ประเด็นร้อน

กระแสต่อต้านคอร์รัปชัน (''ANTI-CORRUPTION'')

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 24,2017

 - - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24/06/60 - -

          
พิษณุ พรหมจรรยา
ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)phisanu@thai-iod.com
          
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านของธรรมาภิบาล และการปรับตัวขององค์กรในภาคธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้เลยอยากจะเขียนต่อเนื่องไปถึงแนวโน้มและทิศทางการต่อต้านคอร์รัปชันของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เคียงคู่มากับกระแสธรรมาภิบาลและจะเข้ามาเป็นปัจจัยที่มีผลกับการทำธุรกิจในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
          
การทำความเข้าใจกับทิศทางการต่อต้านคอร์รัปชันของโลกมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้บริษัทในภาคธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจได้อย่างเหมาะสมแต่เนิ่นๆ ซึ่งในที่สุดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ และอาจจะสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทได้ด้วยหากสามารถปรับตัวได้ดีและเร็วกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ
          
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่คงอยู่คู่กับมนุษยชาติมายาวนาน และสามารถปรับเปลี่ยนโฉมหน้าและกลไกให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในสังคมบุพกาล มาจนถึงยุคดิจิทัลที่กิจวัตรประจำวันของคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อยู่หน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตมากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ที่อยู่รอบตัว
          
ไม่ว่าจะในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีประเทศไหนเลยที่สามารถพูดได้ว่าปลอดจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 100% ถึงแม้ว่าความรุนแรงหนักเบาของปัญหาของประเทศต่างๆ อาจจะแตกต่างกันไป โดยหากมองในภาพรวมแล้ว มีการประเมินโดย OECD ว่าในแต่ละปีมีเม็ดเงินที่ถูกใช้เพื่อการจ่ายสินบนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 11.5 เท่าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลไทยปี 2561) เลยทีเดียว
          
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้อ่านรายงานที่น่าสนใจฉบับหนึ่งของ PWC เรื่อง "Five forces that will reshape the global landscape of anti-bribery and anti-corruption" ซึ่งพูดถึงปัจจัยสำคัญ 5 ประการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านของการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่
          
1.หน่วยงานตรวจสอบและปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ จะทำงานประสานและสนับสนุนกันอย่างใกล้ชิดและเป็นระบบมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีผลกับการดำเนินธุรกิจในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการทำธุรกิจของกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย อย่างเช่น Foreign Corruption Practices Act (FCPA) ของสหรัฐ หรือ U.K. Bribery Act ของอังกฤษ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในช่วงสองสามปีมานี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ได้มีการประสานความร่วมมือ และทำงานสนับสนุนกันและกันมากขึ้นกว่าในอดีต ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของเรื่องนี้ก็คือการดำเนินคดีกับ Rolls-Royce ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานตรวจสอบในสหรัฐ อังกฤษ และบราซิล ส่งผลให้ Rolls-Royce ต้องยอมจ่ายจ่ายค่าปรับถึง 671 ล้านปอนด์ เพื่อยุติการดำเนินคดีสินบนที่เกี่ยวข้องกับกิจการหลายประเทศ รวมถึงรัฐวิสาหกิจชั้นนำของไทยด้วย
          
2.กระแสสังคมจะมีน้ำหนักในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันมากกว่าการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย ในโลกยุค Social media เช่น ในปัจจุบันผู้คนมีช่องทางและแรงจูงใจมากขึ้นในการที่จะเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งนับวันจะยิ่งกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจที่คนในสังคมยอมรับได้น้อยลงทุกที แม้แต่ในประเทศที่การคอร์รัปชันแพร่กระจายและฝังรากลึกจนกลายเป็นหนึ่งในบรรทัดฐานของสังคมอย่างอินเดีย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของการทำแคมเปญ อย่าง www.ipaidabribe.com ซึ่งเปิดโอกาสให้คนอินเดียที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนในการติดต่อราชการสามารถเข้าไปให้ข้อมูลการถูกเรียกรับสินบนได้ผ่านทางเว็บไซต์ และข้อมูลจำนวนมากที่มาจากเสียงจริงๆ ของประชาชนก็กลายเป็นแรงกดดันให้หน่วยราชการของอินเดียต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการและแก้ปัญหาการเรียกรับสินบน
          
การทำแคมเปญที่อาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในลักษณะนี้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ และหลายๆ ประเทศก็มีการทำแคมเปญในลักษณะนี้อยู่เหมือนกัน
          
สำหรับในประเทศไทย แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) กำลังทำงานอย่างหนักร่วมกับหลายองค์กรทั้งในภาครัฐบาล เอกชน และประชาสังคมเพื่อสร้าง Platform ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไปจนถึงระดับ Elite สามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้บริการภาครัฐ ซึ่งจะรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินใต้โต๊ะด้วย โดยข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนจะถูกนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียดและเป็นระบบโดยองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือในภาคเอกชน ก่อนที่จะนำไปแจ้งให้รัฐบาลและสาธารณชนทราบ ซึ่งจะเป็นทั้งการเพิ่มทั้งแรงจูงใจและแรงกดดันให้หน่วยราชการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีขึ้น
          
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการซึ่งมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "Citizen Feedback" นี้เป็นโครงการที่ใหญ่มาก เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ และต้องมีการประสานความร่วมมือกับหลายองค์กรในภาคส่วนต่างๆ โดยในปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทำโครงการนำร่อง วันนี้จึงขอเกริ่นเป็นน้ำจิ้มไว้เพียงเท่านี้ก่อน แล้ววันหลังจะหาโอกาสเขียนถึงโครงการนี้ให้อ่านกันอย่างละเอียดอีกครั้งนะครับ
          
จริงๆ ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้จบในตอนเดียว แต่พื้นที่หมดเสียแล้ว ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านยกยอดปัจจัยที่เหลืออีก 3 ข้อไปว่า