ประเด็นร้อน

ร่วมกันต่อต้าน'จ่ายแป๊ะเจี๊ยะ'

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 27,2017

 - -สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27/06/60 - -


สุกัญญา ศุภกิจอำนวย

ข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงขณะนี้ กรณีผู้ปกครองท่านหนึ่ง เผยแพร่คลิปอ้างถึงผู้อำนวยการ โรงเรียนดัง เรียกรับเงิน 4 แสนบาท เพื่อให้ลูกเข้าเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แม้กรณีดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง สอบสวนข้อเท็จจริง แต่ข่าวที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การเรียกรับเงินแบบ "กินเปล่า"(บ้างเรียกว่า เงินบริจาคแบบไม่มีใบเสร็จ)นั้นไม่มีทีท่าจะหมดไปจากสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์ ตราบที่ยังมี "คนรับ" และ "คนจ่าย" เพื่อแลกกับ ผลลัพธ์ หรือ ผลประโยชน์ต่างตอบแทนแบบสมประโยชน์กันทั้งคู่
          
ที่น่าสลด ข่าวทำนองนี้ มักมีผู้ถูกกล่าวหา เป็น "ครู-อาจารย์" หรือ"ผู้บริหารโรงเรียน" ปูชนียบุคคลที่สังคมไทยในภาพใหญ่ ยังคงให้ความเคารพ ในฐานที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ทั้งยังเป็นผู้ประศาสน์วิชา สอนสั่งเด็ก และเยาวชน  ให้เติบโตเป็นคนเก่ง ที่สำคัญ "เป็นคนดี" ของสังคมเมื่อครู-อาจารย์บางส่วน (ย้ำว่าไม่ใช่ทั้งระบบ) เริ่มเดินออกนอกลู่นอกทาง จึงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องนั่งคุยกันยาวๆแบบ "ซีเรียส" เพื่อหาแก้ไขปัญหาจาก "ต้นตอ" อะไรคือ "แรงจูงใจ" และ "ช่องโหว่" ที่เปิดทางให้เกิดการกระทำการณ์ เช่นนั้น อาจเป็นเพราะระบบการตรวจสอบไม่รัดกุม,ระบบการศึกษาของแต่ละ โรงเรียนยังมีมาตรฐานไม่เท่าเทียม ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนที่ดีหรือผู้ให้-ผู้รับ "จริยธรรมเสื่อม" ฯลฯ ก็ต้องเข้าไป แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อนำไปสู่การ "ลดต้นทุนการศึกษาของเด็กไทย" ไม่เพียงแวดวงการศึกษา ต้องยอมรับว่า ปัญหาการ "จ่ายเงินสินบน"เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ในทุกแวดวง ในภาคธุรกิจที่เห็นชัด คือ แวดวงการประมูล การขอใบอนุญาตเพื่อประกอบการกิจการ ซึ่งมีผู้เล่าขาน หนาหูว่า จำเป็นต้อง "จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา" แม้ว่าในบางกรณีผู้จ่ายจะดำเนินการ ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเดินตามระบบปกติ จะเป็นไปด้วย "ความล่าช้า" แต่หากยอมจ่าย ก็จะทำให้ "ทุกอย่างรวดเร็วขึ้น"  สรุปสุดท้ายคือ "ต้องจ่าย..!!" สำทับด้วยเนื้อหาในวงเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่อง "ใบอนุญาตก่อสร้าง : ความสะดวกที่ต้องจ่าย..จริงหรือ?" มีภาคเอกชน ผู้ร่วมเสวนาหลายราย บอกเล่าประสบการณ์ตอบคำถามหัวข้อเสวนาตรงกันว่า "จริง..!" บางครั้งพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแม้จะทำให้มี "ต้นทุน" ที่เพิ่มขึ้น พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า"ต้องตัดขั้นตอนการใช้ดุลยพินิจ" ในการอนุมัติเรื่องต่างๆของ บุคคลออกไป เป็นการใช้ "ระบบดิจิทัลที่ตรวจสอบได้" เพื่อทำให้เกิดความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)
          
ซึ่งจะว่าไปแล้ว "ความยาก" ในการดำเนินธุรกิจในไทยเป็นเรื่องที่นักลงทุนจากหลายชาติ สะท้อนปัญหานี้มายังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหา พร้อมระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็น "ตัวแปร" ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลงทุน หรือไม่ลงทุนในไทย นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่แต่ละประเทศคู่แข่งของไทย มักจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน จากต่างชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
          

"ปัญหาแป๊ะเจี๊ยะ" จึงถือเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องร่วมกัน "ต่อต้าน" ไม่รับ-ไม่จ่าย และร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัญหา เพราะนอกจากจะทำให้ สังคมเสื่อมแล้ว ยังนับเป็นอุปสรรค บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน ของไทย ในทุกเรื่อง อาทิ ระบบการศึกษา ลามไปถึงภาคธุรกิจ !!