ประเด็นร้อน

คณะกรรมการบริษัท

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 01,2017

 คอลัมน์ : หุ้นส่วนประเทศไทย


- -สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 มิถุนายน 2560 - -

ดร.วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัญหาที่สาม คือ คุณภาพขององค์กรภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามปรับปรุงการบริหารงานและการบริการในหลายด้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพและประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐหลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ยังรุนแรง ดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส ปี 2559 ของไทยอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ และมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ จนเป็น "ต้นทุนแฝง" ที่ไม่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
          
อีกปัญหาสำคัญ คือ กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่า ปัจจุบันไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ และมีใบอนุญาตมากกว่า 3,000 ประเภท ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน และจำเป็นต้องได้รับการทบทวนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากเหล่านี้ นอกจากจะเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่นแล้ว ยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม
          
ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ องค์กร ประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP และส่งผลต่อความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) รวมทั้งความน่าลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม หลายประเทศที่ปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในปี 2551
          
เกาหลีใต้มีอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 23 ต่ำกว่าไทยที่อันดับ 13 ขณะที่ปีที่แล้วอันดับของไทยตกไปอยู่ที่ 46 ขณะที่เกาหลีใต้อยู่อันดับ 5 สาเหตุสำคัญคงเพราะเกาหลีใต้ปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง
          
คำถามสำคัญต่อมา คือ ภาคธุรกิจควรมีบทบาทอย่างไรในการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและคุณภาพของสังคมไทย ผมคิดว่าภาคธุรกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการบริษัทเป็น มันสมองสำคัญในการคิดพิจารณาวางแผนสั่งการ และกำกับการทำงานของธุรกิจ สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างน้อย 3 มิติ คือ
          
มิติที่ 1 ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าตนมีบทบาทของการเป็นพลเมืองที่ดี หรือ "Good Corporate Citizen" โดยสามารถดำเนินการได้อย่างน้อย 2 ด้าน ด้านที่หนึ่ง ธุรกิจต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับสังคม เช่น การร่วมมือกันแก้ไขปัญหา "คอร์รัปชั่น" ผ่าน "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น" ด้านที่สอง คือ การมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ตนเองมีความชำนาญ หรือมีบทบาทเกี่ยวข้อง ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นภาคธุรกิจเข้าไปร่วมในหลายโครงการพัฒนาสังคมโครงการประชารัฐ แต่อาจจะไม่พอ ไม่เท่าทันกับปัญหาของสังคมไทยที่ไหลลงเร็วและการเปลี่ยนแปลงที่
          
เกิดเร็วขึ้น ผมขอสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทมองกว้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ ของตนกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม มองยาวไปในอนาคตถึงผลประโยชน์หรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและ สิ่งแวดล้อม ถ้าเราทำแต่เพียงแบบเดิมๆ หรือนิ่งเฉยไม่ทำอะไร การเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
          
มิติที่ 2 คณะกรรมการบริษัทอาจจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม "ผลิตภาพ" เพราะคนไทยแต่ละคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น และสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น
          
- การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนของภาคธุรกิจไม่ควรคิดเพียงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของธุรกิจของตน
          
- การพัฒนาคนในภาคธุรกิจมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้คนไทยในวัยแรงงานอยู่ในภาคเอกชนมากกว่า ร้อยละ 90 การสร้างคนของภาคธุรกิจจึงเท่ากับการสร้างคนให้กับประเทศ  ในบริบทของโลกยุคใหม่ คนไทยต้องมีทักษะหลายอย่างที่ระบบการศึกษาดั้งเดิมอาจจะไม่ได้สอนไว้ ภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับศักยภาพของคนไทยให้มีทักษะที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต มีทักษะที่จะรับมือ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้
          
มิติที่ 3 คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ "สร้างภูมิคุ้มกัน" โดยด้านการเงินนั้น ธุรกิจต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงทางการเงินสมัยใหม่ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ต้องช่วยกันดูแลไม่ใช้เงินกู้ระยะสั้นสำหรับลงทุนในโครงการระยะยาว (Maturity Mismatch) ไม่ใช้เงินสกุลต่างกันระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินโดยไม่ปิดความเสี่ยง (Currency Mismatch) และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ชะล่าใจว่าจะมีใครมาคอยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้
          
นอกจากด้านการเงินแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก คือ การบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Risks หนึ่งในความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของโลกยุคใหม่ คือ การไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่
          
การยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องระมัดระวัง เราเห็นบทเรียนของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องล้มไปเพราะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัว (Agility) มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่
นอกจากนี้ การละเลยและไม่คำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม

และไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับของสังคม ก็เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงต่อ ชื่อเสียงที่สำคัญของธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมองรอบ มองกว้าง มองไกล และมองด้วยความเข้าใจ