ประเด็นร้อน

เจาะปมธรรมาภิบาล...

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2017

คอลัมน์ ล่าความจริงพิกัดข่าว: เจาะปมธรรมาภิบาล...อาชญากรรมในรั้วมหาวิทยาลัย!

- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12/06/60 - -
          
ในยุคที่ในบ้านเมืองกำลังเร่งรัดการปฏิรูปในทุกมิติ คำว่า "ธรรมาภิบาล" ถูกพูดถึงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น แม้แต่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังเอ่ยถึงคำนี้ถึง 3 ครั้ง เพราะการมีธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานของการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน
          
เหตุนี้เอง สถาบันพระปกเกล้าจึงระดมนักวิชาการจากหลากหลายสาขา ร่วมกันจัดทำ "โครงการวิจัยหลักธรรมาภิบาล..จากแนวคิดสู่อนาคตการปฏิรูปสังคมไทย" เพื่อศึกษาข้อมูลที่เป็นสากล และสามารถปรับใช้กับสังคมไทยได้
          
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า บอกว่า แม้ทุกฝ่ายจะให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลเพิ่มมากขึ้น แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปกลับน่าตกใจ เพราะยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยอมรับให้มีการทุจริตคอร์รัปชันได้ หากทำเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง 
          
ขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนจากโลกาภิวัตน์ สู่ท้องถิ่นภิวัตน์ ต้องการการเปลี่ยนแปลงเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม และมีชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมแบบใหม่ ฉะนั้นธรรมาภิบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
          
ส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย มีการศึกษาถึงปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะถือว่าเป็นต้นธารของการปลูกฝังค่านิยมให้กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ แต่ผลการศึกษาของ รศ.ดร.พัชรี สิโรรส นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับพบว่าเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ การบริหารงานบุคคลค่อนข้างมีปัญหา ขาดความสำนึกรับผิดชอบ และมีระบบอุปถัมภ์ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย
          
ซ้ำร้ายเมื่อมีคณาจารย์ร้องเรียนให้ตรวจสอบทุจริต หรือการบริหารงานที่ไร้ธรรมาภิบาล กลับไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้นอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนก็ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญาจ้าง วงจรเหล่านี้ถือเป็นเรื่องอันตราย
          
"เราพบว่าเมื่ออาจารย์ต้องการร้องเรียน กลับไม่มีช่องทาง พอร้องเรียนในมหาวิทยาลัยก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสายการบังคับบัญชา เมื่อไปร้องเรียนข้างนอก ถ้าไปร้องเรียนที่ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ก็จะบอกว่าเรื่องนี้ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยในกำกับ"
          
เพราะฉะนั้นต้องให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการ เรื่องก็วนกลับมาที่เดิม" รศ.ดร.พัชรี ระบุ และว่าถึงเวลาแล้วที่สถาบันอุดมศึกษาต้องถ่วงดุลระหว่างความเป็นอิสระกับสำนึกรับผิดชอบ ซึ่งก็คือธรรมาภิบาลนั่นเอง
          
หากเจาะลึกลงไปที่ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไทย แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 39/2559 ออกมาจัดระเบียบแล้ว แต่ผ่านมาเกือบ 1 ปี สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหารากเหง้ายังไม่ถูกแก้
          
ศ.ดร.อัมพร ธำรงลักษณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ภาพรวมของปัญหาธรรมาภิบาลอุดมศึกษามีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.การแต่งตั้งโยกย้ายและการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากช่องว่างทางกฎหมาย 2.การจ้างบุคลากรไม่เป็นธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ และ 3.การควบคุมคุณภาพทางวิชาการและงานวิจัย มีการลอกงานวิจัย จึงมองว่าเรื่องนี้เปรียบเสมือนอาชกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย
          
จากสารพัดปัญหาที่พบ จึงไม่แปลกที่มีคดีฟ้องร้องบนศาลปกครองที่เกี่ยวกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 500 คดี ทำให้สังคมมึนงงว่านี่เป็นแหล่งรวมของปัญญาชน หรือแหล่งหมักหมมปัญหาธรรมาภิบาลกันแน่