ประเด็นร้อน

คิงเพาเวอร์ ฉาวทั่วโลก

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 17,2017

 - - สำนักข่าว ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 16/07/60 - -


ฟ้องคดีที่2คิงเพาเวอร์

ฉาวทั่วโลก "สื่อต่างชาติ" ตีข่าวบริษัทเจ้าของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตในไทย เป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท หากผิดจริงต้องทิ้งเลสเตอร์ตามกฎพรีเมียร์ลีก ด้าน "ชาญชัย" จ่อฟ้องทอท.-คิงเพาเวอร์ซ้ำคดี 2 ขอริบทรัพย์ 1.8 หมื่นล้าน
          
เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานข่าวว่า คิงเพาเวอร์ ซึ่งมีนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ซิตี้ ของอังกฤษ และนายอัยย วัฒน์ บุตรชาย เป็นเจ้าของและผู้บริหาร ถูกกล่าวหาว่าทำรัฐบาลไทยสูญเสียเงินที่ต้องได้รับจากการบริหารงานร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยภายใต้ข้อตกลงที่คิงเพาเวอร์ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านปลอดภาษีในปี 2549 ทางบริษัทจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 15% ให้กับรัฐบาลไทย
          
เว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล โดยนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมการปราบปรามการทุจริต นายชาญชัยกล่าวหาคิงเพาเวอร์ว่า ร่วมกระทำการทุจริตกับเจ้าหน้าที่สนามบิน เพื่อจ่ายเงินให้รัฐบาลเพียง 3% ของรายได้จากธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี
          
"เราเรียกร้องให้ศาลรับคำฟ้องดังกล่าวเป็นคดีอาญา และใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้เรายังขอให้ศาลพิจารณาริบทรัพย์ 1.429 หมื่นล้านบาทกลับคืนสู่แผ่นดิน" นายชาญชัย กล่าว
          
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครือคิงเพาเวอร์อีก 2 บริษัท และผู้บริหารระดับสูงของคิงเพาเวอร์ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต ขณะที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 14 รายมีชื่ออยู่ในคำ ฟ้องเช่นเดียวกัน
          
นายวิชัย ตั้งบริษัทคิงเพาเวอร์ฯขึ้นในปี 2532 ด้วยร้านค้าเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากนั้นสร้างรายได้ขึ้นมาได้อย่างมากในปี 2549 เมื่อบริษัทเขาได้รับสัญญาสำหรับเปิดร้านปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 12 ของโลกแต่เพียงรายเดียว โดยในเวลานั้นนายกรัฐมนตรีของไทยคือ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลังจากนั้นถูกรัฐประหารออกจากตำแหน่ง
          
คำฟ้องกล่าวหาว่า มีข้อตกลงให้คิงเพาเวอร์แบ่งส่วนแบ่งรายได้ 15% ให้กับรัฐบาลเมื่อครั้งที่ทำสัญญากันในปี 2549 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทยมีชื่อเป็นพยานในคดีของนายชาญชัย ร่วมกับพยานอีก 32 ราย โดยมีเอกสาร 50 ฉบับถูกยื่นเป็นหลักฐานสนับสนุน
          
นายชาญชัยกล่าวเสริมว่า กำลังเตรียมการฟ้องร้องคิงเพาเวอร์อีก 4 คดี ซึ่งคาดหมายว่าจะดำเนินการภายใน 2 เดือน รายงานระบุว่า คาดหมายว่าศาลจะตัดสินใจรับคำฟ้องหรือไม่ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
          
ขณะเดียวกันรายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่า นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา รองประธานเลสเตอร์ ซิตี้ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มคิงเพาเวอร์ กล่าวปฏิเสธการทำผิดกฎหมายตลอดช่วงเวลา 11 ปีที่ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านค้าปลอดภาษีภายในสนามบิน เมื่อเดอะการ์เดียนถามผ่านทางเลสเตอร์ ซิตี้ไปยังนายอัยยวัฒน์ ว่าสามารถยืนยันรายละเอียดของคดีและตอบโต้ข้อกล่าวหาอย่างไร ทางทีมกล่าวว่า นายอัยยวัฒน์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
          
เช่นเดียวกับนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่รายงานระบุว่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่า คิงเพาเวอร์ปฏิบัติตามสัญญา และจ่ายเงินให้กับรัฐบาลด้วยมูลค่าที่ถูกต้องตามที่กำหนด
          
ทั้งนี้ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคดีดังกล่าวจะส่งผลต่อทีมเลสเตอร์อย่างไร ซึ่งกฎของพรีเมียร์ลีกระบุว่า ห้ามผู้ที่เคยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญาเรื่องการทุจริตถือหุ้นมากกว่า 30% หรือเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอล อย่างไรก็ตาม ทั้งนายวิชัยและนายอัยยวัฒน์ รวมถึงผู้บริหารชาวไทยของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ทุกคนยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหา
ขณะเดียวกันเว็บไซต์สเตรตส์ไทม์สของสิงคโปร์ ก็ได้รายงานข่าวเรื่องดังกล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษด้วยเช่นกัน

ฟองทอท.-คิงเพาเวอร์คดี2
ด้านความเคลื่อนไหวของนายชาญชัย ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อย ของ ทอท. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ได้แถลงข่าวเตรียมยื่นฟ้องคดีกลุ่มคิงเพาเวอร์เป็นคดีที่ 2 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ คือสำนักข่าวเอเอฟพี มาร่วมทำข่าวด้วย โดยมุ่งประเด็นไปที่ตัวนายวิชัย เป็นหลัก
          
นายชาญชัย ให้ข้อมูลคดีที่ 2 ว่า เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ทอท.และบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ คือ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 โดยบอร์ด ทอท.ในขณะนั้นได้อนุมัติลดรายได้ตนเองลงจากสัญญาที่ต้องเรียกเก็บแบ่งผลประโยชน์ตั้งแต่ปีที่ 1-5 ปีละ 15% ปีที่ 6-10 เพิ่มปีละ 1%
รับทรัพย์อีก1.8หมื่นล.
          
บอร์ด ทอท.ชุดดังกล่าวได้ไปอนุมัติเยียวยา ชดเชย ลดรายได้ และเลื่อนการส่งรายได้ และต่อสัญญาให้กับผู้ประกอบการโดยอ้างเหตุกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน 10 วัน และเหตุเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทอท.ไปลดรายได้ปีที่ 6 ลง 1% บางปีลด 3% ไปตลอดอายุสัญญา ทั้งยังต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีฯ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบความเสียหายและเหตุผลอันถูกต้องและสมควรแก่เหตุ ซึ่งการเยียวยาในครั้งนั้น อัยการสูงสุดได้มีข้อท้วงติงไว้แล้วว่า ถ้า ทอท.จะเยียวยา ห้ามมิให้นำเอาเหตุการณ์ความเสียหายที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคตมาคำนวณชดเชย
          
"ทอท. อ้างว่า ทำไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้ตรวจสอบแล้ว ครม.ไม่ได้มีมติ แต่บอร์ดทอท. มีมติไปดำเนินการเอง และเกิดความเสียหาย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กลุ่มที่ปิดสนามบินชดใช้ค่าเสียหาย 555 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้เปรียบเทียบกับ ทอท.ที่อนุมัติไป เสียหายไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท จึงขอให้ศาลพิจารณารับฟ้องคดีที่ 2 เพื่อริบทรัพย์เข้าแผ่นดิน และลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป" นายชาญชัย ระบุ