ประเด็นร้อน
บอร์ด ขสมก.สั่งสอบทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 09,2017
สกู๊ปหน้า1 : บอร์ด ขสมก.สั่งสอบทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์
- - สำนักข่าว ไทยรัฐ วันที่ 09/06/60 - -
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมของบอร์ด ขสมก. เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.แถลงข่าวว่าบอร์ด ขสมก.เห็นชอบผลประมูลโครงการเช่าระบบบัตรโดยสาร อีทิคเก็ต ติดตั้งบนรถโดยสาร 2,600 คัน สัมปทาน 5 ปี
ฟังท่านรักษาการแถลงข่าวแล้ว สกู๊ปหน้า 1 รู้สึกเหนื่อยแทนสหภาพแรงงานฯ ขสมก.ที่เคยแถลงข่าวท้วงติงไปแล้วว่า ขสมก.ยังไม่มีความพร้อม
ไม่ว่า...จะเป็นเรื่องระบบหยอดเหรียญ ขสมก.เองเคยนำมาใช้แล้วกับรถเมล์สาย 162 พบว่ามีปัญหามากมาย ผู้โดยสารต้องเข้าคิวรอเงินทอนส่งผลให้รถติดกันยาวเหยียด จนต้องถูกยกเลิกไปแต่ผู้บริหารฯไม่เคยรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน ขสมก.
เรื่องราวของ "รถเมล์" คนเมืองกรุง มีหลายเรื่องชวนให้ติดตามทั้งที่วันนี้ ขสมก.ยังมีคดีความค้างคาศาลอีกหลายคดีโดยเฉพาะคดีที่ต้องพิสูจน์ว่า...การยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเอ็นจีวี 489 คัน กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นั้นเป็นไปโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย?
ขสมก.กลับลุกลี้ลุกลนจัดให้มีการเปิดประมูลใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร? แต่แปลกตรงที่ ทีโออาร์ใหม่มีผู้สนใจซื้อซองไปแล้วกว่า 12 รายนั้น อาจจะเสี่ยงผิดหลักการของ ป.ป.ช.ด้วยมีการกำหนดราคากลางค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 มากกว่า 600 ล้านบาท
เรื่องใหญ่แบบนี้มีหรือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ประธานบอร์ด ขสมก.จะปล่อยผ่าน...จึงมีการตั้งอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่าฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช.หรือไม่? รวมทั้งตรวจสอบการประกาศรายชื่อบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ทิ้งงานเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่?
สันติ ปิยะทัต ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทเบสท์รินฯ บอกว่าการกำหนดราคากลางในการประมูลรถเมล์ครั้งใหม่ของ ขสมก.ซึ่งสามารถจำแนกแยกได้สามส่วน คือ
1)ราคากลางในการซื้อรถเมล์ 489 คัน
2)ราคากลางในการจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์ปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 และ
3)ราคากลางในการซ่อมแซม บำรุงรักษารถเมล์ปีที่ 6 ถึงปีที่ 10
โดยหลักกฎหมายแล้วการกำหนดราคากลางดังกล่าว ขสมก.จะต้องยึดถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ประกอบกับคู่มือแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลางและการคำนวณราคากลางที่ ป.ป.ช. จัดทำให้กับหน่วยงานของรัฐ
เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในคู่มือฯ ข้อ 2.3 ว่าราคากลางหมายความถึง ราคามาตรฐานหรือราคาที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ราคาที่ได้มาจากการอ้างอิง สืบราคาจากท้องตลาด ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ
แต่จะยึดถือราคาใดให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ
สันติ ทนายเพื่อประชาชน ย้ำว่า สำหรับการเปิดประมูลใหม่ของ ขสมก.ในครั้งนี้ก็ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าการกำหนดราคากลางต้องยึดถือตามราคาที่เคยซื้อและจ้างบริษัทเบสท์รินฯ เพราะเป็นประโยชน์กับรัฐหรือสาธารณชนมากที่สุด ซึ่ง ขสมก.ก็ทราบดีถึงข้อกฎหมายดังกล่าว
