บทความ

เศรษฐกิจฝืดเคือง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 07,2017

ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
วันที่ 7/6/60
 
เศรษฐกิจฝืดเคือง เพราะรัฐบาลปราบคอร์รัปชัน จริงหรือ

หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า “นายกฯ ชี้ เศรษฐกิจฝืดเคือง เหตุเพราะรัฐบาลปราบคอร์รัปชัน” ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าคอร์รัปชันมีประโยชน์ เพราะทำให้คนมีเงิน ค้าขายคล่องตัว ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไหลเวียนและเฟื่องฟู ใช่หรือไม่? 

ที่ผ่านมาสังคมบ้านเราเข้าลักษณะ “หลับตา - ใต้โต๊ะ - หล่อลื่น” คือ บ่อยครั้งที่คนทำผิดแต่เจ้าหน้าที่กลับปล่อยปละละเลยไม่จับกุมไม่ลงโทษ  มีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย มีการจ่ายสินบนแลกกับการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคนเพียงไม่กี่คนที่ตักตวงทรัพยากรของส่วนรวมไปอย่างไม่เป็นธรรม นักธุรกิจบางรายค้าขายผิดกฎหมายทำให้เงินภาษีที่รัฐควรได้หายไปจากระบบ ขณะที่ความร่ำรวยตกไปอยู่ในมือของคนละโมบเพียงหยิบมือ ประเทศกลับพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งเป็นปัญหาวิกฤติที่ยังแก้ไม่ตกในปัจจุบัน

ดังนั้นการปราบคอร์รัปชันอย่างเข้มงวดจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือมันทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนจากธุรกิจสีเทาจำนวนมหาศาลที่เคยสะพัดอยู่ในตลาดกลับลดน้อยลง สภาพเช่นนี้อาจส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจเกิดการชะงักงันได้ แต่ปัญหาเช่นนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นและเกี่ยวพันกับคนเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพื้นที่เท่านั้น ซึ่งบทเรียนจากประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงทั่วโลกพบว่า การที่คอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับคนและเงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแม้จะเกิดปัญหาในท้องถิ่นแต่ผลกระทบของมันสามารถขยายเป็นวงกว้างไปเป็นปัญหาระดับประเทศได้ ดังนั้นในระยะยาวแล้วการปราบปรามคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องจริงจังจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโลดแล่นและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึง

เรายังพบอีกว่าการปราบปรามคอร์รัปชันที่เข้มงวด จะทำให้บางคนขาดผลประโยชน์จูงใจหรือกลัวที่จะถูกจับผิดลงโทษ จนทำให้พวกเขาเลือกที่จะหยุดหรือชะลอการทำใช้จ่ายงบประมาณ ถ่วงเวลาการจัดซื้อจัดจ้างและการอนุญาตอนุมัติตามอำนาจหน้าที่ของตนไปก่อน พฤติกรรมเช่นนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความพยายามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเสียหายผิดพลาดไปด้วย 

กรณีตัวอย่างที่คงพอจำกันได้ ในปี พ.ศ. 2558 เมื่อรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ผลปรากฎว่าในปีนั้นหน่วยงานต่างๆ มีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โครงการขนาดใหญ่อย่างการขยายสุวรรณภูมิ เฟสสอง ก็เลื่อนออกไป หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนมากที่กลัวถูกตรวจสอบหรือมีความผิดต่างชะลอการใช้จ่ายไว้ บางคนที่เห็นว่าหากใช้งบประมาณช่วงนี้นอกจากเสี่ยงแล้วตนยังไม่ได้ประโยชน์อะไร สู้รอโอกาสไว้ดีกว่า หรือเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการล้มการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ หลังจากซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาพิจารณาแล้วเห็นว่าทีโออาร์ สำหรับประมูลโครงการขาดความเหมาะสม 

ยังมีข้อมูลของกระทรวงการคลังที่แถลงออกมาระบุว่า ด้วยมาตรการป้องกันคอร์รัปชันใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ถูกลงประมาณร้อยละยี่สิบเมื่อเทียบกับอดีตหรืองบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งแปลว่าเงินส่วนเกินที่รัฐเคยสูญเสียไปให้ใครบางคนก็ลดลงด้วย 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยวันนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดีหรือร้ายอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แนวโน้มระยะสั้นระยะยาวอย่างไร มีปัญหาหรือปัจจัยสนับสนุนอย่างไร เรื่องเหล่านี้ขออนุญาตให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้เป็นผู้ให้ความเห็นครับ