ประเด็นร้อน

ใบอนุญาตก่อสร้าง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 21,2017

ต่อตระกูล-ต่อภัสสร์
คอลัมน์ ต่อ ต้าน คอร์รัปชัน: ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่ายเงิน...จริงหรือ? 

- - สำนักข่าว แนวหน้า วันที่ 21/06/60 - -
          
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ต่อตระกูล : วันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย.นี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)เชิญผมในฐานะอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ไป ร่วมวงเสวนาหัวข้อ "ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่ายเงิน...จริงหรือ?"ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึง 12.00 น. โดยมี ผู้ร่วมเสวนาจากหลายฝ่ายในวงการก่อสร้าง และผู้ออกนโยบายสาธารณะ ได้แก่ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) คุณอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณสรรค์ สุขุขาวดีที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และดำเนินรายการโดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
          
มีผู้ร่วมเสวนาทรงคุณวุฒิขนาดนี้ ผมคงต้องเตรียมตัวหน่อยเพื่อให้การเสวนาครั้งนี้เกิดประโยชน์ขึ้นได้จริง วันนี้เลยต้องมาคุยเพื่อเตรียมเนื้อหากับต่อภัสสร์ เผื่อจะมีคำถามอะไรเพิ่มเติมที่ผมยังคิดไม่ถึง

ต่อภัสสร์ : ดีเลยครับพ่อ ผมเองสนใจเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่รับบริการจากหน่วยงานราชการ และเรื่องการทุจริตในวงการก่อสร้างอยู่แล้ว การเสวนาหัวข้อนี้จึงน่าสนใจมากสำหรับผม และคงไม่พลาดไปฟังด้วยแน่นอน ในวันนั้น พ่อคิดว่าจะยกประเด็นอะไรเกี่ยวกับใบอนุญาต ก่อสร้างมาสนับสนุนหรือถกเถียงบ้างครับ

ต่อตระกูล : ประเด็นแรกคงต้องตอบ คำถามหัวข้องานเสวนานี้อย่างไม่อ้อมค้อม โดยอธิบายความจำเป็นและความสำคัญของการมีใบอนุญาตก่อสร้างก่อน เพราะหลายคน โดยเฉพาะคนที่เชื่อในแนวคิดเสรีนิยมมากๆ มักตั้งธงไว้ว่าใบอนุญาตของราชการนั้น เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในทุกกรณีแต่สำหรับผมแล้ว เชื่อว่าแม้หลายใบอนุญาตจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจจริง แต่บางใบอนุญาตมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยและความอยู่ร่วมกันได้ของคนในสังคม แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และลดทอนความยากลำบากลงให้มากที่สุด
          
ที่ผมเชื่อเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นความคิด ลอยๆ แต่มีหลักฐานสนับสนุน ผมจะยกตัวอย่าง ความจำเป็นที่รัฐจะต้องมีการควบคุมแบบก่อสร้าง ตัวอย่างแรกคือ เขตเกาลูนในเกาะฮ่องกง ในช่วง ทศวรรษที่ 80 และ 90 ที่ไม่มีการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ทำให้สร้างอาคารอย่างหนาแน่น เบียดเสียดกันจนเขตนี้ได้รับชื่อเล่นว่า "เมืองแห่ง ความมืด" หรือ "The City of Darkness " เลยทีเดียว ก็จะไม่ให้มืดได้ยังไง เล่นสร้างตึกติดกันถึง 300 ตึกโดยไม่เว้นช่องว่างเลย เพื่อจุคน กว่า 50,000 คน ในพื้นที่เพียง 7 เอเคอร์ หรือประมาณ 28,000 ตารางเมตร ให้เห็นภาพคือจุคน เกือบ 3 คน ในกรอบเพียง 1 ตารางเมตรเลยทีเดียว และเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่มีการควบคุมการสร้างอาคารกันเลย ใครอยากสร้าง ก็สร้าง ไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด
          
