ประเด็นร้อน

มิติใหม่ภาคเอกชนในฐานะกลไกป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

โดย ASB โพสเมื่อ Sep 20,2017

 - - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -


ป.ป.ช. เปิดตัวคู่มือสำหรับนิติบุคคลเพื่อแนะแนวทางการจัดทำมาตรการป้องกันการให้สินบน ในงานประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการให้สินบน"รัฐเอกชนร่วมใจ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยไร้สินบน"

 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ขับเคลื่อนกฎหมายและมาตรการต่อต้านการให้สินบนมาอย่างต่อเนื่อง  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2560 ให้หน่วยงานรัฐนา "คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการ ควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ" ของ ป.ป.ช. เผยแพร่ให้กลุ่มเป้าหมายและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมศึกษา รายงานวิจัยและแนวปฏิบัติที่ดีของสากล เช่น องค์การ OECD เพื่อพิจารณา แก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการให้ สินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การกำหนด ห้ามมิให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิ และการส่งเสริมให้นิติบุคคลมีมาตรการกำกับดูแลด้านการบัญชีและการบันทึกข้อมูล เป็นต้น

 

ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ภาคธุรกิจเอกชนและให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐและเพื่อ เปิดตัวคู่มือของ ป.ป.ช. อย่างเป็นทางการ สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดงาน ประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ ของรัฐ ภายใต้ชื่อ "รัฐเอกชนร่วมใจ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยไร้สินบน" (Clean Business, Sustainable Thailand) ในวันพุธที่ 27 ก.ย.2560 โดยคาดว่าจะมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศ คณะทูตานุทูต และสมาคมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมราว 500 คน โดยรับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประกาศเจตนารมณ์

 

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัว คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และ ศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน (Anti-Bribery Advisory Service: ABAS)

 

คู่มือนี้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่3) พ.ศ. 2558)และเกิดจากการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนการนำความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ ประกอบด้วยส่วนอธิบายเนื้อหาของกฎหมายและส่วนหลักการ พื้นฐาน 8 ประการ

 

 1. การมีนโยบายป้องกันการให้สินบนจากระดับบริหารสูงสุด 2. การประเมินความเสี่ยงการให้สินบน 3. การกำหนดมาตรการที่ชัดเจนสำหรับกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบน 4. การปรับใช้มาตรการกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ 5. การมีระบบบัญชีที่ดี 6. การบริหารทรัพยากรบุคคล 7. การสนับสนุนให้รายงานการกระทำความผิด และ 8. การตรวจสอบและประเมินผลการใช้มาตรการเป็นระยะ

 

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวัง ให้คู่มือดังกล่าวสามารถปรับใช้ได้กับองค์กรธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาดทั้งบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ SMEs และ Startup และจะมีการจัดพิมพ์ ฉบับภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ให้แก่นักลงทุนต่างชาติเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

อีกทั้ง ป.ป.ช. ยังมีแผนขับเคลื่อนการต่อต้านการให้สินบนอย่างต่อเนื่องร่วมกับสภา สมาคม และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และในปลายปีนี้เว็บไซต์ศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลเพื่อป้องกันการให้สินบน เพื่อเป็นช่องทางการให้ข้อมูลและคำแนะนำเชิงวิชาการในเรื่องดังกล่าว ทำให้นิติบุคคลมีความรู้ความเข้าใจและสามารถออกแบบมาตรการการควบคุมภายในของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จึงนับเป็นมิติใหม่ที่ภาคเอกชนจะร่วมเป็นกลไกสำคัญในการ แก้ปัญหาสินบนของประเทศ และเมื่อทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็จะมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีการค้าการลงทุน ที่โปร่งใส และเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO