ประเด็นร้อน

โครงการต้านโกงใหม่ๆ

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 02,2017

 - - สำนักข่าว แนวหน้า  วันที่ 02/08/60 - -

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

 

           ต่อตระกูล: ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราสองคนได้นำเสนอเรื่องในระยะยาว คือแนวความคิดแปลกๆใหม่ๆที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ในอนาคต และระยะสั้นคือรายงานความคืบหน้าของโครงการและนโยบายที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เรายัง ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน คือเรื่องในระยะกลาง นั่นคือ แนวความคิดแปลกใหม่ที่ได้รับการกลั่นกรองและปรับแก้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยแล้ว และกำลังจะนำมาใช้จริงในเร็วๆ นี้

 

           ต่อภัสสร์: เห็นด้วยครับ โครงการเหล่านี้ล่ะที่จะสร้างความหวังให้ประเทศไทยได้ ผมเข้าใจว่าโครงการและนโยบายประเภทนี้มีอยู่ไม่น้อย ส่วนตัวผมเองมีโอกาสได้เข้าไปร่วมคิดและทำโครงการประเภทนี้อยู่จำนวนหนึ่ง จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังในบทความตอนนี้ครับ

 

          ต่อตระกูล: ดีมากเลย มีโครงการอะไรบ้าง และโครงการเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนและรัฐบาลอย่างไรบ้าง ถ้าดีและน่าสนใจเราจะได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วย

 

           ต่อภัสสร์: ครับ โครงการแรกที่จะพูดถึงคือ Crowdsourcing Investigative Journalism  หรือโครงการประชาชนนักข่าวโครงการนี้เกิดมาจากความสำเร็จในการเปิดโปงคดีทุจริตจำนวนมากโดยนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่หลายท่านน่าจะเคยได้ยินคือสำนักข่าวอิศรา ที่มีคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์เป็นผู้อำนวยการ จึงมีความเห็นที่จะขยายจำนวนนักข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยการจัดอบรมนักข่าวทั่วไปให้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เพราะถ้ามีนักข่าวมาทำข่าวเชิงลึกประเภทนี้มากขึ้น ก็จะมีคนทำงานประจำจำนวนมากขึ้นที่คอยเฝ้าสอดส่องดูเหล่านักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมืองไม่ให้โกง สังคมไทยก็จะโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

 

           อย่างไรก็ตามการจัดอบรมนักข่าวแบบนี้ แต่ละครั้งจะได้นักข่าวสืบสวนสอบสวนใหม่จำนวนไม่มาก ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างทันท่วงที จึงเกิดความคิดว่าแทนที่จะอบรมแค่นักข่าว ทำไมเราไม่สร้างให้คนทั่วไปเป็นนักข่าวไปเลย อย่างนี้แทนที่จะขยายได้ปีละหลักร้อยคน เป็นปีละพันเป็นหมื่นคนได้เลย สิ่งนี้ทำได้ด้วยการสร้างพื้นที่ที่ประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมกับการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะได้ตามความสามารถของ แต่ละคน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตื่นตัวกับเรื่อง คอร์รัปชัน ให้ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เกิดเป็นสังคม เปิด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

 

                วิธีการทำงานคือ จะมีนักข่าวมืออาชีพเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่แบ่งปันข้อมูล ทีมงานจะค้นหาข่าวที่น่าสนใจมาสืบสวนสอบสวนและทำสรุปให้เข้าใจง่ายด้วยภาพประกอบ จะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาให้ความเห็นและให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทีมงานก็จะเอาข้อมูลเหล่านั้นมากลั่นกรอง และสืบให้ลึกลงไปจากข้อมูลที่ได้รับมา เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือนักข่าวมืออาชีพให้ทำงานสะดวกและเร็วขึ้น ในขณะที่ประชาชนทั่วไปก็จะได้ระบายทั้งความในใจและระบายข้อมูลที่ไม่กล้าแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วย และข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำไปสืบสวนเพื่อทำข่าวต่อๆไป เป็นวงจรความโปร่งใส

