ประเด็นร้อน
ผอ.รร.ยื่นบัญชีทรัพย์สินแก้ปัญหา'แป๊ะเจี๊ยะ'จริงหรือ?
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 29,2017
- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29/06/60 - -
ประเด็นการบริจาคเงินให้กับโรงเรียนเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนนั้นๆ หรือ "แป๊ะเจี๊ยะ" ถูกพูดถึงมาหลายยุคหลายสมัย โดยล่าสุดคือกรณีของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งได้มีการเผยแพร่คลิปโดยระบุว่า เป็นการรับเงินจำนวน 400,000 บาท ของนายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อแลกกับการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับชั้น ม.1 กรณีดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอ "ล้อมคอก" ปัญหาการรับแป๊ะเจี๊ยะที่ให้ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารในแต่ละสถานศึกษายื่นบัญชีทรัพย์รายการแสดงทรัพย์สินก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง
โดยท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุในประเด็นนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำกับดูแลอยู่ โดยเรื่องของการแสดงรายการทรัพย์สินนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระพิจารณาต่อไป
กระนั้นข้อเสนอดังกล่าวยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นว่า มีมากน้อยเพียงใด เพราะการที่จะให้ผอ.โรงเรียน ทั่วประเทศจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งต้องใช้กระบวนการในการพิจารณาพอสมควร จะเป็นการผลักภาระไปให้หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่นี้อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ซึ่งมีภารกิจล้นมือ อยู่แล้วหรือไม่?
อีกทั้งยังมีข้อท้วงติงว่า แต่เดิมป.ป.ช.ก็มีอำนาจในการให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลหรือเรียกเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกคนหรือไม่ ประเด็นนี้ในมุมของ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป.ป.ช. ที่มองว่า ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช.จะมีมาตรา 40 ซึ่งระบุถึงตำแหน่งที่ยังไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินให้เป็นอำนาจของป.ป.ช.ในการกำหนดแหน่ง และให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีการตั้งตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่ม ซึ่งถือเป็นดุลพินิจของป.ป.ช.ที่จะ พิจารณาว่ามีตำแหน่งใดที่มีโอกาสได้รับประโยชน์
กรณีของผอ.โรงเรียนนั้นคิดว่า เป็นอำนาจของป.ป.ช.ที่จะใช้ดุลพินิจ ดังกล่าว ทั้งนี้ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ผอ.โรงเรียนทั่วประเทศที่มีอยู่ปัจจุบันมีจำนวนมากถ้าจะให้ผอ.โรงเรียน ทุกโรงเรียนยื่นบัญชีทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ก็คงทำงานกันหนักคุณภาพ ของงานที่ออกมาก็จะไม่ได้ตามที่ ต้องการ
การที่คนเราจะทุจริตจะมี 3 ประการคือ 1. มีอำนาจ 2. มีโอกาส และ 3. ขาด หิริโอตตัปปะ ดังนั้นถ้า ป.ป.ช. จะประกาศให้มีผอ.โรงเรียนมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็ควรกำหนดไปเลยว่า โรงเรียนขนาดใดที่ผอ.โรงเรียนจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยโรงเรียนที่จะเข้าข่ายต้องเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม ดังนั้นในขั้นต้นจึงไม่ควรจะกำหนดให้ยื่นทุกโรงเรียน ในสมัยที่ตนเป็นป.ป.ช.ก็มีโรงเรียนมี ชื่อเสียงโรงเรียนหนึ่งถูกร้องเรียนในลักษณะเดียวกันนี้ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดที่ชัดเจนในกรณีดังกล่าว
ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองว่า คงไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะ หากจะมองว่าทุกตำแหน่งที่มีโอกาสทุจริตแล้วให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดก็จะกลายเป็นว่า งานของป.ป.ช.ก็จะมากมาย ในทางปฏิบัติจริงก็คงจะไม่ได้ผลเท่าไร จึงคิดว่า เรื่องนี้ควรจะมีมาตรการอื่นที่เหมาะสมกว่าที่เราจะไม่ต้องทำให้เสียเวลาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกการรับเด็กเป็นกรณีพิเศษของแต่ละโรงเรียนนั้น มองว่า เรื่องนี้ถ้าทำอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา เป็นที่ทราบโดยทั่วกันก็เป็นเรื่องที่น่าทำได้โดยให้สังคมรับรู้ว่ากติกาเป็นแบบนี้ การคัดเลือกก็คัดเลือกโดยมีมาตรการที่ไม่ใช่เรื่องของโอกาสในการเรียกรับเงิน จึงคงต้องดูที่เจตนาของการดำเนินการในแต่ละกรณี ดังนั้นเรื่องระบบทั้งหมดไม่ได้แก้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้นแต่ต้องมีมาตรการในการแก้ไขอย่างเหมาะสม
"ปัญหาเรื่องแป๊ะเจี๊ยะก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดการที่เราจะแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มีกระบวนการในการตรวจสอบที่เข้มข้น ส่วนตัวคิดว่ามีหลายวิธีการที่จะทำได้ เพียงแต่แต่ละแห่งก็คงต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน"