ประเด็นร้อน
เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงทรัพย์สิน แก้โกงได้จริงไหม
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 16,2017
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ต่อตระกูล: สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับให้ความสนใจผลการประชุมคณะกรรมการ ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เช่น ไทยโพสต์พาดหัวข่าวว่า"ฮือฮา! อนุกรรมการด้านการป้องกันฯ เสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน" มติชนพาดหัวข่าวว่า "ให้ เจ้าหน้าที่รัฐโชว์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มทำงาน" และกรุงเทพธุรกิจเขียนว่า "ดึงข้าราชการโชว์บัญชีกันรวยผิดปกติ" บทความตอนนี้ผมเลยจะขอรายงาน รายละเอียดของข้อเสนอนี้ครับ ในวันนั้น ผมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต ได้เสนอเรื่องให้นายกฯพิจารณาเพียงเรื่องเดียวโดยข้อความสั้นๆว่า "เสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยจัดเก็บไว้ที่ศูนย์ราชการต้นสังกัดในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล" ข้อเสนอนี้ รับมาจากการปรึกษาหารือกันในการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ที่ได้ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาออกแบบระบบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการพลเรือนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
เรื่องนี้นายกฯ ในฐานะประธาน คตช. ตอบรับเป็นอย่างดีโดยขอให้นำไปศึกษาเพิ่มเติมว่ามีประเทศใดอีกบ้างที่ทำแบบนี้ นโยบายนี้จะมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาหรือไม่ และถ้าจะทำจริง ก็ขอให้กำหนดกรอบให้รัดกุม อย่าให้มีผลกระทบ ตามมา
ในเบื้องต้น รายงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯชิ้นนี้ได้รวบรวมรูปแบบของระบบการยื่นรายได้และทรัพย์สินจาก 15 ประเทศทั่วโลก ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ประกอบกับบทสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ได้ข้อสรุปผลการศึกษาว่า "ระบบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และทรัพย์สินสามารถออกแบบให้ทำหน้าที่เสริมกับกลไกการส่งเสริมจริยธรรม กลไกการสนับสนุนการกระทำ ที่ถูกกลไกการตรวจสอบผลลัพธ์ กลไกการปกป้องผลประโยชน์ของตัวข้าราชการ และกลไกการกระตุ้นจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการ ซึ่งขาดหายไปในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพียงแต่จำเป็นต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย"
โดยในรายละเอียดระบุว่า ควรให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของราชการที่มีอายุสัญญาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี รวมทั้งสามีภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องยื่นบัญชีรายได้และทรัพย์สิน ประกอบด้วย รายได้ แหล่งที่มาของรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สินเป็นประจำทุกปี ในช่วงเวลาเดียวกันกับการยื่นภาษีเงินได้ โดยยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และควรให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) มีส่วนร่วมในการวางระบบ ที่สำคัญรายงานระบุว่า นโยบายนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนพร้อมกัน หน่วยใดพร้อมก็ให้เริ่มก่อนเลยและอาจเริ่มด้วยระบบสมัครใจเปิดเผยข้อมูล โดยมีแรงจูงใจเป็นรางวัลต่างๆ แต่สุดท้ายข้าราชการทุกประเภทควรเข้าสู่ระบบนี้
อย่างไรก็ตาม การจะให้เจ้าหน้าที่ รัฐทุกคนเข้าสู่ระบบเปิดเผยข้อมูลนี้ ต้องระมัดระวังให้มากในการออกแบบรายละเอียด ไม่อย่างนั้นนโยบายที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ อาจสร้างภาระมหาศาล กลายเป็นโทษและถูกต่อต้านจากสาธารณชนได้ ตามที่รายงานวิจัยฉบับนี้ ระบุไว้ว่า ระบบจะต้องสอดคล้องกับหลักการออกแบบภาระหน้าที่ 3 ประการ ได้แก่ 1.ถูก คือมีต้นทุนต่ำ 2.ได้ คือสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และ 3.ง่ายคือ ไม่ซับซ้อน ใช้งานได้ง่าย
ดังนั้นจึงเหมาะสมแล้วที่ให้ยื่นข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) มีส่วนร่วมในการวางระบบ โดยให้จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลดิจิตอลไว้ที่ศูนย์ราชการต้นสังกัด เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ และสนับสนุนให้เปิดเผยต่อสาธารณะ
ต่อภัสสร์: เรื่องนี้หากคิดทำสมัยก่อน จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้กำลังคนและระบบเก็บข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาแพง ไม่คุ้มค่าแน่นอน ถ้าทำก็จะประสบปัญหาเหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากเป็นผู้อ่านและตรวจสอบ ซึ่งถ้าจะให้ตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ก็คงจะเป็นภาระที่หนักมาก จนไม่สามารถเป็นไปได้
แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปเป็นอันมากจนสามารถจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ได้อย่างง่ายดาย โดยมีต้นทุนต่ำ ระบบคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันมีความฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ พอที่จะทดแทนมนุษย์ได้ในการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลอย่างเที่ยงตรง
และผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ต้องระมัดระวังในการออกแบบรายละเอียด เพราะนโยบายนี้เป็นเหมือนดาบสองคมหากวางระบบได้ดี สามารถอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้งานเปิดข้อมูลของแต่ละคนได้โดยสะดวก เช่น ยื่นไปพร้อมกับการยื่นภาษีประจำปีต่อกรมสรรพากร ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องทำอยู่แล้ว ก็จะไม่สร้างปัญหาเป็นภาระเพิ่มขึ้นให้กับใคร แต่หากไม่ออกแบบรายละเอียดให้รอบคอบแล้ว อาจทำให้นโยบายนี้เป็นอุปสรรคต่อการบริการราชการแผ่นดินอย่างมหาศาลได้
ต่อตระกูล: ขั้นต่อไปคือการเร่งหาคำตอบสำหรับคำถามของนายกฯ 2 ข้อ คือ ประเทศอื่นๆที่ใช้นโยบายนี้ แล้วมีใครบ้าง และจะมีผลกระทบอะไรตามมาได้บ้าง ซึ่งรายงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ฉบับนี้ก็ได้รวบรวมคำตอบมาแล้วบ้าง ดังนั้นจะต้องไปขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้วิจัย และรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอื่นๆจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะล่าสุดคุณประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ คตช.ได้ประกาศว่า จะเร่งนำมาตรการนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา สั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามภายในอีก 3 สัปดาห์นี้ครับ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS
Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU
Follow IG : https://goo.gl/aARAzS
WebSite : http://www.anticorruption.in.th