 

           สิ่งที่โครงการนี้ต้องการการสนับสนุนคือ ความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ยิ่งมีคนมาร่วมให้ความเห็นและข้อมูลมาก ข้อมูลยิ่งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น พวกบัตรสนเท่ห์เพื่อกลั่นแกล้งคนก็จะเกิดยากขึ้น โครงการนี้ระยะแรกจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ โดยจะใช้เฟซบุ๊คเป็นพื้นที่แบ่งปันข้อมูล เพื่อเก็บข้อมูลมาพัฒนาเป็นพื้นที่ถาวรในระยะต่อไปที่ประชาชนอาจจะสืบค้นข่าวเองเลยก็ได้ในปีหน้า

 

          ต่อตระกูล: น่าสนใจดี ถ้าเราสามารถทำให้คนไทยทุกคนเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนหรือผู้ช่วยนักข่าวได้ มั่นใจว่าคนโกงต้องไม่รอดพ้นสายตาคนไทยเป็นล้านๆ คนแน่นอน

 

          ต่อภัสสร์: อีกโครงการหนึ่ง ผมเคยพูดถึงไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน นั่นคือ ตราสัญลักษณ์ธรรมาภิบาล โดยผลักดันให้บริษัทเอกชนสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจ่ายสินบนในการประกอบธุรกิจ ตราสัญลักษณ์นี้ไม่ได้สร้างใหม่ เพราะมีอยู่แล้วคือ หลักเกณฑ์ของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC)ที่พัฒนามาโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Institute of Directors  หรือ IOD ) โดยหลักเกณฑ์นี้ครอบคลุมและรัดกุมมาก และมีการประเมินผลบริษัทเหล่านี้อยู่เป็นประจำโดยผู้เชี่ยวชาญ

 

        ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนไทยสมัครเข้าร่วม CAC แล้วกว่า 843 บริษัท และได้รับการรับรองแล้วถึง 232 บริษัท แต่จำนวนนี้ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินธุรกิจที่ยังต้องจ่ายสินบน และผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องโครงการนี้เท่าใดนัก นี่จึงเป็นที่มาของการขยายผลโครงการโดยเชื่อมโยงประชาชนผู้บริโภคด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกบริษัทในประเทศต้องเข้าร่วมโครงการ

 

         โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ต่อไปเวลาเราจะซื้อสินค้าอะไร เราจะจ้องดูก่อนว่าสินค้านั้นมีตราสัญลักษณ์ CAC ติดอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าผู้ผลิตสินค้านี้มีระบบธรรมาภิบาล ทำธุรกิจด้วยความใสสะอาด ทำให้สินค้าที่เลือกซื้อนั้นคุ้มค่า เพราะไม่มีต้นทุนสินบนแอบแฝงอยู่ เช่น ถ้าจะซื้อบ้าน หากบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ตราสัญลักษณ์ CAC ผู้ซื้อก็มั่นใจได้ว่า ราคานี้คือราคาบ้านจริงๆ ผู้ขาย ไม่ได้บวกค่าสินบนอื่นๆไปด้วย ดังนั้นก็น่าจะคุ้มค่า และน่าเชื่อถือ ตัวผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ ประเทศชาติก็พัฒนา ภายในปลายปีนี้จะได้เห็นการขยายผลโครงการนี้อย่างแน่นอนครับ

 

          ต่อตระกูล: เยี่ยมไปเลย ต่อไปคนที่อยากมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนอกจากบ่น ก็สามารถร่วมต่อสู้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่เลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่จ่ายสินบน หรือ บริษัทที่ได้รับรองจาก CAC เท่านั้น

 

