุลยพินิจที่ก่อให้เกิดการทุจริตในกรมสรรพากร เป็นต้น
การที่เรามีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเก็บรวบรวม ประมวลความเปลี่ยนแปลงและศึกษาความต้องการของตลาด แล้วเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้สนใจทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ก็จะช่วยพัฒนาความต่อเนื่องของงานวิจัยด้านคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่า ป.ป.ช. พร้อมที่จะทำหน้าที่นี้หรือไม่
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน