ประเด็นร้อน
แฉ 3 นายพล'ฟาร์มโชคชัย'คุมตั๋วตำรวจ
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 16,2017
- - ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่ 16/06/60 - -
การออกมาแฉของ "วิทยา แก้วภราดัย" เรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดาหน้าออกมาปกป้อง ทั้งที่ความจริงการซื้อขายตำแหน่งมีการพูดกันมาตลอด แม้กระทั่งบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างฯ ชี้ชัดมีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งกันถึง 50 ล้านบาท วงในชี้ยุครัฐบาล คสช.มีการซื้อขายตำแหน่งหนักกว่ายุคทักษิณ แถมยัง "ปิดหลุม" ที่เคยให้อำนาจบิ๊กตำรวจในภาคต่างๆ จัดสรรกันได้บ้าง แต่วันนี้กลับปรากฏภาพ "3 นายพลตำรวจ" คุมบัญชีเบ็ดเสร็จก่อนเสนอพี่ใหญ่แค่รับรู้!?
การออกมาแฉเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจในระดับผู้กำกับการสูงถึง 5-7 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่ภาค 8 ของ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตสมาชิกสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการสีกากีครั้งใหญ่
แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการซื้อขายเก้าอี้ตำรวจ และให้นำหลักฐานมายืนยันก็ตาม แต่หาใช่สังคมจะเชื่อหรือคล้อยตามในสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวทั้งหมด ตรงกันข้ามกลับเห็นว่า พล.อ.ประวิตร น่าจะออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยถ้อยคำเสมือนสั่งการให้มีการตรวจสอบเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตามที่นายวิทยา แก้วภราดัย ออกมาพูด น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด
การออกมาท้าทายให้นำหลักฐานการซื้อขายตำแหน่งมายืนยันนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันในวงการตำรวจว่า "ไม่มีตำรวจนายใดจะกล้านำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าตัวเองใช้เงินในการซื้อขายตำแหน่ง"
เพราะทุกคนรู้ดีว่า การซื้อตำแหน่งก็เหมือนการ "ซื้อหวย" โชคดีก็ถูกตรงๆ หรือบางครั้งอาจไม่ตรงแต่ก็ยังได้สมประโยชน์ ส่วนพวกโชคไม่ดีไม่ถูกอะไรเลย แต่จ่ายเงินไปแล้ว ก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องได้เพราะทั้งคนซื้อและคนรับซื้อจะต้อง มีความผิดทั้งคู่
ที่สำคัญการออกมาเขย่าวงการสีกากีรอบที่ 2 ของนายวิทยา ในระยะห่างกันเพียงไม่กี่วัน ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้สังคมรู้ว่าในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมีเม็ดเงินสะพัดไปทุกๆ พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นครบาลมีการซื้อขายแพงกว่าอีก 2 เท่าของพื้นที่ในภาค 8
อย่างไรก็ดี เรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่รับรู้กันในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าถ้าปีไหนคนซื้อ คนขายต่าง สมประโยชน์ก็จะไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ออกมาให้สังคมได้เห็นกัน ซึ่งความจริงเรื่องนี้เคยมีการพูดและบันทึกในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจไว้เช่นกัน
"วันนี้ข้าราชการไทยทุกส่วน ข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุดคือตำรวจ ตอนนี้ครูจะเลื่อนตำแหน่งยังเสียเงินน้อยกว่าตำรวจ มีที่ไหนล่ะ 50 ล้านบาทยังจ่ายกัน มีครูที่ไหนจะเลื่อนตำแหน่งจ่าย 50 ล้านบาท ในเมื่อคนซื้อมาด้วย 50 ล้านบาทจะเอาอะไรไปขาย ก็ขายความยุติธรรม นี่ละคือปัญหา"
และในการประชุมครั้งนั้น มีระดับ พล.ต.ท.ที่ว่ากันว่าใกล้ชิดกับ "อดีตบิ๊กตำรวจ" กล่าวยอมรับว่า "เราตำหนิตำรวจว่าอย่างนั้นอย่างนี้ในวงการตำรวจเขาตำหนิกันเองแรงยิ่งกว่าที่นี่อีกนะครับ แต่บางทีผมก็ออกมาพูดมากไม่ได้ เป็นแค่เพียงว่าทุกเรื่องที่ท่านตั้งฐานมานี้จริงทั้งนั้น แล้วอาจจะบวกเปอร์เซ็นต์เข้าไปได้แรงๆ ฉะนั้นตำรวจเองก็ต้องการที่จะให้เข้าไปช่วยปฏิรูป เพื่ออะไรต่ออะไร เขาก็อยากจะมีศักดิ์ศรี."
