ประเด็นร้อน

รอ 9 เดือน 'ปฏิรูปองค์กรตำรวจ'

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 11,2017

 - - สำนักข่าว เดลินิวส์ (กรอบบ่าย)วันที่ 12/06/60 - -


ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน

"ปฏิรูปตำรวจ" ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงและพยายามขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขเป็นสิบปี แต่ก็เงียบหาย จนแล้วจนรอดก็ไปไม่ถึงฝั่ง เพราะที่ผ่านมาการแตะต้องหรือกระทั่งพูดถึงการปฏิรูปตำรวจเป็นเหมือนของแสลง ทั้งที่หลายคนเห็นควรต้องเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่รู้จะไปทิศทางไหน จนถึงวันนี้ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การปฏิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในการปฏิรูปหลายด้านของประเทศ กระบวนการต่าง ๆ จำเป็นต้องเดินหน้าอีกครั้ง โดยเฉพาะภายหลังการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ประกอบด้วย กรรมการรวม 36 คน มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธาน

ภาพการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นทางการจึงเริ่มขึ้น และด้วยการทำงานที่เกี่ยวข้องกับทุกข์ สุข ประชาชนโดยตรง ทุกจังหวะก้าวของการปฏิรูปนับจากนี้ย่อมถูกจับตาใกล้ชิดว่าจะบรรลุเป้าประสงค์รัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หมวด 16 ระบุการปฏิรูปประเทศไว้ในมาตรา 257-261 สาระสำคัญตามเป้าหมายคือ ให้ประเทศมีความสงบเรียบร้อย สามัคคีปรองดอง สังคมมีความสงบสุข ขจัดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีความสุข คุณภาพชีวิตดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ปฏิรูปตำรวจจัดอยู่ในด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งระบุถึงการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
          
รศ.ดร.สังศิต วิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยถึงการปฏิรูปตำรวจว่าหากย้อนกลับไปกว่า 20 ปีก่อน คนที่พูดเรื่องการปฏิรูปตำรวจจะเหมือนเป็นการท้าทายอำนาจจนเป็นปัญหาได้ แต่ ณ วันนี้ที่รัฐธรรมนูญบรรจุให้การปฏิรูปตำรวจเป็นวาระชาติต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี จึงถือเป็นชัยชนะแรกของประเทศและประชาชน อีกทั้งการให้ทหารเป็นหัวโต๊ะก็น่าจะเป็นเรื่องดี

เนื่องจากเมื่อ 10 ปีก่อน สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นเป็นประธานกรรมาธิการ แต่ก็ไม่สำเร็จเสียงข้างมากแพ้เสียงข้างน้อย การให้พลเรือนมานั่งหัวโต๊ะอาจทำให้ผลักดันการปฏิรูปได้ยาก ดังนั้น การได้ทหารมาครั้งนี้จึงน่าจะมีประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญระบุหลักการชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จำเป็นต้องรับฟัง
          
รศ.ดร.สังศิต เสนอคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจนำผลการศึกษาวิจัยในอดีตที่มีอยู่จำนวนมากมาปรับใช้เป็นแนวทางปฏิรูป เฉพาะของกระทรวงยุติธรรมก็มีเอกสารเกี่ยวข้องนับสิบเล่ม ข้อมูลที่ทำมาเชื่อว่าไม่ล้าสมัย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเข้ามาปฏิรูปเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบกับการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง เช่นตำรวจระดับผู้ใหญ่เพราะมีผลประโยชน์ในวงการ จะมาเปลี่ยนระบบที่เคยได้ประโยชน์มากก็คงไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าขณะนี้เรื่องดังกล่าวถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญว่าต้องปฏิรูป

เมื่อตำรวจปฏิรูปแล้วประชาชนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร รศ.ดร.สังศิต ระบุเป็นเรื่องที่ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะปฏิรูปไปได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการกำหนดแนวทางของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา แต่ที่แน่ชัดคือประชาชนจะต้องจับตาและตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก
          
ด้าน นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) แสดงความเป็นห่วงประเด็นที่อาจมีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปด้วยความเกลียดชัง หรือมองในแง่ร้าย ซึ่งอาจมีปัญหาในการพูดคุยกัน เพราะอีกฝ่ายก็พยายามจะปกป้องผลประโยชน์และบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
ทัศนคติการปฏิรูปเช่นนี้ไม่เป็นผลดี...
          