ต่อภัสสร์ : แค่คิดก็ทนอยู่ไม่ไหวแล้วครับ แล้วประเทศตะวันตกเขามีปัญหาเรื่องนี้กันบ้างไหม
          
ต่อตระกูล : มีสิ ประเทศที่มีการบังคับ ใช้การควบคุมงานก่อสร้างอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย ก็เจอปัญหาได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างล่าสุดจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารเกรนเฟล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากไฟที่ลุกไหม้และลามแผ่นอะลูมิเนียม (Aluminum Cladding) ชนิดไม่กันไฟที่ติดอยู่รอบๆ อาคาร การใช้วัสดุแบบนี้มีอันตรายอย่างมาก ไม่ควรนำไปใช้ประกอบหรือประดับอาคารสูงโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายห้ามนำวัสดุชนิดนี้ไปใช้ในการสร้างอาคารสูงแต่อย่างใด ตัวอย่างนี้แสดงถึงความ สำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ใบอนุญาตก่อสร้างให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
         
ต่อภัสสร์ : แล้วกฎหมายควบคุมการก่อ สร้างอาคารในประเทศไทยล่ะครับ เป็นอย่างไรบ้าง
          
ต่อตระกูล : อาจจะเป็นเรื่องไม่คาดคิด สำหรับหลายคน แต่ประเทศไทยมีความก้าวหน้า และมีการควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารอย่างเข้มงวดตามหลักวิชาการนะ เช่น ข้อกำหนดว่า ด้วยการป้องกันเพลิงไหม้ในอาคารสูงที่ประเทศไทย ทำได้ดีมาก วิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบแทบ จะไม่มีใครกล้าละเมิดหรือหลีกเลี่ยงข้อกำหนดที่มีความสำคัญถึงชีวิตนี้เลย นี่จึงเป็นเหตุที่อาคารสูงในประเทศไทยไม่เคยมีการเกิดเพลิงไหม้รุนแรงทั้งอาคาร จนมีผู้เสียชีวิตมากมายอย่างที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอนเลย ตัวอย่างที่ดีอื่นๆ ก็มีอีกมาก จะขอเก็บไว้เล่าบนเวทีเสวนาแล้วกันนะ
          
ต่อภัสสร์ : กลับมาที่หัวข้องานเสวนาครั้งนี้ พ่อจะบอกว่าใบอนุญาตก่อสร้างของไทยนี่ดีแล้ว จนไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วหรือครับ
          
ต่อตระกูล : ไม่ใช่ ที่บอกว่าดีนั้น คือเนื้อหาของกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ดี แต่กระบวนการได้มาซึ่งใบอนุญาตนี้เป็นประเด็นที่สองที่จะขอพูดถึง ซึ่งใบอนุญาตที่เกี่ยวกับ งานก่อสร้างนี้ มีหลายใบหลายประเภทมาก ตั้งแต่การขออนุญาตก่อสร้างจนถึงขออนุญาตใช้อาคาร ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการก่อสร้างว่า มักเกี่ยวพันกับการเรียกรับและขอจ่ายสินบน
          
เหตุผลหนึ่งคือ เงินที่มาลงทุนในโครงการ ก่อสร้างนั้นมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้สถาบันการเงิน หรือค่าเสียโอกาสในการนำไปฝากหรือลงทุนอย่างอื่น ดังนั้นยิ่งได้ใบอนุญาตมาเร็วแค่ไหน ต้นทุนก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น จึงคุ้มค่า ที่จะจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ใบอนุญาตมาเร็วๆ และที่ทำเช่นนี้ได้ก็เพราะเจ้าหน้าที่ได้รับอำนาจตามกฎหมายให้ใช้ดุลยพินิจได้อย่างมาก และขาดการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจนี้อย่างเป็นระบบ
          