ว่ากันว่าในการแต่งตั้งตำรวจในยุครัฐบาล คสช.วงการตำรวจลือกันว่าเป็นยุคที่ "จัดหนัก" กว่าในยุคที่ผ่านมา เพราะในอดีตก่อนจะเปลี่ยนเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ก็ไม่ได้มีการจ่ายหนักขอแค่ได้คนของตัวเองบ้างเท่านั้น แต่พอเข้าสู่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นมา ปรากฏว่านักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในการแต่งตั้งสูงมาก และเป็นพวกที่เอาทั้งเงิน ทั้งโควตา ทั้งส่ง "ตั๋ว" ในการแต่งตั้งโยกย้ายพวกของตัวเองในตำแหน่งสำคัญๆ
"แต่ยุคนั้น เขายังให้อำนาจผู้ใหญ่ใน สตช.เป็นผู้พิจารณา ในส่วนภูมิภาค ผู้บัญชาการ ผู้การ ก็มีส่วนที่จะพิจารณาในพื้นที่ของตัวเองได้ด้วย แต่ยุคนี้ทำไมอำนาจตำรวจถูกดึงมาอยู่กับทีมงานบิ๊ก ซึ่ง ผบ.ตร.ก็ยังมีอำนาจอยู่บ้างแต่ไม่เท่าเมื่อก่อน"
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายว่า ในอดีตที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายได้มีการให้อำนาจตำรวจภาคต่างๆ ดำเนินการได้ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายปกติหรือประจำปี พร้อมวิธีการแต่งตั้งโยกย้าย ที่เรียกกันในวงการตำรวจว่า "เปิดหลุม" เพื่อให้เกิดอัตราว่างและตำรวจที่ต้องการตำแหน่งโดยเฉพาะตำรวจรุ่นหนุ่ม อนาคตยังอีกไกลก็จะใช้วิธีการเปิดหลุมเพื่อช่วยให้ตัวเองได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ต้องการ
"การเปิดหลุม เป็นที่นิยมและทุกฝ่ายได้สมประโยชน์ เช่นรองผู้กำกับ อยาก เป็นผู้กำกับและตัวเองก็มีอายุราชการอีกยาวไกล เขาก็จะไปดูผู้กำกับที่เหลือเวลาอีก 3-4 ปี เสนอเงินก้อนแลกกับการให้เออร์ลี ซึ่งตำแหน่งผู้กำกับนี้จะอยู่ที่ 3-5 ล้านบาทเป็นค่าเออร์ลี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เมื่อผู้กำกับตกลง ที่เหลือเป็นเรื่องของรองผู้กำกับ จะไป ดำเนินการ ซึ่งตรงนี้จะมีการจัดสรรให้ได้สมประโยชน์ทุกฝ่าย คือ ผู้บัญชาการภาค ผู้การจังหวัด ผู้กำกับ และรองผู้กำกับทุกคนแฮบปี้หมด"
แต่วันนี้วิธีการ "เปิดหลุม" ถูกปิดตายไปแล้ว !ว่ากันว่าผู้มีอำนาจยุคนี้ดึงอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายมาไว้ในมือคนเพียงไม่กี่คน และถ้าตรงไหนมีอัตราว่าง ทั้งจากการเปิดหลุมค้างไว้ หรือวิ่งขึ้นตำแหน่งตามอัตรา ว่างปกติ ก็จะใช้วิธีการตั้งรักษาการไปนั่งทำงานไว้ก่อน เพราะกว่าบัญชีโยกย้ายที่ สตช.ส่งไปถึงผู้มีอำนาจจะถูกใจอนุมัติส่งกลับมา เป็นผลให้ปี 2559 การแต่งตั้งโยกย้ายใช้เวลานาน และการปรับแก้บัญชีโยกย้ายตรงนี้ทำให้ตำรวจบางนายที่มีการวิ่งเต้นจ่ายกันไปแล้วต้องอกหักตามๆ กัน
โดยก่อนหน้านี้ แม้ผู้ที่จ่ายเงินจะไม่ได้พื้นที่ที่ตัวเองต้องการ แต่ก็จะมีการจัดให้ในอัตราเดียวกัน เช่นผู้กำกับถ้าไม่ได้อยู่พื้นที่ A ในจังหวัดใหญ่ตามที่ต้องการ ก็จะตั้งเป็นผู้กำกับในฝ่ายอำนวยการหรืออยู่ สน.อื่นไปก่อน ซึ่งก็ถือว่าได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พันตำรวจเอก หรือ พันตำรวจเอกพิเศษ เหมือนกัน
"เล่าลือกันว่า วันนี้ถ้าอยากได้ตำแหน่งต้องเข้าให้ถึงฟาร์มโชคชัยที่เป็นศูนย์กลางอำนาจที่มี พล.ต.อ. นอกราชการ 1 คน พล.ต.ท. นอกราชการ 1 คน และ พล.ต.ต. คนดัง 1 คน เป็นคนคุมบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย แต่ก็ยังคงแบ่งสัดส่วนให้ผู้ใหญ่ใน สตช.ได้บ้าง เช่น ถ้ามี 20 ตำแหน่ง ผู้ใหญ่ สตช.จะได้ประมาณ 3-5 ที่เหลือกลุ่มนี้จัดหมด โดยมี 'พี่ใหญ่' แค่รับรู้"