           ต่อภัสสร์: โครงการสุดท้ายที่ผมจะเล่าถึง น่าจะเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนอย่างมาก นั่นคือการรับความเห็นในการรับบริการจากหน่วยงานรัฐ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านต้องเคยไปใช้บริการจากหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าทำบัตรประจำตัวประชาชน สอบใบขับขี่ จดทะเบียนโอนที่ดิน หรือแม้การขอนำเข้ายาและอาหารเสริม บางท่านอาจเคยได้รับประสบการณ์ที่ดี แต่ไม่รู้จะไปกล่าวชมเจ้าหน้าที่คนนั้นอย่างไร หรือถ้าเป็นประสบการณ์ที่แย่ ก็ไม่รู้จะไปบ่นที่ไหนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันผู้บริหารหน่วยงาน รัฐต่างๆหลายแห่ง ก็อยากได้รับความเห็นจากการใช้บริการที่ตรงไปตรงมา เพื่อมาปรับปรุงการทำงาน โครงการรับความคิดเห็นนี้ จะเป็นทางออกให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

 

          ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย และ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้การนำของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Institute of Directors หรือ IOD ) โครงการ Citizen Feedback เพื่อรับความเห็นจากประชาชนผู้รับบริการภาครัฐจึงเกิดขึ้น โครงการนี้จะสนับสนุนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2558

 

           หลักการทำงานก็ง่ายๆ คือ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ นั้นบังคับให้ทุกหน่วยงาน ราชการต้องเปิดเผยขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่ประชาชนต้องเตรียมมา ระยะเวลาที่ใช้ รวมถึงค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย เมื่อประชาชนมีข้อมูลเหล่านี้แล้ว เดินเข้าไปรับบริการจากหน่วยงานรัฐแต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเหตุผลเหมาะสมหรือได้รับบริการตามขั้นตอนดีมาก ตอนเดินออกมาก็จะมีข้อความขึ้นในโทรศัพท์ของท่านผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ หรือข้อความโทรศัพท์มาถามว่าเมื่อสักครู่เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อท่านให้ความเห็นไป ข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกนำไปจัดเก็บเพื่อประมวลผลอย่างเป็นระบบ ก่อนจัดส่งไปให้ผู้บริหารหน่วยงานราชการนั้น ดำเนินการปรับปรุงหรือรักษาไว้ โดยผู้บริหารจัดการข้อมูลคือภาคเอกชน ดังนั้น ข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวผู้รับบริการก็จะไม่ถูกเผยแพร่ เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ให้ ความเห็นด้วย ในปีนี้จะมีการทำโครงการนำร่องกับหน่วยงานราชการจำนวนหนึ่ง ก่อนหวังว่าจะขยายใช้ทั่วทุกหน่วยงานในปีหน้าครับ

 

          ต่อตระกูล: โครงการสุดท้ายนี้ ได้รับทราบแล้วในการประชุมคณะกรรมการ ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ผ่านมา และได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมารายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริตแล้ว โครงการนี้แตกต่างจากสายด่วนอื่นๆเพราะมีรูปแบบการทำงานที่วิ่งเข้าหาผู้รับบริการ ไม่ใช่รอให้คนโทรไปแจ้งเหมือนแต่ก่อน มีการออกแบบคำถามและกระบวนการรับความเห็นที่น่าสนใจ และมีการวางระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ดี สมควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากประชาชนและภาครัฐ และเห็นด้วยที่จะให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล เพื่อความเป็นกลาง

 

           โครงการใหม่แต่ละโครงการที่เล่ามานี้มีความน่าสนใจมาก และยิ่งมารวมกันทั้ง 3 โครงการยิ่งน่าสนใจ เพราะต่างมีวิธีการและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้ครอบคลุมประชาชนที่มีความหลากหลายในประเทศไทยได้ นั่นหมายความว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ มีความสนใจ หรือความถนัดในเรื่องใด ก็สามารถร่วมต่อต้าน การโกงได้ทุกคน และจะเป็นการต่อสู้ที่มีความหวังมากเสียด้วย