นอกจากนี้ กฎหมายควบคุมการก่อสร้าง อาคารที่บอกว่า ดีนั้น มีรายละเอียดมาก ทำให้โอกาสที่อาคารใดๆ จะสร้างถูกต้องตามแบบที่ได้ รับอนุมัติมาแล้วแป๊ะๆ เลย มีน้อย เจ้าหน้าที่มาตรวจพบทางเดินส่วนหนึ่งแคบไป 10 มิลลิเมตร ก็มีสิทธิไม่ให้ผ่านได้ สุดท้ายเจ้าของโครงการก็มักจะยอมจ่ายสินบนเพื่อให้ตรวจผ่านๆ ไปได้
          
ถ้าเจ้าของโครงการทำผิดพลาดเล็กน้อย แบบนี้โดยบริสุทธิ์ใจ ก็ยังไม่น่ากลัวเท่านักธุรกิจ ขี้โกงใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานและตั้งใจสร้างจริงไม่ตรงตามแบบเพื่อลดต้นทุน โดยหวังว่าตอนตรวจอาคารจะจ่ายสินบนให้ตรวจผ่านๆ ไปได้ แบบนี้จะเป็นอันตรายอย่างมากเลยทีเดียว
          
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะยอมจ่ายเพื่อให้ได้ใบอนุญาต เร็วๆ ยอมจ่ายเพื่อให้ตรวจผ่านๆ ไปได้ หรือตั้งใจ สร้างผิดแบบแล้วค่อยไปจ่ายเอา ก็มีต้นทุนทั้งนั้น รุนแรงมากน้อยต่างกันไป ซึ่งแน่นอนว่าจะดีกว่า ทั้งต่อการทำธุรกิจและความปลอดภัยของสังคมเป็นอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการจ่ายสินบน ต่อภัสสร์ : แล้วทางออกของเรื่องนี้คือ อะไร จะยกเลิกการขอใบอนุญาตไปเลยดีไหมครับ
          
ต่อตระกูล : ไม่ได้หรอก อย่างที่บอกว่า การควบคุมการก่อสร้างอาคารนั้นมีความสำคัญและจำเป็นมาก และนี่คือประเด็นที่สามที่พ่อจะพูดถึงในงานเสวนานี้ นั่นคือ ทางออกคือการปรับปรุงเนื้อหา และ การเปิดเผยข้อมูลให้สังคมมาช่วยดูแล
          
การปรับปรุงเนื้อหา คือการสังคายนา คำสั่งหรือกฎหมายเก่าๆ ที่ล้าสมัยแล้วออก ไปให้หมด เช่น จอมพล ป.พิบูลสงครามเคยออกคำสั่งให้หลังคาอาคารราชการจะต้องเป็น สีเขียวทั้งหมด เชื่อหรือไม่ว่าคำสั่งนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันแต่ไม่มีการปฏิบัติตาม แต่หากวันไหนผู้มีอำนาจอยากจะกลั่นแกล้งใคร ก็เอาคำสั่งเก่าๆ แบบนี้มาเล่นงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คำสั่งแบบนี้ต้องยกเลิกให้หมด
          
ส่วนการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สังคมมาช่วยกันดูแลนั้น รัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ที่ประกาศบังคับใช้ไปเป็นปีแล้วอย่างเต็มที่ หน่วยงานราชการทุกหน่วยต้องเปิดเผยกระบวนการขอใบอนุญาต ระยะเวลาพิจารณา เอกสารที่ต้องใช้ ค่าธรรมเนียม และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้เตรียมตัวและนำมาเทียบกับการรับบริการจริงว่าตรงตามนั้นหรือไม่ หากไม่ตรงก็ต้องร้องเรียนผ่านช่องทางที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาอำนวยความสะดวก ซึ่งเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริต กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ และจะรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะในวันเสวนานี้ด้วย

ดังนั้นวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย.นี้ ใครสนใจมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ http://bit.ly/2tcrhTN แล้วพบกันนะครับ