แหล่งข่าวอธิบายว่าตำแหน่งตำรวจซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องจ่ายกันบางแห่ง ประกอบด้วย รองสารวัตร ขึ้นเป็นสารวัตร รองผู้กำกับขึ้นเป็นผู้กำกับ รองผู้การ ขึ้นเป็นผู้การ รองผู้บัญชาการขึ้นเป็นผู้บัญชาการ เป็นต้น ส่วนจะต้องจ่ายเท่าไรนั้นอยู่ที่พื้นที่ว่า เป็นแหล่งทำเลทองหรือไม่? ซึ่งในวงการตำรวจจะรู้ว่าถ้าเป็นโรงพักเกรด A มาเป็น ผู้กำกับ 15 ล้านบาท เกรด B ประมาณ 10 ล้านบาท เกรด C ประมาณ 5 ล้านบาท ที่เหลืออาจจะแค่ 1-2 ล้านบาท
"โรงพักไหนเกรดอะไร วัดกันที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีรายได้อื่นๆ เยอะไหม ทั้งจากหวย บ่อน สถานบันเทิง ของหนีภาษี คนต่างด้าว"
สำหรับตำรวจที่จะก้าวขึ้นเป็น ผู้การจังหวัด ว่ากันว่าขั้นต่ำที่มีการจ่ายลือสะพัด อยู่ที่ 15 ล้านบาท และสามารถขยับสูงไปถึง 50 ล้านบาท ในจังหวัดทำเลทอง เพราะตำแหน่งผู้การจังหวัด จะมีเพียงจังหวัดละ 1 คน คุมทั้งจังหวัด
"วิธีคิดง่ายๆ แต่ละจังหวัด จะมีสถานีตำรวจหรือโรงพักในความรับผิดชอบเท่าไร ยิ่งมีมาก และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจด้วยแล้วยิ่งมีคนพากันวิ่งอยากไปลงที่ จังหวัดนั้น ถ้าเปิดหลุมได้ ก็ต้องมีการสู้ราคากันเต็มที่ บางที่จังหวัดใหญ่ๆ ต้องมีทั้งเส้นเป็นเด็กใคร มีตั๋ว และมีเงิน ทั้ง 3 อย่าง"
แหล่งข่าวบอกว่า ใช่ว่าทุกพื้นที่จะต้องมีการจ่ายเงินซื้อขายตำแหน่ง เพราะถ้าตำรวจนายไหนเข้าถูกทางและมี 'นาย' ที่มีอำนาจจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน เพราะนายจะส่งไปอยู่ในพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสมและสร้าง ผลงานได้ด้วย จากนั้นตำรวจนายนั้นเพียงแค่ดูแล 'นาย' ให้ดี ก็ทำให้ สตช.ออกมาการันตีได้แล้วว่าวงการตำรวจไม่ได้มีการจ่ายเงินซื้อตำแหน่ง เพราะตำรวจนายนั้นไม่ได้จ่ายจริงๆ !
ส่วน "ตั๋ว" หรือจดหมายฝากตำแหน่งที่ดีที่สุดและไม่เคยได้รับการ ปฏิเสธไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งอะไร ก็คือ "ตั๋วช้าง" ที่รู้กันในวงการตำรวจเท่านั้น
ดังนั้น การออกมาแฉของนายวิทยา แก้วภราดัย ครั้งนี้นอกจากจะทำให้บิ๊ก คสช. และ สตช.สั่นสะเทือนแล้ว ยังทำให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ความสนใจ และอาจตั้งคณะทำงานของ ป.ป.ช.เข้ามาสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องการซื้อขาย ตำแหน่งตำรวจ ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับรู้ความจริงว่า วงการตำรวจมีการ ซื้อขายตำแหน่งจริงหรือไม่? อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็บอกชัดเจนแล้วว่า การซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งตำรวจ ได้รับเรื่องร้องเรียนมาบ่อย และ ครั้งนี้ที่นายวิทยา ออกมาแฉต้องจับให้มั่นคั้นให้ตายกันเสียทีว่าใช่หรือไม่?
จากนี้ไปคงเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร จะต้องทำความจริงให้กระจ่าง และหากพบว่ามีใครแอบอ้าง 'บิ๊ก คสช.' ไปหาผลประโยชน์และทำให้วงการสีกากีมัวหมองก็ต้องจัดการให้เด็ดขาดต่อไป!
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : manager.co.th/SpecialScoop/ViewNews.aspx
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : manager.co.th/SpecialScoop/ViewNews.aspx