บทความ
โครงการ''สังคายนากฎหมาย''
โดย ACT โพสเมื่อ May 31,2017
โครงการ "สังคายนากฎหมาย" (Regulatory Guillotine)
ประเทศไทยมีกม.ออกมามากหลายฉบับ รัฐจึงคิดที่จะปฏิรูปกม. ด้วยการเตรียมแผนการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการป้องกันการทุจริต ด้วยเพราะ ระบบกฎหมายไทยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันขึ้นในสังคม เนื่องจากระบบ สังคมและวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และสิ่งแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ในสังคมเปลี่ยนไปอย่างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งได้รับการแก้ไขไปได้ด้วยความเรียบร้อย ต่อมาปัญหาอื่นๆ ก็เกิดขึ้นตามมาอีกอย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแต่ในประเทศที่พัฒนาได้วางระบบต่างๆ ของสังคมไว้ดี มีความมั่นคง ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ความยืดหยุ่นในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมมีมากกว่า
หากจะพิจารณาปัญหา คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากกฎหมายของไทย เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายกับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย อาทิ กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่มีการใช้ดุลพินิจ ตีความกฎหมาย หรือบทบัญญัติของ กฎหมาย ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพและลักษณะของสังคม เนื่องจากสภาพของสังคมเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นปัญหา
(๑) ประเทศไทยมีการตรากฎหมาย (Regulation) เป็นจำนวนมากและประชาชนถูกบังคับให้ต้อง รู้กฎหมาย ไม่สามารถปฏิเสธได้
(๒) กฎหมายหลายฉบับล้าสมัย ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของโลก
(๓) เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ช่องว่างของกฎหมายในการหาประโยชน์มิชอบบนความไม่รู้ข้อกฎหมาย ของประชาชน
มาฟังความคิดเห็นจากมุมมองของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้าคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ที่ได้แสดงความคิดเห็นลงในสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ดังนี้
การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform) เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงโครงสร้าง
โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐในการให้บริการประชาชนตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ และ พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายขฯ ที่ต้องการอำนวยความสะดวก ลดภาระให้กับประชาชน ลดปัจจัยเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชัน
โครงการ “สังคายนากฎหมาย” (Regulatory Guillotine) เป็นหนึ่งในความพยายามปฏิรูปกฎหมาย ด้วยการปรับปรุงระบบกฎหมายและยกเลิกกฎหมายบางส่วน จากที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณหนึ่งแสนฉบับในเวลานี้ ให้มีแต่กฎหมายที่ “ง่าย ชัดเจน ไม่เป็นภาระและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
การดำเนินงานจะมีการประเมินความเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชน นักธุรกิจและนักวิชาการอย่างเท่าเทียม ทั้งในมุมมองของกฎหมาย เศรษฐกิจและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นต้น และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะยืนอยู่บนหลักการ มิใช่ว่าใครชอบหรือใครได้ประโยชน์ ดังนั้นบรรดา “กฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งหรือประกาศ” ต่างๆ นั้นจะต้องถูกพิจารณาด้วยกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนว่า
1. ออกมาบังคับใช้โดยถูกต้อง มีกฎหมายรองรับและผู้ออกมีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นหรือไม่
2. ความจำเป็นในการออกกฎหมาย/มาตรการเช่นนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ในสภาพสังคมและเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจปัจจุบัน
3. หากความจำเป็นยังมีอยู่ กฎหมาย/มาตรการนั้นยังเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสมที่สุดหรือไม่ ที่ผ่านมาได้เกิดประโยชน์หรือมีการบังคับใช้อย่างได้ผลหรือไม่ เพียงใด
4. เปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชันหรือไม่
รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการอำนวยการระดับสูงที่มีอำนาจ (Authority) กำหนดนโยบายและสั่งการข้ามหน่วยงานได้ โดยทุกคนต้องมีความเข้าใจและมุ่งมั่น (Political Will) ที่จะให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนดในเฟสแรกของโครงการจะเป็น “การศึกษาเพื่อยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคด้านเศรษฐกิจและการทำมาค้าขายของประชาชนและนักลงทุนทุกระดับ” ซึ่ง สนง. กพร. เคยศึกษาพบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 200 ฉบับและเมื่อรวมกฎหมายทุกระดับและเทศบัญญัติที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วอาจมากถึง 3,000 – 5,000 ฉบับ จากนั้นจึงขยายผลไปดำเนินการสังคายนาเฟสต่อไปในประเด็นสำคัญอื่นๆ
เพื่อให้โครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วยกระบวนการที่เป็นสากล จึงมีการจ้างบริษัท Jacobs, Cordova & Associates ผู้นำกระบวนการ (Facilitator) มืออาชีพที่มีประสพการณ์ด้านการปฏิรูปกฎหมายในกว่า 30 ประเทศ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยตั้งเป้าว่าโครงการยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจการค้านี้ จะได้ข้อสรุปภายใน 12-14 เดือนหรือเดือนสิงหาคม 2560 เป็นอย่างช้า
การขับเคลื่อนโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายในรูปของ “คณะทำงานสังคายนากฎหมาย (Regulatory Guillotine)” ที่มี ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ (Enable Driven – E4)
เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐในการให้บริการประชาชนตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ และ พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ ที่ต้องการอำนวยความสะดวก ลดภาระให้กับประชาชน ลดปัจจัยเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชัน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
รวมทั้ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ได้วิเคราะห์ว่า
กฎหมายไทยมีอยู่จำนวนมาก จนทำได้เพียงประมาณจำนวน ว่ามีถึง 100,000 ++ ฉบับ หลายฉบับได้สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อ ประชาชนและอันดับความง่ายในการทำธุรกิจของประเทศ
เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่ตระหนักถึงปัญหานี้ จึง ปรับ “โละ” กฎหมาย ทั้งยกเลิก และปรับปรุง รวมกว่า 1 หมื่นฉบับ ผลลัพธ์และประโยชน์ที่ได้คือ อันดับความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ลดต้นทุนภาครัฐ และเพิ่มการลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ไทย ควร ปรับ ‘โละ’ และ ‘จำกัดอายุ’ กฎหมาย
สามารถติดตามการวิเคราะห์ พร้อมตัวอย่างกฎหมายไทยที่ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชน อีกทั้งตัวอย่างการปรับโละกฎหมายจากอีกหลายๆประเทศ ในรายการคิดยกกำลังสอง ตอน ได้เวลา…โละกฎหมายมีปัญหา โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ทางรายการคิดยกกำลังสอง ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559
ขอขอบคุณ
หนังสือแผนการปฏิรูป ของ คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
อ่านต่อเพิ่มเติมที่ :
library2.parliament.go.th/giventake/content_nrsa2558/d122158-22.pdf
library2.parliament.go.th/giventake/content_nrsa2558/d122158-22.pdf
รับชมได้ที่นี่ : tdri.or.th/multimedia/thinkx2-147/