ประเด็นร้อน
ความผิดคดีค้ามนุษย์
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 21,2017
- - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 21/07/60 - -
มีความเห็นจากหลายฝ่ายที่น่าสนใจตามมาหลังเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์มีคำพิพากษาลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ในคดีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการมีจำเลยเป็นอดีตนายทหารระดับสูง ยศ พล.ท. คือ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
โฟกัสไปที่ผู้นำกองทัพบกอย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ตัดสินจำคุก พล.ท.มนัส คงแป้น ดังกล่าวนั้น เป็นตามขั้นตอนทางคดี ในส่วนของกองทัพบกได้มีการสั่งพักราชการระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาลไปแล้ว โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบกระบวนขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อกำลังพลถูกตัดสินหรือพิพากษาก็จะมีขั้นตอนระบุไว้อยู่แล้ว และให้ความเห็นว่า กรณีนี้คงไม่กระทบกองทัพ เพราะต้องแยกแยะ เรื่องของบุคคลก็เป็นเรื่องของบุคคล นายพล ในกองทัพมีหลายนาย ถ้าจะมีใครสักคนที่ทำความผิดและเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ต้องดำเนินการไปตามกรอบนั้น ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของกองทัพทั้งปวง เพราะคนในกอง ทัพมีเป็นจำนวนมาก
รีวิวกันอีกรอบ คดีดังกล่าว ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำพิพากษาเมื่อวันพุธที่ 19 ที่ผ่านมา ในคดีซึ่งมีจำเลยมากถึง 103 คน อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ผู้บริหารองค์ปกครองท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และประชาชน หรือที่เรียกกันว่าคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา
อันเป็นคดีที่อัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ ยื่นฟ้องจำเลยรวม 103 คน ซึ่งมีจำเลยที่สำคัญ อาทิ นายบรรจง หรือจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำ เลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือเสี่ยโต้ง หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล จำเลยที่ 29 และ พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณาคดี มีจำเลยบางคนเสียชีวิต จึงเหลือจำเลยที่รอพิพากษา 102 คน โดยอัยการได้ทยอยฟ้องตั้งแต่เดือน ก.ค.2558 ในความผิด 16 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้า มนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52 และ 53/1, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 10 และ 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 และ 64, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320 และ 371 เป็นต้น
พฤติการณ์การกระทำความผิดคือ กักขังควบคุมตัวชาวเมียนมา และชาวบังกลาเทศ ซึ่งเป็นต่างด้าวในแคมป์ บริเวณเทือกเขาแก้ว เพื่อบังคับใช้แรงงานลักษณะการค้ามนุษย์ และได้ทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
คำพิพากษาดังกล่าว ที่หลายคนสนใจก็คงไม่พ้นกรณีของ พล.ท.มนัส ที่ขณะกระทำความผิดเป็นอดีตผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 โดยคำพิพากษาดังกล่าว ทางศาลพิเคราะห์หลักฐานและพยานพบว่า มีการรับโอนเงินถึง 65 ครั้ง รวม 14,850,000 บาท โดยเป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2555 ถึง 61 ครั้ง เป็นเงิน 13,800,000 บาทเศษ และในช่วงเดือน ส.ค.2556 อีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ แม้ พล.ท.มนัสจะต่อสู้ว่าเป็นเงินที่ได้จากการพนันวัวชน, ซื้อขายวัวและเป็นเงินสนับสนุนจากเอกชนในการผลักดันแรงงานโรฮีนจา แต่ไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน ขณะที่การผลักดันแรงงานรัฐก็มีงบประมาณสนับสนุนอยู่ จึงเชื่อได้ว่าเงินที่ได้รับโอนเป็นผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ไม่ให้ถูกจับกุม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯ และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงาน จึงต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิดหรือจำคุก 27 ปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย ถูกจับตาจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ แถลงรายงานค้ามนุษย์ของสหรัฐ ประจำปี 2560 โดยยังคงอันดับไทยให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง หรือเทียร์ 2 โดยอ้างว่า แม้ไทยไม่ได้ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามค้ามนุษย์ แต่แสดงความพยายามด้วยการปราบปราม และยึดทรัพย์ จากบรรดาผู้ค้ามนุษย์ รวมมูลค่า 784 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงมากขึ้น พร้อมยืดระยะเวลาให้เหยื่อและพยานชาวต่างชาติในคดีค้ามนุษย์ ได้พำนักอยู่ในประเทศนานขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากนัก
เชื่อได้ว่า หลังมีคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ดังกล่าว น่าจะเป็นการทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันป้องกัน สอบสวน และเอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง โดยต้องทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ตลอดไป.