ประเด็นร้อน

ให้ข้าราชการทุกระดับเปิดทรัพย์สินนำร่องแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภาครัฐ

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 18,2017

 - - สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ - -

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. แถลงผลการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำในที่ประชุมเรื่องการดำเนินคดีทุกกลุ่ม ว่าจะต้องมีความเท่าเทียม ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยยึดหลักความรอบคอบ และไม่นำของเก่ามาปนกับของใหม่

          "อนุกรรมการได้เสนอให้แสดงบัญชีทรัพย์ของข้าราชการทุกระดับ ตั้งแต่เริ่มรับราชการ เลื่อนตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และเกษียณอายุราชการ เพื่อเป็นการทราบที่มาที่ไปของทรัพย์สิน และเป็นการป้องกัน ปิดโอกาสให้คนได้ยั้งคิด ในการที่จะกระทำผิด โดยนายกรัฐมนตรีขอให้นำไปศึกษาว่ามีประเทศใดดำเนินการในลักษณะนี้บ้าง เพื่อจะศึกษาผลกระทบรอบด้าน ทั้งข้อดี และข้อเสีย โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนนำมารายงานในที่ประชุมครั้งต่อไป" เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว นายประยงค์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายฝ่ายกฎหมายเร่งศึกษาการตั้ง ศอตช.เป็นหน่วยงานหลัก ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังพิจารณาขยายโครงการโตไปไม่โกง เพื่อสร้างจิตสำนึกตั้งแต่โรงเรียนไปยังครอบครัว โดยเน้นการนำเสนอผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์มากขึ้น และขยายไปสู่ชุมชน รอบโรงเรียนและเตรียมขยายโครงการจากโครงการภาษีไปไหน ไปสู่โครงการระยะที่ 2 ภาษีมาจากไหน ให้ประชาชนได้รับรู้ที่มาของภาษี เฝ้าระวังการใช้จ่ายภาษีอย่างถูกต้องโปร่งใส นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เนื่องในวันต่อต้านการทุจริตสากล ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งรายละเอียดของงานจะมีการหารือกันต่อไป

 

          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงราชการ โดยการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการควรทำตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเข้าทำงานและควรแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทุกๆ 4-5 ปี เพื่อแสดงว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่ถูกร้องเรียนว่าข้าราชการคนใดร่ำรวยผิดปกติ จะได้นำข้อมูลที่แจ้งไว้มาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

 

          "การให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องดีที่จะป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ทุจริตที่สำคัญ 3 ฝ่ายอันประกอบด้วย 1. ฝ่ายการเมือง 2. ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ 3. ฝ่ายนักธุรกิจเอกชน เมื่อฝ่ายข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบมากขึ้น จะทำให้การทุจริตยากมากขึ้นตามไปด้วย จะช่วยทำให้การทุจริตเบาบางลงตามสมควรขอฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เสริมสร้างมาตรการขจัดการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยให้ได้ผลมากขึ้น"

 

          นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้ข้าราชการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า เป็นการศึกษาร่วมกันของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการศึกษามาแล้วกว่า 2 ปี ที่มีแนวคิดว่าข้าราชการทุกคนควรยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ก.พ. ทราบตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็นข้าราชการ เพื่อให้ข้อมูลของข้าราชการแต่ละคน โดยจะมีการเก็บข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่การจะไปจ้องจับผิดข้าราชการ แต่เป็นการแสดงทรัพย์สินเพื่อเป็นข้อมูลของข้าราชการแต่ละคนเท่านั้น และจะไม่มีการนำข้อมูลออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพียงแต่จะให้มีการตรวจสอบได้ง่ายขึ้นหากมีกรณีร้องเรียนข้าราชการแต่ละคน ถือว่าเป็นประโยชน์ ส่วนคนที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่สอดคล้องกัน ก็จะต้องมีความผิด

 

          ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวถือว่าเบากว่าการตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะกลุ่มที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบเป็นนักการเมืองและข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มต้นอาจจะดำเนินการในวิธีที่ง่ายก่อน คือการให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเฉพาะในส่วนของข้าราชการใหม่ แต่หากระบบมีการพัฒนาที่ดีขึ้นแล้ว เหมือนระบบการยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ก็อาจจะให้ข้าราชการทุกรายยื่นบัญชีทรัพย์สิน อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าเรื่องนี้จะทำให้ข้าราชการเกิดความระมัดระวังมากขึ้นเพราะมีข้อมูลอยู่ในหน่วยงานตรวจสอบ และหวังว่าข้าราชการทุกคนจะยินดีเปิดเผยข้อมูล ดังกล่าว โดยจากงานวิจัยพบว่ามีประเทศกว่า 15 ประเทศที่เริ่มมีระบบการดูแลข้าราชการในลักษณะนี้

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS

Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU

Follow IG : https://goo.gl/aARAzS

 



 

 WebSite : http://www.anticorruption.in.th