บทความ
คนไทยพร้อมกำจัดคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 03,2017
คนไทยพร้อมกำจัดคอร์รัปชัน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เปิดเผยรายงาน “สถานการณ์คอร์รัปชันโลก 2017” (Global Corruption Barometer 2017: GCB) ซึ่งเป็นข้อมูลการสำรวจความเห็นและประสบการณ์ของประชาชนในประเทศภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ดังนี้
1. คนไทยร้อยละ 41 กล่าวว่า ในการติดต่อราชการยังต้องติดสินบน (Bribe) อยู่ ซึ่งสะท้อนว่าคอร์รัปชันในระบบราชการยังเป็นปัญหาวิกฤติของประเทศที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
2. คนไทยเพียงร้อยละ 14 เชื่อว่า “ในปีที่ผ่านมามีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น” ทำให้เห็นว่าไทยมีสถานการณ์คอร์รัปชันดีที่สุดในเอเซียแปซิฟิค ดีกว่าทุกประเทศที่สำรวจรวมถึง ญี่ปุ่น (26) ฮ่องกง (48) เกาหลี (50) มาเลเซีย (59) และ อินโดนีเซีย (65) ที่ประชาชนมองว่าประเทศของตนมีการคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้นสูงกว่าไทย
3. คนไทยมากถึงร้อยละ 72 เชื่อว่า “ประชาชนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะคอร์รัปชันได้” จัดได้ว่าคนไทยมีทัศนคติที่มีความหวังและเชื่อมั่นพลังประชาชนในระดับสูง
4. คนไทยร้อยละ 72 มองรัฐบาลในทางบวก คือ เห็นว่ารัฐบาลทำได้ดีแล้วเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน
5. จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนเห็นพ้องกับการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
6. ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็จ่ายสินบน แต่คนจนต้องจ่ายหรือรับภาระมากกว่า เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีอำนาจต่อรอง และไม่มีพวกพ้องที่จะคอยช่วยเหลือ
7. “ตำรวจ” เป็นหน่วยงานที่คอร์รัปชันมากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนของรัฐ
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ประเมินได้ว่า ในสายตาและประสบการณ์ของคนไทย “สถานการณ์คอร์รัปชันแม้ยังเลวร้ายอยู่ แต่มีแนวโน้มดีขึ้น” จากปัจจัยสำคัญ คือ วันนี้ประชาชนรับรู้ เข้าใจและตื่นตัวพร้อมที่จะแสดงความเป็นเจ้าของประเทศอย่างมีส่วนร่วม (Active Citizen) ขณะเดียวกันยังมีผลจากร่วมมือของทุกภาคส่วน กอปรกับ รัฐบาลมีความก้าวหน้าในการผลักดันมาตรการที่จริงจังในการป้องกันปราบปราม ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น
GCB จัดทำครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เป็นการสำรวจเกี่ยวกับคอร์รัปชันด้วยการไปพูดคุยแบบตัวต่อตัว เพื่อเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ของประชาชนในประเทศนั้นๆ เอง ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร เห็นว่า ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความหลากหลายและครอบคลุมมากกว่า “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI)” ที่องค์กรนี้เป็นผู้จัดทำเช่นกัน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
2/8/60