ประเด็นร้อน
ต้องปราบทุจริตจริงจัง
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2017
- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17/07/60 - -
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมกับมอบหมายให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.เป็นผู้ดูแล
ทั้งนี้ มีการอธิบายรูปแบบของการรับเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ คือให้มีการเปิดโต๊ะรับร้องเรียน สายด่วน 1299 ที่ห้อง 60 ปี ภายในสำนักงานเลขานุการกองทัพบก มีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 5 นาย ผลัดเวรรับโทรศัพท์ตามช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเปิดช่องทางส่งเรื่องร้องเรียนเป็นเอกสาร ไปยังตู้ไปรษณีย์ 444
ขณะเดียวกันยังได้มีการกำชับว่าหลังจากเปิดรับข้อมูลร้องเรียนแล้ว หากเป็นเรื่องเร่งด่วน จะประสานงานให้กับหน่วยที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งจะบูรณาการกับศูนย์ดำรงธรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ทางศูนย์ร้องเรียนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียน ข้อมูลต่างๆ ก่อนส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนการติดตามผลหลังร้องเรียนนั้น ผู้ร้องเรียนสามารถโทรมาตรวจสอบผลได้ซึ่งทางศูนย์รับร้องเรียนจะตรวจสอบให้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนนั้นอยู่ในขั้นตอนไหนอย่างไร
ฟังดูจากแนวทางการดำเนินการของศูนย์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลและ คสช.เอาจริงเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ก็น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า สาเหตุที่เปิดช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นนั้น เพราะกลไกในการปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านมาล้มเหลวใช่หรือไม่ เพราะในขณะนี้มีการพูดกันให้กระหึ่มทั้งวงการผู้รับเหมา โดยเฉพาะงานในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลมีการเรียกรับผลประโยชน์ ยิ่งกว่ายุคนักการเมืองด้วยซ้ำไป
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เปิดเผยสถิติการร้องเรียนปัญหาการทุจริตของประชาชนผ่าน ป.ป.ท.ว่า เฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยการทำหน้าที่ และเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย
แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กลไกขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านการทุจริต 3 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติระดับชาติ และ 3.ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวง (ศปท.) ที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติระดับกระทรวง รวมถึงการตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นมารับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 44 จัดการกับข้าราชการที่ถูกร้องเรียน ที่มีมูลให้ตรวจสอบ ระงับการปฏิบัติงานและให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิมชั่วคราวนั้น ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลงได้
ดังนั้น ทางที่ดีรัฐบาลและ คสช.ควรไปทบทวนปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้กลไกในการปราบปรามทุจริตล้มเหลว ไม่ใช่ไปตั้งศูนย์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ประเด็นสำคัญ คือ คสช.ต้องแสดงให้สังคมเลิกเคลือบแคลงสงสัยในการช่วยเหลือพวกพ้องตัวเอง คือ เรื่องไหนที่ถูกร้องว่าคนมีสีเข้าไปเกี่ยวข้อง จะต้องมีการตรวจสอบและใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกกรณี ไม่ใช่ปล่อยให้มีการตั้งคำถามจากสังคม ไม่เช่นนั้น มาตรการที่ออกมาจะถูกมองว่าเป็นการแก้เกี้ยวสร้างคะแนนนิยมไปวันๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีในอนาคต