บทความ
คนโกงโกยเงินเข้ากระเป๋าปีละเท่าไหร่?
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 31,2017
คนโกงโกยเงินเข้ากระเป๋าปีละเท่าไหร่ ...
เม็ดเงินที่ข้าราชการและนักการเมืองขี้ฉ้อ กอบโกยไปทั้งที่ "โกงเงินของรัฐ" และ "รีดไถเอาเงินจากกระเป๋าประชาชน" มีมากน้อยแค่ไหน ขอแบ่งกลุ่มและอธิบายสั้นๆ ดังนี้
1. สินบนครัวเรือน
เป็นสินบนที่ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่เมื่อไปติดต่อที่สถานที่ราชการ เช่น กรมที่ดิน ตำรวจ โรงเรียน ศุลกากร สรรพากร อำเภอ อบต. เทศบาล เป็นต้น สินบนประเภทนี้มีมากถึง 5 พันล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อย
ตัวเลขที่แท้จริงคงสูงกว่านี้มาก แต่ผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจอาจปิดบังไว้เนื่องจากเกรงกลัวอันตรายหากเปิดเผย และข้อมูลนี้ยังไม่รวมถึงกรณีที่องค์กรธุรกิจ อุตสาหกรรมไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ (ผาสุก พงษ์ไพจิตและคณะ, 2557 “สินบน ทัศนคติและประสบการณ์ ของหัวหน้าครัวเรือน”)
2. สินบนในการจัดซื้อจัดจ้าง
มีมูลค่า 2 – 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นเรื่องเงินทอน 30 % ที่ได้ยินกันประจำอาจมากหรือน้อยกว่านี้ตามยุคสมัยของผู้มีอำนาจและโอกาส โกงกิน มีทั้งในรัฐบาล หน่วยราชการ โรงเรียน ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกรณีเงินทอนวัด 75 % ที่กำลังโด่งดังด้วย (มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 2560 “ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย”)
3. สินบนธุรกิจ
เป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอนุญาตอนุมัติอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจหมายถึงการช่วยให้ตนพ้นความผิดที่ทำไป เช่น การเลี่ยงภาษี หรือเพื่ออำนวยความสะดวก ลัดขั้นตอน เร่งรัด หรือให้ได้สิทธิพิเศษบางอย่าง
เป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอนุญาตอนุมัติอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจหมายถึงการช่วยให้ตนพ้นความผิดที่ทำไป เช่น การเลี่ยงภาษี หรือเพื่ออำนวยความสะดวก ลัดขั้นตอน เร่งรัด หรือให้ได้สิทธิพิเศษบางอย่าง
เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน ขออนุญาตสร้างอาคาร ประกอบธุรกิจ ทำบ้านจัดสรรและคอนโด นำเข้าสินค้า การใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น สินบนประเภทนี้มักจ่ายกันเป็นก้อนใหญ่ๆ
4. สินบนเพื่อให้ได้รับการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ
หมายถึงการยอมจ่ายเพื่อให้ตนได้รับสัมปทาน หรือสิทธิการเช่าในทรัพย์สินหรือทรัพยากรของรัฐ หรือให้ตนได้เงื่อนไขที่ได้เปรียบรัฐมากๆ เช่น สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานโทรศัพท์ สัมปทานศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิทธิการเช่าที่ราชพัสดุ สัมปทานเหล้าบุหรี่ เป็นต้น
การตอบแทนในกรณีนี้นอกจากเป็นทรัพย์สินเงินทองยังอาจใช้ประโยชน์ต่างตอบแทนรูปแบบอื่นๆ เช่น หุ้นในธุรกิจ แบ่งกำไร จ้างเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา
5. สินบน ส่วย ส่วนแบ่งและการคุ้มครองสำหรับ หวย บ่อน ซ่องและยาบ้า
มีการประเมินว่าธุรกิจมืดเหล่านี้อาจมีมูลค่ามากถึง 13% ของ จีดีพี คิดคร่าวๆ สมมุติว่ามีการจ่ายส่วยสินบนให้เจ้าหน้าที่และนักการเมืองทุกระดับสักสิบเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดก็จะเป็นเงินมากถึง 172,642 แสนล้านบาทต่อปี (ปี 2559 จีดีพีของไทยเท่ากับ 390,593 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ)
6. สินบนและเงินรีดไถที่คนทั่วไปต้องจ่ายเมื่อเผชิญกับเจ้าหน้าที่นอกสถานที่ราชการ
การจ่ายอาจมีสาเหตุต่างกัน เป็นไปได้ทั้งกรณีที่ผู้จ่ายกระทำผิดจริงและโดนกลั่นแกล้ง เช่น จราจร เทศกิจ เจ้าหน้าที่แรงงานและตรวจคนเข้าเมืองในกรณีที่เป็นนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว
7. สินบนในการบริหารงานราชการ
เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การวิ่งงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การวิ่งเต้นเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้อนุญาตอนุมัติอะไรบางอย่าง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเองระหว่างบุคลากรในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สินบนประเภทนี้มีไม่มากนักแต่ต้องเน้นให้ความสำคัญไว้ เพราะมันเป็นรากเหง้าที่ทำให้คนต้องไปดิ้นรนหาเงินมาเป็นค่าใช่จ่าย
สินบนลำดับที่ 3 – 5 เป็นเงินจากพ่อค้าหรือประชาชนเพื่อแลกกับการเปิดให้คนเหล่านั้นทำผิดหรือได้ประโยชน์เกินควรไปจากรัฐ ส่วนลำดับที่ 6 และ 7 เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่หรืออิทธิพลไปหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลอื่น
ความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินอย่างที่กล่าวมารวมๆ แล้วเยอะเหลือเกิน แต่หากคำนวนความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมและสังคม มูลค่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า
------------------------------------------------------------------------------
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
28/7/60