"อันดับแรกที่ต้องทำคือทัศนคติต่อการปฏิรูป ต้องปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ไม่ใช่ความขัดแย้ง เกลียดชัง หรือปกป้อง แต่ต้องมาคุยกันว่าอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับตำรวจ ตำรวจจะได้อะไร ประชาชนจะได้อะไรจากการปฏิรูปนี้ การเริ่มต้นที่ดีโจทย์ต้องชัด"
          
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เผยส่วนตัวสนับสนุนให้มีการนำผลการศึกษาก่อนหน้านี้มาเป็นแนวทาง เพราะศึกษากันมาเยอะมาก ซึ่งการศึกษาของเดิมจะทำให้รู้ว่าสิ่งใดที่ทำไปแล้วบ้าง สิ่งใดที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อพิจารณาประกอบแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดปัจจุบันต้องการทำ ในระยะเวลาที่เหลือ 9 เดือน เชื่อว่าเพียงพอ ย้ำว่าการปฏิรูปตำรวจจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้สังคมยังให้ความเชื่อถือในตัวผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
          
จากความพยายามที่จะเห็นการปฏิรูป ทำให้มีผลการศึกษาและข้อเสนอแนะออกมาหลายฉบับ ตั้งแต่ตัวองค์กรที่จะถูกปฏิรูปเอง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ มีข้อสรุปการปฏิรูปไว้ 10 ประเด็น รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาการขับเคลื่อนปฏิรูประเทศ (สปท.) วาระปฏิรูปที่ 6 เรื่อง การจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
          
รายงานของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ซึ่งเห็นชอบผลการดำเนินงานของอนุกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจ 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการสอบสวน การพัฒนาระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ การพัฒนาอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคล และการพัฒนาระบบค่าตอบแทน รวมไปถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ชุดที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน
          
ผลการศึกษาอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่ที่ได้รับความสนใจและถูกนำเสนอคล้ายกันคือ การแต่งตั้งโยกย้ายที่ควรยึดอาวุโส เพื่อการเติบโตในหน้าที่การงาน ลดการแทรกแซง การวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงาน การปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง ตลอดจนการแยกงานสอบสวนเป็นอิสระ
          
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากไว้ 3 ประเด็นก็เห็นว่าคงเป็นไปในทิศทางที่ศึกษากันไว้นั่นคือ การย้ายสังกัดของ สตช. ควรย้ายไปสังกัดใด เรื่องอำนาจการสอบสวน และการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายควรใช้สูตรใด
เห็นโจทย์แล้ว ที่เหลือก็รอเพียงการบรรจงเขียนคำตอบปฏิรูปจากคณะกรรมการ...

ประชาชนหนุนปฏิรูปตำรวจ
จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ค. หัวข้อ "ปฏิรูปตำรวจในทัศนะของประชาชน" พบ 77.45% ระบุควรปฏิรูปมานานแล้ว โดย 72.18% ระบุว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและภาพลักษณ์ที่ดี 62.66% ระบุตำรวจมีทั้งดีและไม่ดีขึ้นอยู่กับจิตสำนึก 54.25% ระบุคงสำเร็จได้ยาก ต้องจริงจัง ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัญหา-อุปสรรคของตำรวจที่ต้องการให้ปฏิรูป พบว่าส่วนใหญ่คือทุจริตคอร์รัปชั่น รับส่วย สินบน คิดเป็น 81.98% ไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน 74.77%  ซื้อขายตำแหน่ง แต่งตั้งโยกย้าย 65.43% เงินเดือนน้อย ความเป็นอยู่ลำบาก 59.89% และรวบอำนาจไว้ศูนย์กลาง 55.08%
          
สิ่งที่อยากฝากไปยังคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 63.59% ขอให้ทำงานเต็มที่เป็นรูปธรรม 60.44% ปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น   56.56% ดูแลตำรวจทุกระดับชั้นอย่างเท่าเทียม ส่วนกรณีที่ตั้ง พล.อ.บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ประชาชนคาดหวังความสำเร็จหรือไม่ 38.73% คาดว่าน่าจะสำเร็จ 36.29% คาดว่าน่าจะไม่สำเร็จ และ 24.98% ไม่แน่ใจ

บรรยายใต้ภาพ 
มานะ สังศิต
พล.อ.บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์ 
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ร่วมประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกที่ทำเนียบรัฐบาล