เพราะตามหนังสือชี้แจงข้อเสนอแนะและวิจารณ์ของสาธารณชน โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คันของ ขสมก. ในข้อ 1 ขสมก.ได้ใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวตอบข้อเสนอแนะของบริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) ว่าเหตุที่ไม่อาจกำหนดราคากลางในการซื้อตัวรถตามจำนวนที่บริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) เสนอแนะซึ่งสูงกว่าราคาที่บริษัทเบสท์รินฯ ชนะประมูลเพราะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่ให้ยึดถือตามราคาที่เคยซื้อหรือเคยจ้างครั้งหลังสุด ซึ่งย่อมหมายถึงราคาที่เบสท์รินชนะประมูลในครั้งที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาถึงการกำหนดราคากลางสำหรับการเปิดประมูลรถเมล์ครั้งใหม่นี้ จะสามารถแยกราคากลางที่ ขสมก.กำหนดได้เป็นสามส่วนตามที่เรียนข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ราคากลางส่วนแรกสำหรับการซื้อรถเมล์จำนวน 489 คัน และราคากลางส่วนที่ 2 สำหรับการจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 นั้น
ขสมก. ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. กำหนดโดยยึดตามราคาที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ชนะประมูลในครั้งที่ผ่านมา
ซึ่งบริษัทเบสท์รินฯ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้รัฐและสาธารณชนได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ราคากลางส่วนที่ 3 คือค่าจ้าง ซ่อมแซมรักษาในปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ขสมก.กลับกำหนดราคากลางสูงกว่าราคาที่บริษัทเบสท์รินฯ ชนะประมูลเมื่อครั้งที่ผ่านมาเป็นจำนวนถึง 631,999,998.50 บาท
ตรงนี้...ทำให้รัฐและสาธารณชนเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะจะทำให้ ขสมก.เสียค่าจ้างซ่อมแซมบำรุงสูงกว่าที่ควรจะเป็นจำนวนมหาศาล
ดังนั้น การกำหนดราคากลางส่วนที่ 3 ย่อมเกิดเป็นคำถามแก่สาธารณชนว่า เหตุใดการกำหนดราคากลางส่วนที่ 3 ขสมก. จึงไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. กำหนดทั้งที่การกำหนดราคากลางส่วนที่1และส่วนที่ 2 ซึ่งดำเนินการในคราวเดียวกัน ขสมก.ก็ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนด
จากประเด็นนี้ความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. ได้ประชุมหารือและมีมติให้ ขสมก. ทบทวนการกระทำดังกล่าวอยู่และเกี่ยวกับการกระทำครั้งนี้ของ ขสมก.ผู้บริหาร ตลอดจนคณะกรรมการกำหนดราคากลาง รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปิดประมูลรถเมล์ครั้งใหม่
อาจจะเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและปฏิบัติผิดวินัยข้าราชการซึ่งมีโทษตามกำหนด
หากยังเดินหน้าเปิดประมูลครั้งใหม่ต่อไปย่อมเป็นการเปิดประมูลของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจทำให้รัฐได้รับความเสียหายเจ้าหน้าที่ของ ขสมก.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายเป็นการส่วนตัว หากมีหลักฐานที่ชี้ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ นอกจากอาจจะมีความผิดทางวินัยแล้วอาจเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ได้กำหนดไว้ในมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ตามที่กล่าวข้างต้น
อดหนาวๆร้อนๆไม่ได้พลิกดูตัวบทกฎหมายแล้วเสียวแทนบอร์ด ขสมก.ขึ้นมาจริงๆ เพราะหากเรื่องสอดไส้ทีโออาร์มีผู้หวังดีไปร้องเรียน ป.ป.ช. คงต้องย้อนกลับไปถึงเหตุผลของการยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเอ็นจีวี 489 คันด้วยว่า...เรื่องนี้บอร์ด ขสมก.มีมติเห็นชอบด้วยหรือเปล่า?
หรือ...ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. แต่เพียงคนเดียว?
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.thairath.co.th/content/966342